แตกเป็นแตก!!เมียนมาประณามมาเลย์ฯดอดพบฝ่ายต้าน ไม่สนประชุมสหรัฐ-อาเซียน ถกจีนเชื่อมไฟฟ้าข้ามแดน

0

การประชุมซัมมิตสหรัฐ-อาเซียนผ่านไปแล้ว แต่ควันหลงยังไม่จาง รัฐบาลเมียนมาแถลงไม่พอใจอ่ย่างหนัก ต่อกรณีรัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย พบหารือกับผู้แทนของกลุ่มต่อต้านที่เรียกตัวเองว่ารัฐบาลเงา ที่กรุงวอชิงตัน ในช่วงเวลาเดียวกันที่สหรัฐเชิญอาเซียนมาประชุมในโอกาสสัมพันธ์ 45 ปี งานนี้เจ้าภาพคือสหรัฐฯนั่นเอง

ถึงแม้ผู้นำสหรัฐไม่เชิญเข้าประชุมแต่เมียนมาก็ไม่สนใจ จัดการประชุมร่วมทูตจีน วางแนวทางร่วมมือด้านพลังงาน โดยเฉพาะแผนสร้างโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงข้ามประเทศ “จีน-เมียนมา”ระยะยาว

เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2565 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ รมว.กระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย พบหารือกับนางสิ่น หม่า อ่อง รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลแห่งชาติ ( เอ็นยูจี ) ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และสมาชิกส่วนใหญ่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ

การพบหารือดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่กรุงวอชิงตัน นอกรอบการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ ระหว่างผู้นำสหรัฐ กับผู้นำจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ แต่รัฐบาลเมียนมายังคงไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม เนื่องจากสหรัฐต่อต้านรัฐบาลเมียนมาชุดนี้ และเมียนมายังคงมีความขัดแย้งกับสมาชิกอาเซียนที่เหลือ เกี่ยวกับการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งตกลงกันเมื่อเดือนเม.ย. ปีที่แล้ว

ด้านสำนักงานเลขาธิการของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำรัฐบาลเมียนมา ยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ แต่กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ออกแถลงการณ์ประณามการพบหารือระหว่างไซฟุดดินกับผู้แทนของเอ็นยูจี ซึ่งเกิดขึ้นโดยมีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเป็นคนกลางประสานงาน และได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการ แจ้งไปยังสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ และรัฐบาลวอชิงตัน ให้หลีกเลี่ยงการพบหารือกับสมาชิกของเอ็นยูจีในต่างประเทศ

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมายังแสดงความไม่พอใจ ต่อการที่หนึ่งใน “แถลงการณ์วิสัยทัศน์ 28 ข้อ” ของที่ประชุมสหรัฐ-อาเซียน มีเนื้อหา “เรียกร้อง” ให้มีการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน “อย่างร้ายแรง”

ในการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และผู้นำอาเซียนในวอชิงตัน ที่นั่งของพม่าถูกเว้นว่างไว้

การที่สมาชิกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่ตั้งขึ้นโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคการเมืองของซูจี ได้รับเชิญไปยังวอชิงตัน และพบหารือกับเวนดี้ เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เพื่อส่งสัญญาณว่า สหรัฐหนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาอย่างโจ่งแจ้ง แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนของพม่าในการเข้าประชุมแต่อย่างใด

ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลเมียนมา กล่าวว่า สหรัฐฯ กำลังสองมาตรฐานโดยการพบหารือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ที่กำลังทำงานเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเมียนมาและทางการเมียนมาประกาศให้เป็นองค์กรก่อการร้าย เท่ากับสหรัฐสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายนั้นเอง

ซอ มิน ตุน กล่าวว่า“ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จีนเป็นประเทศมหาอำนาจ ประเทศของเราติดต่อและมีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจจีนและอินเดียอย่างใกล้ชิด” 

จีนเป็นพันธมิตรสำคัญปฏิเสธที่จะตีตราว่าการยึดอำนาจของกองทัพเป็นการรัฐประหาร อีกทั้งยังสนับสนุนการต่อสู้กับโรคระบาดไวรัส โควิด-19 และการค้าการลงทุนกับเมียนมาอย่างไม่ขาดสาย

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ปักกิ่งยืนยันว่าจะช่วยปกป้องอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของเมียนมาไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร

สหรัฐได้เคลื่อนไหวโดดเดี่ยวเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศทุกระดับ แต่ถูกขัดขวางโดยพันธมิตรสำคัญคือรัสเซียและจีน สร้างความไม่พอใจต่อรัฐบาลวอชิงตันอย่างมาก  นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา เป็นผู้นำต่างชาติเพียงคนเดียวที่เยือนพม่านับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร และพยายามเป็นตัวกลางในการฟื้นสัมพันธ์เมียนมากับอาเซียนอย่างต่อเนื่อง