นักวิชาการทิศทางไทย เสนอแนวทางให้กำไรสลากปีละหมื่นกว่าล้านถึงมือชาวบ้านซะที

0

จากกรณีที่มีการนำเสนอเรื่องปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา มีหลายความคิดเห็นที่เสนอกันมาอย่างต่อเนื่อง จากที่มีการออกสลาก 2 ประเภท คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล และสลากการกุศลที่สามารถออกได้ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่มีการเพิ่มการออกสลากเรื่อยมาจนเป็น 100 ล้านฉบับแล้ว

ทั้งนี้ รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหิดล และประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย ได้ออกมาเขียนบทความไว้ถึงกรณีดังกล่าวอย่างน่าสนใจว่า

ครั้นจะบอกว่ามันผิดตั้งแต่คิดให้มีสิ่งที่เป็นของต้องห้ามตามศีลธรรมอันดีแล้ว และเป็นการพนันไม่กี่ประเภทเท่านั้นที่เมื่อลงทุนเสี่ยงทายไปแล้วและถ้าถูกรางวัลหรือไม่ก็จะไม่ได้ทุนคืน จ่ายปุ๊บเงินหายไปปั๊บถ้าถูกก็จะได้แต่เพียงเงินรางวัลเท่านั้น เพราะถ้าไปเทียบกับการพนันอื่น ๆ เมื่อชนะก็จะจ่ายเงินที่ลงไปกลับมาด้วยไม่เชื่อก็ลองไปถามคนเล่นไพ่และไฮโลดูก็ได้ แต่ถ้าจะพูดเรื่องผิดถูกกันก็คงไม่เหมาะสมนักเพราะอาจมีคนมาหาว่าไม่สร้างสรรค์ ไม่ทันสมัย หัวโบราณ เขาไปถึงไหนกันแล้ว

เอาเป็นว่าประเด็นนี้ขอข้ามไปให้เป็นไปตามที่มีมาจากประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกว่าต้นตอนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2417 โดยมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ ในปี พ.ศ.2482 ดังนั้นจึงไม่ควรไปฟื้นฝอยหาตะเข็บแต่อย่างใด สิ่งที่ดีกว่าก็คือตอนนี้ต้องมาคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรมากกว่าเพื่อไม่ไห้สลากฯ ขายเกินราคา

ชาวบ้านร้านตลาดต่างงงมานานแสนนานว่าทำไมจะทำให้กระดาษที่ใช้หมึกพิมพ์ออกมาและรายได้ก็กินแบ่งรัฐบาลอยู่แล้วจะทำให้ราคามันขายไม่เกิน 80 บาทตามข้อกฎหมายไม่ได้ เพราะสามารถออกกฎหมายมากำหนดการกินแบ่งจากรายได้ที่ขายมาเป็นส่วนของรางวัลได้อยู่แล้ว ซึ่งพิจารณาข้อกฎหมายก็กำหนดไว้ชัดในมาตรา 22 ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ที่กำหนดให้เป็นเงินรางวัล 60% เป็นรายได้แผ่นดิน 20% ค่าใช้จ่ายในการจัดการ 17% เป็นกองทุนพัฒนาสังคมอีก 3%

ชาวบ้านก็เลยอาจคิดง่ายๆ ว่าถ้าขายมา 60 บาทไม่ใช่ 70.40 บาทที่เป็นราคาออกจากสำนักงานสลากฯในปัจจุบัน ก็ทำให้ขายกันไม่เกิน 80 บาทอย่างแน่นอน แต่นี่ก็เป็นการคิดแบบชาวบ้านร้านตลาด ถ้าจะคิดให้แก้ปัญหาแบบนี้หลายคนก็คงหัวเราะเยาะอย่างแน่นอน

กำไร จาก 70.40 เมื่อออกจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้วถูกบังคับราคาขายไม่เกิน 80 บาท แสดงว่ากำไรสูงสุดที่สามารถทำได้จากการค้าการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทำได้ไม่เกิน 9.60 บาทต่อฉบับ ซึ่งก็เป็นเงินไม่น้อย หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่าสัดส่วนกำไรร้อยละ 12 ขนาดนี้ไม่ธรรมดาทีเดียว เพราะทำให้มีส่วนต่าง ถึงเกือบพันล้านจากการมีกำไรที่กระจายไปในการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือเกือบสองพันล้านบาทต่อเดือน ถ้าเทียบเป็นปีก็ประมาณ 11,000 กว่าล้านบาท มันจึงน่าสนใจต่อการทำมาค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเหมือนกัน

แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อาจต้องรับภาระในการขายไม่หมด เสี่ยงเก็บเอาไว้ลุ้นเอง ทำให้คนหาเช้ากินค่ำที่มาขายบางงวดขาดทุนก็มี แต่ปัญหาที่สำคัญที่ยิ่งแก้ก็ยิ่งมากขึ้นคือการจัดสรรโควตาที่ไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็นได้ “คนได้รับจัดสรรโควตาไม่ใช่คนขาย คนขายไม่ใช่คนที่ได้รับจัดสรรโควตา” เมื่อเป็นเช่นนี้จึงหลีกหนีคำว่า “พ่อค้าคนกลาง” ไม่ได้อยู่ดี

วาระของการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการต้องทำทันที ทำเดี๋ยวนี้ ผอ.สำนักงานสลากฯ ถ้าทำไม่ได้ก็ให้ออกไป แต่งตั้งตำรวจชุดปฏิบัติการเรื่องนี้เป็นการเฉพาะถ้าทำได้ก็มีโอกาสให้ขึ้นตำแหน่งกันไปหรืออาจไปเป็น ผบ.ตร. กันเลย เอากันขนาดนี้ให้มันรู้ไปว่าจะแก้ไม่ได้ ที่ผ่านมาสมัยรัฐตำรวจอย่าให้ต้องบอกว่าอยู่ในสมัยการมีอำนาจทางการเมืองของใคร เอาตำรวจมาคุมทุกที่ โดยเฉพาะสำนักงานสลากฯ เป็นแหล่งเงินสำคัญของรัฐบาลไปเสียอย่างหน้าด้านๆ ตำรวจที่คุมสำนักงานสลากฯ ก็ไม่มีตำรวจคนไหนกล้าแตะ มันหมักหมมมานานหลายคนรู้อยู่แก่ใจ

แต่ถ้ากำไรในการค้าขายมากขนาดนี้และให้ลงถึงผู้ขายที่เป็นประชาชน คนขายธรรมดา ชาวบ้านร้านตลาดจริง ๆ ก็คงจะดีมาก แต่ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากกำไรนี้ มีคนรวยจากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกี่คน แต่คนที่ต้องตากแดดหน้าดำ ขายสลากฯ และสลากฯ ที่ได้มาก็ราคาแพง ยังต้องแบกรับกับเลขที่ขายยากอีก เช่น เลขที่ออกเมื่องวดก่อน เลขเบิ้ลหรือเลขคู่ เลขตอง ซึ่งอาจมีอยู่บางทีถึง 1 ใน 10 ที่จะขาย

การจัดการสลากฯ ควรมีการประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้ประชาชนเจ้าของประเทศรับทราบบ้างในแต่ละเดือนว่ามีโควตาทั้งหมดเท่าไร สถิติที่มารับ หรือที่ไม่มารับปล่อยให้เป็นภาระของสำนักงานสลากฯ ต้องหาคนอื่นมาขายแทน มีตัวเลขเท่าไหร่อย่างไรบ้าง และรวมถึงให้มีการศึกษาในเชิงลึกเพื่อนำข้อมูลมาจัดทำเป็นสารสนเทศให้นักวิชาการและคนทั่วไปได้เห็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงอย่างโปร่งใส อย่าปล่อยให้ประชาชนสงสัยอยู่เลยว่าในการพิมพ์สลากออกมาตกลงมีการจัดพิมพ์กี่ล้านฉบับกันแน่

โควตาสลากที่มีมาตั้งแต่ปี 2518 มันมีการปรับปรุงโควตาอย่างไร มีผู้ค้าแต่ละกลุ่มมีอยู่กี่ล้านฉบับกันแน่ โควตามีสถิติ การขายหมดจากมือสำนักงานสลากวันไหน มีการรวบรวมการกระทำผิดอะไรบ้างอย่างไร แถลงมาบ้างชาวบ้านเขาจะได้เข้าใจว่าเงินแต่ละงวดมันเป็นอย่างไร การจัดการเรื่องสลากฯ เป็นอย่างไร

ตรงไหนเป็นการดำเนินการตามที่กำหนด เช่น จำนวนโควตา จำนวนเล่มที่จะได้รับจัดสรร ส่วนราคาที่กำหนดจากการรับฟังตอนที่ทำ “Road Map การจัดสรรสลากอย่างยั่งยืน” ก็เห็นพ้องต้องกันว่า ราคาขาย 80 บาท เป็นราคาที่ทุกฝ่ายมีความพอใจ การดำเนินการตาม พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 โดยมีมาตราต่าง ๆ กำหนดไว้ โดยเฉพาะ มาตรา 39 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้และยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่งต้องระวางโทษ…”

อธิบายมาเสียยาวแต่เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อขออนุญาตเสนอความคิดเห็นไปยังผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรื่องนี้ว่า สิ่งที่จะควรต้องดำเนินการนั้นที่สำคัญ คือ

-จัดทำเรื่องนี้โดยนำเนื้อหาจาก  “Road Map การจัดสรรสลากอย่างยั่งยืน” ที่เคยทำมาหลายระยะออกมาตีแผ่เพื่อระดมความคิดเห็นอย่างจริงจัง

-กระจายอำนาจสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทุกจังหวัด กรุงเทพมหานครในทุกเขต ให้แต่ละจังหวัดมีสำนักงาน บุคลากรของตนเอง โดยใช้เงิน ค่าใช้จ่ายในการจัดการ 17% ที่ไม่เป็นการรวมศูนย์ ไม่พอก็เพิ่มงบประมาณจากส่วนอื่นลงไปให้พอเพื่อแก้ปัญหา ให้มีผู้อำนวยการศูนย์ที่ประจำแต่ละศูนย์หรือแต่ละจังหวัดให้จัดการเรื่องโควตาของแต่ละศูนย์ แต่ละจังหวัด ที่มุ่งให้ผู้ขายจริงได้โควตา และมีการอกตรวจแบบนายตรวจบนรถเมล์ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อจัดเก็บข้อมูลและตรวจตราการขายสลากจริงของผู้ได้รับโควตาในแต่ละจังหวัด

-ต้องให้ประชาชน ชาวบ้านร้านตลาดจองโควตาที่กำหนดให้แต่ละรายแต่ละแผงซึ่งผ่านการสำรวจขึ้นทะเบียนที่ชัดเจนโดยอาจมีจำนวนแตกต่างกันไปตามขนาดของแผงขายได้อยู่ที่มีข้อกำหนดต่อไปของศูนย์ย่อยแตละเขตหรือแต่ละจังหวัด ให้เรียบร้อยในแต่ละงวดถ้าหมดก่อนไม่ต้องแบ่งให้ใครอีก ถ้าเหลือก็จะประกาศให้คนที่ขายมีการจองเพิ่มจากคนอื่น ๆ ที่อยู่นอกโควตาได้ ถ้าไม่ขายจริงก็ไม่ต้องให้ ส่วนที่เป็นของผู้พิการก็มีการจัดสรรที่มีการตรวจโควตาอย่างจริงจังและให้ได้อย่างทั่วถึง

-คนที่ไม่ขายจริง หรือทำผิดกติกา ข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติของผู้ขายสลาก ถ้าจะยกเลิกโควตาก็ทำอย่างจริงจัง ถูกต้อง และให้มีผลจริง

-ประกาศนโยบายให้ชัด คนที่จะมาใช้โควตาต้องเป็นประชาชนคนที่จะขายเท่านั้น และให้สำนักงานที่กระจายอำนาจออกไปทำการตลาดเพื่อสร้างโลจิสติกส์ของสลากฯ แต่ละงวดให้หมดอย่างรวดเร็วถึงมือผู้ขาย กระจายถึงผู้ซื้อในราคา 80 บาทเท่านั้น ถ้าจังหวัดไหน เขตไหนทำไม่ได้ก็ให้คนอื่นขึ้นมาทำหน้าที่แทน

เมื่อดำเนินการเช่นนี้แล้ว ให้มันรู้ไปว่า สลากฯ จะมีราคาเกินกว่า 80 บาทอีก เอาผิดให้ถึงที่สุดกับการขายเกินราคา และที่แน่ๆ ท่านกำลังให้คนได้มีงานทำมีเงินใช้ในครอบครัวของคนขายจริง มีแผงที่เลี้ยงตนเองและครวบครัวได้จริง ไม่ต้องคอยหลบหลีกกฎหมายจากการขายเกินราคา และต้องไม่ให้รับโควตามาแล้วไปขายต่อ ส่วนคนขายที่มีก็พูดภาษาไทยได้น้อยลงทุกวัน เหลือแต่คนต่างด้าวจำนวนมากที่ต้องเร่ขายกันอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนกำไรมหาศาลที่มีถึงหมื่นกว่าล้านต่อปีจะได้ถึงมือชาวบ้านซะที