แวดวงการเงินโลกต่างรู้ชัดเจนแล้วว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด หยุดการเข้าซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่เรียกว่าทำคิวที เดือนละ 4.75 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในเบื้องต้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก ตลอดจนขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ที่นักลงทุนเชื่อว่าจะต้องขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 0.75% เพราะมั่นใจว่าจะคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ ได้ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเชีย ต้องเผชิญกับภาวะทุนต่างชาติไหลออกอย่างหนัก เพราะแห่กันไปถือครองพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงิน ราคาสินทรัพย์ รวมไปถึงตลาดหุ้น ระส่ำต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้คือปรากฏการณ์การต่อสู้ช่วงชิงการนำในตลาดการเงินโลกอย่างดูเดือดระหว่าง มหาอำนาจเก่าเปโตรดอลลาร์ กับมหาอำนาจหลายขั้วผู้ท้าทายใหม่ทั้งเปโตรหยวนและเปโตรรูเบิล แต่วันนี้ที่ยังแข็งค่าสู้ดอลลาร์มีแต่รูเบิลเท่านั้น หลายฝ่ายหวั่นว่าภาคการเงินของเอเชียแกร่งพอรับมือหรือไม่?
ประเด็นร้อนนี้ทางเพจสาธารณะ World Maker โพสต์ไว้น่าสนใจว่า
ล่าสุดทิศทางค่าเงินโลกยังคงอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ ! ค่าเงินของประเทศในแถบเอเชียร่วงอย่างรวดเร็วยกแผง ! หลายประเทศเผชิญภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งรวมถึงประเทศในเขตอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา อินเดีย ญี่ปุ่น จีน หรือรัสเซีย แต่รูเบิลของรัสเซียนั้นแข็งค่ากว่าดอลลาร์ เพราะรัสเซียประกาศใช้ระบบใหม่ไปแล้ว
แมนซูร์ โมหิอัดดิน(Mansoor Mohi-uddin) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารสิงคโปร์ (Bank of Singapore Ltd) ให้ความเห็นเอาไว้ว่า : ตอนนี้ธนาคารกลางในเอเชียเริ่มกังวลเกี่ยวกับสกุลเงินที่อ่อนค่าลง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น พร้อมกับเตือนว่า ระวังการแทรกแซงค่าเงินไม่น่าจะได้ผล ในขณะที่ FED ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก
เรามาดูกันว่าตอนนี้แต่ละประเทศ/เมืองมีนโยบายอะไรในการประคองค่าเงินบ้าง !
- ประเทศจีน
ล่าสุด PBOC หรือธนาคารชาติฯของจีน ได้ให้คำมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพในตลาด Forex ของประเทศ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนเทียบกับดอลลาร์ ! แต่ยังไม่มีการใช้ทุนสำรองมาปะคองค่าเงิน เพียงแค่ให้การอ่อนค่าหรือแข็งค่าเป็นไปแบบไม่รุนแรงเท่านั้น
- อินเดีย
ล่าสุด RBI ธนาคารชาติฯแห่งอินเดีย แสดงความกังวลที่ค่อนข้างชัดเจน แต่ก็กล่าวว่าจะประคองค่าเงินด้วยทุนสำรองเพียงจำกัดเท่านั้น หมายความว่าในท้ายที่สุดจะยอมให้รูปีเป็นไปตามกระแสโลก เพียงแค่มีเป้าหมายเดียวกับจีนคือเพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบ ‘ค่อยเป็นค่อยไป’
- ญี่ปุ่น
ล่าสุด BOJ ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรญี่ปุ่นแบบ Unlimited เพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ไม่ให้สูงไปกว่า 0.25% เนื่องจากจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันธนาคารกลางก็ได้แสดงความกังวลใจถึงการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินเยน แต่ถึงกระนั้นก็กล่าวในอีกแง่หนึ่งว่าการปล่อยให้เงินเยนอ่อนค่าลงไปอีก จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งสรุปเลยก็คือดูเหมือนว่า BOJ จะแสดงความกังวลแต่ก็ยังยอมให้เงินเยนอ่อนค่าต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจบางส่วน
- ไต้หวัน ฮ่องกง
ธนาคารกลางของไต้หวันกล่าวว่ายังสามารถบรรเทาความผันผวนในตลาดสกุลเงินของตัวเองได้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการเทขายหุ้นจากต่างชาติ ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์ไต้หวันร่วงลง -7% แล้วในปีนี้ สถานการณ์โดยรวมยังต้องจับตามอง เพราะยังไม่มีการ Take Action อย่างจริงจัง
ส่วนในฮ่องกง ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงที่ผูกอยู่กับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตรง ก็ได้อ่อนค่าลง ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายทางการเงินประกาศว่าอาจจะออกมาตรการประการประคองค่าเงินเพื่อให้ยังคงอยู่ใน Trading Range ที่รับได้ แต่โดยรวมแล้วแนวทางยังไม่ชัดเจนเช่นกัน ดังนั้นต้องจับตามองกันต่อไป
- เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศว่ากำลังติดตามสถานการร์ของตลาดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างใกล้ชิด พร้อมเพิ่มระดับความตื่นตัว (Alert Level) และกล่าวว่าจะเริ่มใช้มาตรการที่เข้มข้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดในทันทีที่จำเป็น
สำหรับอินโดนีเซีย ล่าสุดหุ้นและพันธบัตรเผชิญการเทขายหนักสุดในรอบหลายปีในวันจันทร์ กระตุ้นให้ธนาคารกลางออกมาประกาศว่า “มีความมุ่งมั่น” ที่จะเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหากจำเป็น
ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวล่าสุดของเหล่าธนาคารกลางหลัก ๆ ในเอเชีย ! ซึ่งเราจะต้องมาติดตามกันอย่างใกล้ชิดเลยทีเดียวว่าความพยายามทั้งหมดนี้จะชะลอการอ่อนค่าของสกุลเงินทั่วโลกได้มากน้อยแค่ไหน ?
เพราะตราบใดที่ FED ยังขึ้นดอกเบี้ย แล้วธนาคารกลางเหล่านี้ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม ก็มีโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลกลับไปสู่ดอลลาร์มากขึ้น เนื่องจาก Bond Yield ของสหรัฐฯ จะยิ่งตีตัวออกห่าง Bond Yield ของพันธบัตรตลาดเกิดใหม่เหล่านี้
ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าประเทศใดในตอนนี้ ก็จะต้องระวังภาวะเงินทุนไหลออกอย่างกระทันหันเอาไว้ให้ดี เพราะไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ แต่การป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ถือเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยเลย !