พันธมิตรร้าวลึก!! โครเอเชียแท็กทีมตุรกี ขวางสวีเดน-ฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกนาโต้

0

นอกจากตุรกีที่ยืนยันเสียงแข็งที่จะไม่ยอมรับสวีเดน-ฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกของ NATO แล้วล่าสุด โครเอเชียยังแสดงท่าทีแบบเดียวกัน และเรียกร้องสิ่งที่ต้องการเหมือนกันอีกด้วย

วันที่ 19 พ.ค.2565 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเว็บไซต์ Total Croatia News เปิดเผยกรณี ประธานาธิบดีโซรัน มิลาโนวิช (Zoran Milanovic) กล่าวให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า เขาจะสั่งการให้ผู้แทนถาวรของโครเอเชียประจำ NATO เอกอัครราชทูต มาริโอ โนบิโล ลงคะแนนเสียงคัดค้านการยอมรับฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นพันธมิตร จนกว่ากฎหมายการเลือกตั้งใน สาธารณรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เพื่อนบ้านของโครเอเชียจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

มิลาโนวิชเชื่อว่าโครเอเชียจะไม่ยับยั้งการเป็นสมาชิก NATO ของฟินแลนด์และสวีเดนเด็ดขาดเสียทีเดียว แต่เพื่อจะปลุกให้ประชาคมต่างหันมาสนใจปัญหาของโครเอเชียด้วย นั่นคือประเด็นความเท่าเทียมกันในการเลือกตั้งของชนเชื้อสายโครแอตในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เป็นการต่อรองเช่นเดียวกับที่ตุรกีทำ

มิลาโนวิชยืนยันว่า“นี่ไม่ใช่การต่อต้านฟินแลนด์และสวีเดน แต่เพื่อประโยชน์ของโครเอเชีย” มิลาโนวิชเชื่อว่าสิทธิทางการเมืองของชาวโครแอตในสาธารณรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนากำลัง “ถูกทำลาย” และเป็นประโยชน์ของชาติโครเอเชียที่จะป้องกันสิ่งนั้น

เขาเน้นย้ำว่าจะสั่งให้เอกอัครราชทูตโนบิโลต่อต้านการเป็นสมาชิกของสวีเดน-ฟินแลนด์แน่ถ้าสมาชิกนาโต้ไม่สนใจคำร้องขอ

นอกจากนี้ มิลาโนวิชกล่าวในวันเดียวกันว่า ตุรกี ซึ่งไม่เห็นด้วยกับสองประเทศนอร์ดิกที่เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตร NATO กำลังแสดงวิธีต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติเช่นเดียวกัน

ตุรกีกล่าวหาสวีเดนและฟินแลนด์ เป็นแหล่งกบดานของพวกก่อการร้าย ในนั้นรวมถึงกลุ่มนอกกฎหมายนักรบเคิร์ด ซึ่งอยู่ในบัญชีดำของทั้งอังการา อียู และสหรัฐฯ และยังวิพากษ์วิจารณ์สตอกโฮล์มต่อกรณีที่ระงับขายอาวุธแก่อังการาในปี 2019 ตอบโต้กรณีที่ตุรกีเข้าไปพัวพันในสงครามซีเรีย

มิลาโนวิชกล่าวว่า “ตุรกีจะไม่เปลี่ยนจุดยืนอย่างแน่นอน ก่อนที่พวกเขาจะได้สิ่งที่ต้องการ” 

โครเอเชียเข้าเป็นสมาชิก NATO ในปี 2552 และเข้าร่วมสหภาพยุโรปในปี 2556 เมื่อมิลาโนวิชเป็นนายกรัฐมนตรี เขาสังกัดพรรคโซเชียลเดโมแครตเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020

การเข้าร่วมกับ NATO นั้นไม่ใช่กระบวนการง่ายๆ แม้แต่สำหรับสองประเทศที่พัฒนาแล้วในระบอบประชาธิปไตยที่มีกองทัพทหารที่แข็งแกร่ง ซึ่งดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและเลขาธิการนาโต้อย่างออกนอกหน้า

อย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นสมาชิกนาโต้จะต้องได้รับความยินยอมอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกทั้ง 30 ประเทศ ให้สัตยาบันโดยคะแนนเสียงในรัฐสภาสมาชิกทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ