รัสเซียขยับ!!ปูตินกระชับ CSTO ประชุม6 ปท.พันธมิตรทหารในมอสโกว์ ลงนามร่วมมือต่อต้านต.ต.คุกคาม

0

ขณะที่การสู้รบในสมรภูมิยูเครนยังดำเนินไปในเฟส 2 ของรัสเซีย มีชัยชนะเหนือเมืองยุทธศาสตร์มาริอูโปลแล้ว เค้าลางนาโต้เปิดพื้นที่ขัดแย้งเพิ่ม สู่ย่านทะเลบอลติก เมื่อฟินแลนด์และสวีเดนแสดงเจตจำนงค์เข้าร่วมนาโต้และผู้นำเดินทางเข้าพบปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐ  รัสเซียเคลื่อนไหวทันที โดยลาออกจากสมาชิกกลุ่มทะเลบอลติก ขณะที่ได้จัดการประชุมกลุ่มพันธมิตรทางทหาร CSTO ที่มอสโกว์ หลังประชุมได้ร่วมลงนามเอกสารการร่วมมือต่อต้านภัยคุกคามจากตะวันตกทั้งในรูปก่อการร้าย และการปฏิวัติสี

 

วันที่ 18 พ.ค.2565 สำนักข่าวทาซซ์และโกลบัลไทมส์รายงานว่า ผู้นำประเทศสมาชิก องค์กรสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม หรือ CSTO ได้ลงนามร่วมกันในเอกสารพหุภาคี หลังการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นในมอสโกว์เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ถ้อยแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงร่วมเพื่อเป็นเกียรติแก่วันครบรอบ 30 ปีของสนธิสัญญาและวันครบรอบ 20 ปีขององค์กร สมาชิกทั้งหมดเห็นร่วมกันและลงนามในการร่วมมือต่อต้านภัยคุกคามจากตะวันตกในรูปแบบก่อการร้ายและการปฏิวัติสี

CSTO เป็นองค์กรความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยรัฐสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน  โดยสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมลงนามเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1992 ที่เมืองทาชเคนต์ ด้านคณะมนตรีความมั่นคงร่วมเป็นหน่วยงานสูงสุดของ CSTO รวมถึงประมุขของรัฐที่เป็นสมาชิกขององค์กร

การประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยผู้นำจากประเทศสมาชิกทั้ง 6 โดยมีปธน.วลาดีเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย นายกรัฐมนตรีนิโคล พาชินแห่งอาร์เมเนีย (Nikol Pashinyan), ปธน.อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก (Alexander Lukashenko)แห่งเบลารุส, ปธน.คัสซิม-โยมาร์ต โตกาเยฟ แห่งคาซัคสถาน(Kassym-Jomart Tokayev), ปธน.ซาเดียร์ จาปารอฟ(Sadyr Japarov) แห่งคีร์กีซสถาน และปธน.อิโมมาลี ราห์มอน(Emomali Rahmon) แห่งทาจิกิสถาน 

การประชุมสุดยอดของ CSTO เป็นการหารือในประเด็นสำคัญของความร่วมมือ ตอบสนองต่อปัญหาระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคในปัจจุบัน ตลอดจนมาตรการในการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยโดยรวม และสถานการณ์ในยูเครน 

ปธน.ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส ได้เรียกร้องให้พันธมิตรทางทหาร CSTO ที่นำโดยรัสเซียรวมใจต่อต้านตะวันตกเพื่อจัดการกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและ ‘การปฏิวัติสี’ และระบุว่าตะวันตกหวังที่จะยืดเวลาความขัดแย้งในยูเครนเพื่อพยายามทำให้รัสเซียอ่อนแอลงให้ได้มากที่สุด

เขากล่าวย้ำว่า”การคว่ำบาตรอย่างโหดร้าย” ต่อประเทศของเขาและรัสเซียสามารถหลีกเลี่ยงและรับมือได้หากกลุ่มพันธมิตรCSTOนี้ยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกันนอกจากนี้ สถานการณ์ร้ายแรงนี้อาจเกิดขึ้นได้กับประเทศในกลุ่มสมาชิกอื่นๆท่ามกลางความกดดันของ ปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก

ปธน.วลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจากประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างการปฏิบัติการรักษาสันติภาพในคาซัคสถาน ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก CSTO ที่จะให้ความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนในด้านต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างบรรลุผล  ทั้งการพัฒนาด้านการทหารและการป้องกันประเทศ และเพื่อเพิ่มการประสานงานในเวทีระหว่างประเทศ

ปธน.ปูตินเปิดเผยท่าทีเกี่ยวกับกรณีฟินแลนด์และสวีเดนขอเข้าร่วมนาโต้ว่า รัสเซียไม่มีปัญหากับการที่ทั้งสองประเทศจะสมัครเป็นสมาชิกนาโต้ แต่จะทำการตอบโต้กลับทันที หากนาโต้ ทำการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางทหารในดินแดนของฟินแลนด์หรือสวีเดน โดยลักษณะการตอบโต้จะขึ้นอยู่กับชนิดของภัยคุกคามที่มีต่อรัสเซีย

 

นอกจากนี้ยังได้กล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมของห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาของสหรัฐฯ ในพื้นที่ประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ที่มีอาณาเขตติดกับรัสเซีย  และมองว่าเป้าหมายหลักของห้องแล็บชีวภาพของสหรัฐฯ คือการรวบรวมวัสดุชีวภาพและศึกษารูปแบบการแพร่กระจายของไวรัสซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายและเปราะบางที่อาจคุกคามไม่เฉพาะรัสเซียเท่านั้น

การพบกันของผู้นำองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (CSTO) ที่กรุงมอสโกว์ครั้งนี้นับเป็นการพบกันต่อหน้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2019 ท่ามกลางวิกฤตในยูเครน โดยนักวิเคราะห์ชาวจีนมองว่า ปธน.ปูตินจะใช้การประชุมสุดยอดเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและมั่นใจ ให้กับองค์กรเพื่อจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งในรูปการก่อการร้ายและ “การปฏิวัติสี” และกลุ่มที่นำโดยรัสเซียนี้จะส่งข้อความที่สอดคล้องกันไปยังตะวันตก ซึ่งพยามยามสร้างความแตกแยกระหว่างมอสโกว์และสมาชิก CSTO ประเทศอื่นๆตลอดเวลา

โปรเฟสเซอร์ ชู หยงเปียว(Zhu Yongbiao) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาอัฟกานิสถานแห่งมหาวิทยาลัยหลานโจวกล่าวว่าสมาชิก CSTO ต่างกังวลว่าปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองในประเทศอาจจะถูกกระตุ้นโดยตะวันตก  แพร่จากวิกฤตในยูเครนไปสู่การกระตุ้นกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลภายในประเทศ และส่งผลให้เกิด “การปฏิวัติสี”ตามวาระวอชิงตันได้

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการป้องกัน “การปฏิวัติสี” เป็นเป้าหมายระยะยาวสำหรับประเทศต่างๆ ในเอเชียกลาง เนื่องจากสหรัฐฯ ได้วางแผนและดำเนินการบ่มเพาะมูลเหตุแห่ง “การปฏิวัติสี” มาเป็นเวลานานในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ “การปฏิวัติกุหลาบ” ในจอร์เจียในปี 2546