สหรัฐฯกระอักอีก! “อินเดีย” จำกัดส่งออกน้ำตาล-ทำให้ยุโรป ยิ่งเจอวิกฤตราคาอาหารพุ่งสูง-ขาดแคลนหนัก
จากกรณีที่รัฐบาลอินเดีย ประกาศคำสั่งห้ามการส่งออกข้าวสาลี เมื่อวันศุกร์ (13 พ.ค.65) โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที เนื่องจากอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับสองของโลกพยายามที่จะควบคุมราคาข้าวสาลีภายในประเทศ โดยรัฐบาลอินเดียระบุว่า การขนส่งข้าวสาลีจะได้รับอนุญาตเฉพาะที่มีการออกหนังสือรับรองการชำระเงินโดยธนาคาร (letters of credit – L/C) แล้วเท่านั้น
ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บรรดาผู้ซื้อทั่วโลกได้แห่มาซื้อข้าวสาลีจากอินเดีย หลังจากที่การส่งออกข้าวสาลีจากภูมิภาคทะเลดำลดลงนับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครนในช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ราคาข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีในอินเดียพุ่งขึ้น 15-20% แล้ว ในขณะที่ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี โดยราคาข้าวสาลีที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกนั้น เป็นผลกระทบมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งทำให้เกิดความปั่นป่วนทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้อุปทานข้าวสาลีเกิดภาวะชะงักงันครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม ทางด้านของ รัสเซีย ก็ได้แถลงว่า ปีนี้ผลผลิตข้าวสาลีได้มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา กล่าวคือได้ผลผลิต รวมทั้งหมด 78 ล้านตัน รัสเซียผลิตอาหารกินเอง ในขณะที่อเมริกาต้องหาซื้อจากต่างประเทศกิน
ล่าสุด มีรายงานว่า รัฐบาลอินเดีย จะจำกัดการส่งออกน้ำตาล ที่ระดับ 10 ล้านตันในฤดูกาลนี้ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน มีตัวเลขคาดการณ์ว่า หลังจากที่ จำกัดการส่งออกน้ำตาล ที่ระดับ 10 ล้านตันในฤดูกาลนี้แล้ว จะทำให้อินเดียมีสต็อกน้ำตาลราว 6 ล้านตัน ณ วันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาล 2565/66 โดยจะเพียงพอสำหรับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลในไตรมาส 4/65 ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่ผลิตน้ำตาลมากที่สุดในโลก และส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล
ในขณะที่สื่อท้องถิ่นของอินเดียรายงานว่า ขณะนี้ อินเดียส่งออกน้ำตาลไปแล้วประมาณ 7.2 ล้านตัน และเมื่อฤดูฝนมาถึงคาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลงอยู่แล้ว และการส่งออกไม่น่าจะถึง 10 ล้านตันได้ง่ายๆ
โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ท่าทีล่าสุดของอินเดียสะท้อนมาตรการป้องกันตนเองเพื่อความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ โดยก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนพ.ค.อินเดียจำกัดการส่งออกข้าวสาลีเนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน ซึ่งทำให้ราคาในประเทศทะยานขึ้น
นอกจากอินเดียแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศในขณะนี้ ที่ได้ประกาศ “จำกัด” หรือ “ห้าม” การส่งออกอาหารหรือธัญพืชบางรายการ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาที่ทะยานสูงขึ้นภายในประเทศ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันการขาดแคลนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเผชิญวิกฤตอาหารในยุโรป อาจจะแย่ลงไปอีก เนื่องจากสหรัฐฯ ก็เป็นผู้นำเข้าน้ำตาลเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นผู้นำเข้าเพียง 5.4% แต่คาดว่า จะทำให้ราคาอาหารโลกจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน