กลัวที่ไหน!! จีนซ้อมรบ ข่มเมกาเสี้ยมเอเชีย เปิดแนวรบ ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’เยือนเกาหลีใต้

0

ปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ เยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการ เป็นทริปสำคัญของผู้นำสหรัฐในเอเชีย-แปซิฟิกที่กำลังเป็นที่สนใจทุกฝ่าย ท่ามกลางสงครามขัดแย้งยูเครนที่สหรัฐเป็นผู้สนับสนุนหลักยังดำเนินอยู่อย่างดุเดือด ในช่วงเวลาเดียวกัน จีนได้ทำการซ้อมรบทางทะเลต้อนรับการมาเยือนของปธน.โจ ไบเดนกลายๆเหมือนส่งสัญญาณว่า จีนพร้อมเผชิญในทุกสถานการณ์ทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ แต่นักวิเคราะห์ฝั่งจีนยังมองว่า สหรัฐแค่เริ่มเปิดสงครามเย็นด้านเศรษฐกิจกับจีนมากกว่าจะเปิดสงครามร้อนกับจีนเหมือนทำกับรัสเซียในยุโรป

วันที่ 21 พ.ค.2565 สำนักข่าวยอนฮัพ(Yonhap)ของเกาหลีใต้รายงานว่า ปธน.โจเซฟ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เดินทางถึงเกาหลีใต้ตามกำหนดการเยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่าง วันที่ 20-22 พ.ค.2565 ซึ่งเป็นการเยือนเกาหลีใต้ครั้งแรกนับตั้งแต่ผู้นำสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่งเมื่อ ม.ค.2564 

โดยผู้นำสหรัฐฯ มีกำหนดเยือนโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทซัมซุง พร้อมประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล ของเกาหลีใต้ และเข้าร่วมประชุมสุดยอดเกาหลีใต้-สหรัฐฯ ใน 21 พ.ค.65 เพื่อหารือประเด็นภัยคุกคามจากการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ การส่งเสริมความร่วมมือทางทหารและการขยายการป้องปรามภัยคุกคาม และการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยี 

แต่ปธน.ไบเดนต้องเจอกับเรื่องไม่คาดฝัน ตามรายงานของ Korea Times เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา  มีการประท้วงหลายครั้งใกล้กับโรงแรมบนภูเขานัม ซึ่งไบเดนพักอยู่ระหว่างการเยือนโซลของเขา ผู้ประท้วงประกอบด้วยกลุ่มผู้สนับสนุน 40 คนต้อนรับการมาเยือนของไบเดน และผู้ประท้วงประมาณ 60 คนจากสองกลุ่มที่คัดค้านการปรากฏตัวที่นี่ ผู้ประท้วงบางคนถือป้ายซึ่งเรียกไบเดนว่า “ผู้ทำลายสันติภาพของโลก”

Activists clap while holding candles and placards as they protest against US President Joe Biden’s visit to South Korea, in Seoul on May 20, 2022. (Photo by ANTHONY WALLACE / AFP)

สำนักงานบริหารความปลอดภัยทางทะเลในมณฑลไห่หนาน ทางตอนใต้ของเกาะไห่หนาน กล่าวว่า กองทัพเรือจีนจะทำการฝึกซ้อมรบ โดยเริ่มขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 19 พ.ค.จนถึงวันจันทร์ที่ 23 พ.ค.2565

โดยระบุว่า เครื่องบินและเรือลำอื่นๆ จะถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่การซ้อมรบ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งทางการจีนอ้างว่าทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด และเส้นทางน้ำที่สำคัญได้กลายเป็นจุดวาบไฟที่อาจเกิดกับความขัดแย้งในเอเชีย โดยสหรัฐเป็นฝ่ายกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งประกาศหนุนไต้หวัน ส่งคนมาฝึกทหารและส่งเรือพิฆาตเข้าสู่ช่องแคบไต้หวันบ่อยขึ้น

การเคลื่อนไหวซึ่งเป็นที่จับตาของสหรัฐและจีนนี้ ทางสำนักข่าวเซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า นักวิเคราะห์จีนมองการมาเยือนเอเชียของผู้นำสหรัฐฯเป็นไปเพื่อเปิดแนวรบ “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิก” สร้างแรงสั่นสะเทือนกับจีน ในระดับสงครามเย็น

กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิก (Indo-Pacific Economic Framework – IPEF) เป็นโครงการริเริ่มของประธานาธิบดีไบเดน หวังให้เป็นแกนเศรษฐกิจสำคัญเพื่อต้านอิทธิพลของจีน โดยมุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมด้านการค้า ระบบห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น เศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนด้านเทคโนโลยี การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ พลังงานสะอาด ภาษี และการต่อต้านคอร์รัปชัน

กลุ่มชาติภาคี IPEF จะเติมเต็มบทบาทของมะกันที่โหว่ไปในภูมิภาคนี้ หลังจากที่ได้ถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรี ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) หรือ TPP ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2560

ในทรรศนะของนายสือ อิ้นหง อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเหรินเหมิน การเริ่มขับเคลื่อนบทบาทของกลุ่มชาติ IPEF จะก่อปัญหาท้าทายแหลมคมแก่จีนที่แตกต่างจากในอดีต นายสือ คาดว่า นอกจากสิงคโปร์และฟิลิปปินส์แล้ว ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดียก็อาจเข้าร่วม IPEF ส่วนไต้หวันคงไม่เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ

ด้านนายเหอ เว่ยเหวิน แห่งศูนย์จีนและโลกาภิวัตน์ (Centre for China and Globalisation) สถาบันคลังสมองในกรุงปักกิ่ง และอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการค้าประจำสถานกงสุลจีนในนครนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก ระบุว่า IPEF หาได้สร้างภัยคุกคามที่ใหญ่โต หรือปัญหาท้าทายเร่งด่วนใดๆ เลย และมันเป็นเพียง “ยุทธศาสตร์สงครามเย็น” อย่างหนึ่งต่อจีนเท่านั้น 

นอกจากนั้น ข้อเสนอใน IPEF ยังซ้ำซ้อนกับข้อเสนอในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) องค์การการค้าโลก (WTO) และในกลุ่ม G20 เช่น ประเด็นมาตรฐานแรงงาน พลังงานสะอาด และห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น หาก IPEF ไม่สามารถทำให้สิ่งที่เสนอมาเป็นรูปธรรมได้ มันจะเป็นเพียงแค่ความว่างเปล่า เช่น การสร้างระบบห่วงโซ่ที่สมบูรณ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งนายเหอ ตั้งข้อสังเกตว่า จะทำได้สำเร็จหรือไม่ เพราะประเด็นอยู่ตรงที่สหรัฐฯ มิได้อยู่ในระบบห่วงโซ่อุปทานนี้ แต่จีนต่างหากที่เป็นแกนหลักของระบบห่วงโซ่อุปทานในอินโด-แปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม นายเหอ ยอมรับว่า สินค้าภาคเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์เป็นภัยคุกคามด้านห่วงโซ่อุปทานสำหรับจีน เนื่องจากสหรัฐฯ และยุโรปเป็นผู้ผลิตรายสำคัญ

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกหลายคนของจีนเห็นว่า IPEF ยังอยู่ในขั้นเพิ่งเริ่มต้น อีกทั้งจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่เกินกว่าที่ชาติคู่ค้าจะยอมตัดใจทิ้ง นอกจากนั้น ในปีหน้าทั่วโลกจะมุ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากโควิด-19 เป็นงานสำคัญอันดับหนึ่ง มากกว่าที่จะคิดถึงเรื่อง IPEF

สำหรับการสร้างกฎระเบียบต่างๆและเกลี้ยกล่อมพันธมิตรในเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เพื่อพยายามควบคุมจีนนั้น เป็นเรื่องที่จีนมองออกอยู่แล้ว  การยกระดับไปสู่สากลของจีนในด้านเศรษฐกิจการค้า สิ่งแวดล้อม แรงงาน ความเท่าเทียมทางด้านต่างๆ นักวิเคราะห์เชื่อว่า จะทำให้จีนสามารถรับมือกับสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ