สหรัฐทำไบเดนขายหน้า! โวทดสอบไฮเปอร์โซนิกสำเร็จ ขณะรัสเซียใช้ถล่มยูเครนเละหลายรอบแล้ว

0

จากสถานการณ์การสู้รบในประเทศยูเครน ซึ่งปรากฏข่าวสารว่าทางกองทัพรัสเซียได้เข้ายึดเมืองสำคัญ และสามารถจับกุมทหารได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีการนำยุทโธปกรณ์มาใช้งาน ขณะที่สหรัฐได้ส่งชิ้นส่วนประกอบให้กับยูเครนเท่านั้น

ทั้งนี้เพจเฟซบุ๊ก Thailand Vision ได้โพสต์ข้อความโดยระบุแหล่งที่มา ถึงข้อมูลในการพัฒนาอาวุธของสหรัฐอเมริกาด้วยว่า “สื่อต่างประเทศรายงานว่า กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ประสบความสำเร็จในการทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิก ซึ่งพุ่งด้วยความเร็วเหนือเสียง 5 เท่าขึ้นไป

การทดสอบครั้งนี้มีขึ้นเมื่อวันเสาร์ (14 พ.ค.) นอกชายฝั่งเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย โดยเป็นการปล่อยอาวุธที่เรียกว่า “Air-launched Rapid Response Weapon หรือ ARRW (อาวุธตอบโต้เร็วยิงจากอากาศ)” จากเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ลำหนึ่ง หลังจากแยกตัวออกจากอากาศยาน จรวดบูสเตอร์ของ ARRW จุดชนวน และเผาไหม้ในระยะเวลาที่คาดหมายไว้ บรรลุเป้าหมายความเร็วไฮเปอร์โซนิก เร็วกว่าความเร็วเสียง 5 เท่า

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยเผยว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการทดสอบขีนาวุธไฮเปอร์โซนิกเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม ในขณะที่พันธมิตร AUKUS ซึ่งประกอบด้วย อเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ได้แถลงแผนร่วมกันพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก ซึ่งความเร็ว และความคล่องแคล่วของมันทำให้เป็นเรื่องยากที่จะติดตาม และสกัดกั้น

ขณะรัสเซียเอง ก็ได้ยิงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกใส่เป้าหมายต่าง ๆ ในยูเครนหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่เปิดฉากรุกรานประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในนั้นยังรวมถึงการประจำการขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกยิงจากอากาศสู่ภาคพื้นคินซาล (KinZhal) ใส่เมืองโอเดซาเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม มอสโกอ้างว่าคินซาล สามารถพุ่งไปด้วยความเร็วเหนือเสียงถึง 10 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพนตากอนซึ่งเป็นผู้จัดหาอาวุธมอบแก่ยูเครน สำหรับต้านทานการรุกรานของรัสเซีย บอกว่าการใช้อาวุธไฮเปอร์โซนิกของรัสเซีย ไม่ได้เป็นตัวเปลี่ยนเกมสงครามในยูเครน

ด้าน พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ บอกกับสมาชิกสภาคองเกรส ว่ากองกำลังรัสเซียใช้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกหลายครั้ง แต่นอกเหนือจากความเร็วของอาวุธแล้ว ในแง่ผลกระทบกับเป้าหมายนั้น จนถึงตอนนี้ เรายังไม่เห็นผลกระทบที่สำคัญใด ๆ หรือผลกระทบที่กำลังเปลี่ยนเกมจากการใช้อาวุธไฮเปอร์โซนิกจำนวนเล็กน้อยที่รัสเซียมี

เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ กล่าวหาจีนกำลังทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิกเช่นกัน แต่กระทรวงการต่างประเทศปักกิ่งปฏิเสธในเดือนตุลาคม ว่าพวกเขาไม่ได้ทำการทดสอบอาวุธดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวที่น่าสนใจอีกว่า ปี พ.ศ.2561 ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีจากอากาศสู่พื้นผิวชื่อว่า ‘Kinzhal’ ถูกทดสอบยิงจากเครื่องบินขับไล่แบบ MiG-31 ในระหว่างการซ้อมรบ โดยสามารถทำลายเป้าหมายได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

กระทรวงกลาโหมของรัสเซียระบุว่า นักบินได้รับการฝึกฝนให้ออกบิน เพื่อทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกรุ่นนี้ในทุกสภาพภูมิอากาศ “อาวุธปล่อยนำวิถี Kinzhal เป็นยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิกที่ก้าวล้ำ เมื่อติดตั้งกับเครื่องบินรบ จะทำให้ ‘Kinzhal’ ทำงานได้อย่างทรงประสิทธิภาพ”

Kh-47M2 Kinzhal แปลตรงตัวว่า “กริช” เป็นขีปนาวุธอากาศสู่พื้นดินที่มีความเร็วเหนือเสียงของรัสเซีย มีพิสัยทำการไกลมากกว่า 2,000 กม. (1,200 ไมล์) ความเร็วมัค 10 และความสามารถในการหลบหลีกในทุกขั้นตอนของการบิน Kh-47M2 Kinzhal สามารถบรรทุกได้ทั้งหัวรบธรรมดาและหัวรบนิวเคลียร์

โดยบรรทุกและยิงจากเครื่องบินทิ้งระเบิด Tu-22M37 หรือเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นความเร็วสูง MiG-31K ถูกนำไปใช้ที่ฐานทัพอากาศในเขตทหารทางใต้ของรัสเซียและเขตการทหารตะวันตก Kinzhal เป็นหนึ่งในหกอาวุธทางยุทธศาสตร์ใหม่ที่เปิดเผยโดยประธานาธิบดี Vladimir Putin เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 มีรายงานว่าขีปนาวุธดังกล่าวถูกใช้ครั้งแรกในปี 2559 ระหว่างปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในซีเรีย