นายกฯย้ำลั่นปี 65 “ปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน” เร่งแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน ตั้งทีมพี่เลี้ยงตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจน เพื่อแก้ปัญหาตรงจุด ครอบคลุม 5 มิติ ขณะที่ในภาพรวมนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยังตอกย้ำว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง มั่นใจไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยแน่นอนแม้เงินเฟ้อจะสูงแต่อยู่ในกรอบที่ดูแลได้
วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการเสวนา “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” จัดขึ้นที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม ว่า ปี 2565 นี้ รัฐบาลได้ประกาศเป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่งครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งขณะนี้ ได้ปลดล็อกเงื่อนไขหลายประการ ตลอดจนหนี้เช่าซื้อ หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ และหนี้ผู้ประกอบการ จะได้รับการผ่อนปรนลดภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว ความยากจนของแต่ละคน แต่ละบ้าน มีที่มาจากปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลกำลังเริ่มทำอยู่ในตอนนี้ คือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว ซึ่งจะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยงเข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจน ในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัวมีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือน ให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ
ทั้งนี้ เมื่อทราบปัญหาแต่ละครอบครัว ทีมพี่เลี้ยงจะมีมาตรการช่วยแก้ปัญหาตามแต่ละครอบครัว ทั้ง 5 มิติ พร้อมๆกัน ได้แก่
1.มิติสุขภาพ คือ การตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง 2.มิติความเป็นอยู่ คือ การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 3.มิติการศึกษา คือ เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้รับความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง 4.มิติด้านรายได้
คือ การจัดสรรที่ดินทำกิน ฝึกอาชีพ พัฒนาทักษะแรงงาน มีรายได้เสริม แก้หนี้นอกระบบ วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ 5.มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ คือ กลุ่มเปราะบาง-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้ป่วยติดเตียง ต้องได้รับสิทธิ์ไม่ตกหล่น เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ แบบพุ่งเป้ารายครอบครัว
“การแก้ปัญหาความยากจนนั้น เมื่อสร้างกลไกการทำงาน กลไกความร่วมมือในทุกระดับได้แล้ว ทุกอย่างก็จะทยอยดีขึ้น ไม่ใช่ว่าคนจนจะหมดไปในปีนี้ หรือในทันทีได้ ต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือด้วยกัน”
นอกจากนี้ นายกฯยังให้คำมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้บรรลุยุทธศาสตร์ที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤติซ้อนวิกฤติ คือ วิกฤติโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงเกิดความแตกแยกทางความคิดมากมาย แต่รัฐบาลก็ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมการลงทุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ 1.การ ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น 2.อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น
“สิ่งที่รัฐบาลสามารถให้ความมั่นใจประชาชนได้ คือ ประเทศไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี พร้อมรับมือกับวิกฤติที่ยืดเยื้อได้ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก มีอุตสาหกรรมรองรับคนรุ่นใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียนทุกด้าน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤติ ไม่ว่ารัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลหน้า อาจจะทำงานไม่ทันใจก็ขอให้เข้าใจ เห็นความจริงใจทุกคน มุ่งมั่นแก้ปัญหา ตั้งใจทำงาน ขอเพียงให้อดทน ร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ใช่เวลาแห่งความขัดแย้งหรือบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง เพราะนี่คือ ประเทศไทยของเรา แผ่นดินนี้ยังมีสิ่งที่งดงาม และอนาคตที่ดีๆรอพวกเราและลูกหลานอยู่”
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวที่งานเสวนาเดียวกันในหัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย” ว่า ในช่วงโควิดทุกประเทศทั่วโลกได้ดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกันหมด โดยเฉพาะการกู้เงิน เช่นเดียวกับไทย ที่ได้กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท มาช่วยเหลือดูแลเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งนโยบายการคลังนั้น คือมาตราการทางด้านภาษี ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้มีมาตรการลดหย่อนและยกเว้นภาษีให้ประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน แต่เป็นภาระของรัฐบาล ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงวิกฤติ ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากมาตรการคลังถือว่าเกินปกติ แต่เมื่อโควิดคลี่คลาย ก็ต้องสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบช้าๆ แต่มั่นคง ขณะเดียวกันต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดเก็บภาษี เพื่อให้มีรายได้เข้ามาทดแทนภาระที่เกิดขึ้นจากมาตรการลดหย่อนและยกเว้นภาษี
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องประคับประคองเศรษฐกิจ ดูแลรักษาชีวิตประชาชน ทั้งจัดหาวัคซีน การออกมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจและเยียวยาช่วยเหลือคนตกงาน เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย แต่ไทยก็ยังประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน
“ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องปรับตัวตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกันที่ไม่เพียงพอ เพราะเศรษฐกิจพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักและการผลิตแบบเดิม แต่จากวิกฤติโควิด รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีกรอบ
ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13 กำหนดเรื่องที่ต้องทำให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น เน้นการวิจัยนวัตกรรม เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผลิตสินค้าใหม่ที่มูลค่ามากยิ่งขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ปรับตัวหันไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกัน จะต้องกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ขณะนี้ปุ๋ยเคมีแพง ก็ต้องปลดล็อกให้ค้าขายปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ขยับราคาแพงขึ้น เพราะการขาดแคลนข้าวสาลี ดังนั้นก็ต้องศึกษาว่าจะใช้พืชใดทดแทน”
ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในช่วงการเสวนาหัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย” โดยยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสน้อยมากที่จะขยายตัวต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัว 1.6% นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ Stagflation หรือภาวะเงินเฟ้อที่สูงมาก และเศรษฐกิจขยายตัวชะลอลงเป็นวงกว้างไปพร้อมๆกันอย่างที่มีความกังวลเกิดขึ้น
“ยอมรับว่าเงินเฟ้อในขณะนี้สูงมาก แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะขยายตัว 3.2% ซึ่งเท่าที่ประเมินความเป็นไปได้มีโอกาสน้อยมากที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 2% ในปีนี้ เพราะฐานของเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาต่ำมากๆ หากเราจะโตต่ำกว่าปีที่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้จะต้องไม่ถึง 3 ล้านคน ซึ่งแค่ถึงตอนนี้เข้ามาแล้ว 1.2 ล้านคน และการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มอีก หรือถ้าจะให้ต่ำกว่าปีที่แล้ว การส่งออกต้องร่วงมากๆ ซึ่งเศรษฐกิจโลกแม้จะชะลอ แต่ยังไปได้ Stagflation ในประเทศไทยจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น”
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา หัวใจสำคัญของ ธปท.คือ ดูแลให้ตลาดการเงินและสถาบันการเงินดำเนินการได้ต่อเนื่อง เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจเกิดวิกฤติ คนรายได้ลด หากสินเชื่อหดตัว ธนาคารพาณิชย์เรียกหนี้คืน หรือต้องถูกบังคับขายสินทรัพย์ จะสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้น ขณะที่โจทย์ข้างหน้านั้น ธปท.จะต้องเร่งดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นฟูไปได้อย่างไม่สะดุด 3 เรื่อง ได้แก่
1.การรับมือกับความผันผวนที่จะสูงขึ้นของนโยบายการเงิน และตลาดการเงินโลก
2.การดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งจะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยมาตรการต่างๆ ที่ทำมาจะไม่ทำให้คนส่วนใหญ่ชำระหนี้ไม่ไหวและกลายเป็นหนี้เสีย และ
3.การดูแลเงินเฟ้อที่สูงไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ