ถ้ายังขืนจัดเทศกาลสงกรานต์ในช่วง โควิด-19 ระบาด ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

0
ถ้ายังขืนจัดเทศกาลสงกรานต์ ประเทศไทยอยู่ไม่ได้แน่

นักวิจัยเผยโควิด-19 อาจพุ่งถึง100 เท่า ถ้ายังจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในช่วงโควิด-19 ระบาดในประเทศ อาจจะเกิดกระจายตัวของเชื้อโรคจากหนึ่งไปอีกหลายๆคนในครั้งเดียว ถ้าเป็นแบบนั้นประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน เป็นโจทย์ที่ รศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับมาจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ นายแพทย์ ปณิธี ธัมมวิจยะ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมและวิจัย กรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ตอนที่สถานการณ์ โควิด-19 ยังมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพียง 43 คน เมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา

โควิด-19 โดยหลักการของโรคติดต่อแล้ว โรคจะติดต่อได้จะต้องมีการสัมผัสกันเกิดขึ้น ซึ่งการสัมผัสกันนั้นเกิดจากการมาพบปะกัน และช่วงเทศกาลถือเป็นช่วงที่ผู้คนมีการมาพบปะกันมากกว่าปกติ กล่าวได้ว่ามีอัตราการสัมผัสกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้ ผู้คนมักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาไปพบปะ สังสรรค์ รวมถึงร่วมการละเล่นต่างๆ ซึ่งอาจจะส่งผลกับสถานการณ์การระบาดของโรคให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกหากไม่มีนโยบายการรับมือที่เหมาะสม

ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล และ นายแพทย์ปณิธี ธัมมวิจยะ ได้มอบโจทย์เร่งด่วนเมื่อ วันที่ 2 มีนาคม 2563 ซึ่งสถานการณ์การระบาดในไทยยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 43 คน ให้ทีมเร่งหาผลกระทบของการจัดเทศกาลสงกรานต์กับสถานการณ์การระบาดของโรค เนื่องจากโจทย์นี้ต้องอาศัยความเร็วในการหาคำตอบ และต้องอาศัยข้อมูลอัตราการสัมผัสกันทั้งในภาวะปกติและช่วงวันสงกรานต์มาใช้คำนวณเพื่อคาดการณ์การระบาดของโรค แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลลักษณะนี้มาก่อน

รศ.ดร.ชรินทร์ จึงร่วมกับทีมนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา กลุ่มวิจัยชีวฟิสิกส์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้วิธีการประมาณอัตราการสัมผัสของคนบนข้อสันนิษฐานว่าเมื่อคนมีการพบปะสังสรรค์กันก็จะมีการใช้จ่ายเกิดขึ้น โดยใช้อัตราการใช้จ่ายเงินต่อครัวเรือน ต่อเดือน ในภาวะปกติมาเปรียบเทียบกับอัตราการใช้เงินในช่วงเทศกาลสงกรานต์จากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเป็นตัวชี้วัด

ซึ่งในภาวะปกติครัวเรือนขนาดเฉลี่ย 3.14 คน จะมีอัตราการใช้จ่ายอยู่ที่ 21,346 บาท ต่อครัวเรือน ต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณเป็นรายคน พบว่าจะมีอัตราการใช้จ่ายจะอยู่ที่ 266 บาท ต่อคน ต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว พบว่าช่วงสงกรานต์นั้นมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 2-6 เท่าจากภาวะปกติ จากนั้นจึงนำข้อมูลนี้ไปคำนวณต่อในแบบจำลองโรคระบาด ได้ผลสรุปออกมาว่าหากยังคงมีการจัดเทศกาลสงกรานต์ตามปกติ จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 1.3-100 เท่า ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการละเล่น การควบคุมการระบาดก่อนที่การจัดเทศกาลจะมาถึง หากมีการควบคุมการระบาดก่อนหน้าเทศกาลที่ดีจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ แต่หากควบคุมได้ไม่ดีจะส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 10,000 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ การที่จะได้มาซึ่งข้อมูลอัตราการสัมผัสกันของคนที่แม่นยำนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาการเคลื่อนที่ของคนที่เดินทางไปยังแต่ละสถานที่ในช่วงเวลาต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านฟิสิกส์ของระบบสิ่งมีชีวิต และแบบจำลองการเคลื่อนที่ของคน ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพยากรณ์โรคระบาด เพื่อออกมาตรการควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที ในประเทศที่มีการเก็บข้อมูลการเคลื่อนที่ของคนในภาวะปกติอยู่แล้ว เมื่อเกิดโรคระบาดก็จะสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์สถานการณ์และตั้งรับได้อย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศจีน เป็นต้น และหากเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในภาวะที่เกิดการระบาดไปด้วยก็จะสามารถพยากรณ์แนวโน้มในการระบาดได้แบบต่อเนื่อง

สรุปได้ว่าจากการศึกษาผลกระทบของการจัดเทศกาลสงกรานต์ต่อสถานการณ์การระบาด โควิด-19 หากไม่เลื่อนการจัดเทศกาลสงกรานต์อาจส่งผลให้คนติด โควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 1.3 ถึง 100 เท่า มาตรการยกเลิกการจัดเทศกาลสงกรานต์ โดยเลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ไปชดเชยภายหลังจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อลงได้ ประกอบกับมีการรณรงค์ให้คน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เว้นระยะห่างทางสังคม สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมืออย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น