ไม่น่ารอด! สภาฯรัสเซีย จ่อห้ามแลกเชลยศึกจากกองพัน Azovยูเครน พบอดีตโทษประหารสถานเดียว
จากกรณีที่ ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการสู้รบในประเทศยูเครน ซึ่งมีรายงานข่าวว่าสามารถจับกุมนายทหารสหรัฐและนาโต้ได้นั้น
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ดร.ปฐมพงษ์ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “นาโต้กำลังพ่ายแพ้ยับเยินในยูเครน:หมดสภาพเลย คนที่ 2 ที่เดินก้มหน้าคือนายพลอีริก ออลสัน (Eric Olson) จากกองทัพอเมริกา ขอยอมจำนนพร้อมด้วยนายทหารระดับเสนาธิการของนาโต้อื่นๆ อีก 5 นาย โดยมีนายทหารกองกำลังบูรพาจากไครเมีย
นายทหารอเมริกันที่ขอยอมจำนนในยูเครน ถ้าไม่มีการขอแลกเปลี่ยนตัว อาจโดนประหารชีวิตในรัสเซีย บางแหล่งข่าวบอกว่าเป็นพลเอก บางแหล่งข่าวบอกว่าเป็นทหารเรือ เดี๋ยวคงกระจ่างครับ”
ต่อมานักวิชาการชื่อดังจากมหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้โพสต์ถึงการเข้าจับกุมนายทหารที่สำคัญอีกว่า “หลังจากนายทหารระดับเสนาธิการนาโต้ ออกมาขอยอมแพ้เพื่อรักษาชีวิตที่มารีอูปอลแล้ว นายทหารอีก 10 นาย ออกมาขอยอมแพ้เช่นเดียวกัน รัสเซียจะพากลับไปรับโทษที่รัสเซีย ถ้าเป็นเชลยสงครามที่เคยมีประวัติสังหารชาวรัสเซียมาก่อน ไม่น่ารอดครับ”
ต่อมาทางด้านของ นายเจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า รัฐสภา #รัสเซีย เตรียจะพิจารณาสั่งห้ามแลกเปลี่ยนเชลยศึกจากกองพัน #Azov ของ #ยูเครน เชลยศึกทหารรัสเซีย โดยในวันที่ 26 พ.ค.นี้ ศาลฎีกาของรัสเซียจะพิจารณาว่ากองกำลังคิดอาวุธ Azov เป็นองค์กรก่อการร้ายหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงในวันอังคารที่ผ่านมาว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีนักรบยูเครนซึ่งยังคงอยู่ภายในโรงงานเหล็กกล้าอาซอฟสตัล ที่เมืองมาริอูโปล จำนวน 265 นายได้วางอาวุธและยอมจำนน ซึ่งรวมถึงนักรบ 51 นายที่ได้รับบาดเจ็บและได้รับการส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลในเมืองโนโวซอฟสก์ทางตะวันออกของยูเครนซึ่งรัสเซียควบคุมอยู่
ทางกระทรวงยังเผยแพร่วิดีโอและภาพถ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกทหารที่ได้รับบาดเจ็บนอนอยู่บนเปลสนาม กำลังถูกลำเลียงออกมา และมีทหารบางคนกำลังถูกฝ่ายรัสเซียตรวจค้นร่างกาย แล้วยังมีหลายคนกำลังถูกนำตัวขึ้นรถโดยสารหลายคัน
ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน ฝ่ายยูเครน ระบุว่า นักรบ 264 คนจากอาซอฟสตัลถูกนำไปยังเมืองโอเลนิฟกา ที่ควบคุมโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย และโดยที่รองนายกรัฐมนตรีแอนนา มัลยาร์ ของยูเครนอ้างว่า นักรบที่อพยพทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนเชลยศึกที่อาจทำกับรัสเซีย
อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดว่านี่น่าจะเป็นเพียงการกล่าวอ้างของเธอ โดยที่กระทรวงกลาโหมยูเครนเอง เพียงแถลงแสดงความหวังว่า “จะมีการดำเนินกระบวนการแลกเปลี่ยน เพื่อนำเอาวีรบุรุษชาวยูเครนเหล่านี้กลับบ้านให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
คำแถลงบอกด้วยว่า สำหรับพวกที่ยังคงอยู่ในโรงงานอาซอฟสตัล ทางกระทรวงกำลังทำทุกสิ่งทุอย่างที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดของพวกเขา ถึงแม้กระทรวงกลาโหมยูเครนยอมรับว่า การที่ตนจะเข้าแทรกแซงทางการทหารเพื่อช่วยเหลือนักรบเหล่านี้นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ชะตากรรมของทหารเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน และน่าที่จะกลายเป็นข้อกังวลสนใจกันในยูเครน
ทั้งนี้ ยูเครนกล่าวหารัสเซียเรื่อยมาว่ามีพฤติการณ์ก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน ขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ในนครเจนีวา มีการตอบสนองอีกขั้นหนึ่ง โดยแถลงว่า กำลังจัดส่งทีมงานภาคสนามคณะใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดขึ้นไป เพื่อเดินทางไปปฏิบัติงานในยูเครน โดยทีมงานนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช และเจ้าหน้าที่สนับสนุนรวม 42 คน
ส่วนในกรุงมอสโก ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกเครมลินไม่ตอบคำถามใดๆ ของพวกผู้สื่อข่าว ซึ่งต้องการทราบว่าทหารจากอาซอฟสตัลจะได้รับการปฏิบัติในหน้าที่เป็นอาชญากร หรือเป็นเชลยศึก
เปสคอฟ ตอบเพียงว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน “ให้คำรับประกันว่าพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างสอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง วยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาล่างของรัฐสภารัสเซีย แถลงว่า “พวกอาชญากรไม่สมควรถูกนำไปเป็นเชลยแลกเปลี่ยน”
เขาไม่ได้เอ่ยถึงนักรบจากอาซอฟสตัลเป็นการเฉพาะ แต่ที่ผ่านมามอสโกกล่าวอยู่หลายครั้งหลายหนว่า มีพวกสมาชิกของกรมทหารอาซอฟ ซึ่งทางการรัสเซียมองว่าเป็นพวกก่อการร้าย อยู่ในพวกนักรบซึ่งติดอยู่ในโรงงานเหล็กกล้าในมาริอูโปลแห่งนั้น