จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในปัจจุบัน หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานพยาบาลที่รองรับผู้ติดเชื้อ ซึ่งก่อนหน้านี้เกิดวิกฤติเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยหลายแห่งด้วยกัน เพื่อเป็นหนึ่งทางที่ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ
ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้สั่งการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 95 เตียง และล่าสุดยังได้มีนโยบายต่อเนื่องให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมที่บางมด เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเริ่มเปิดให้บริการไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ด้านนายแพทย์เกรียงไกร ตั้งจิตรมณีศักดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลได้พิจารณาปรับปรุงสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติบางมด ให้กลายเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลเอราวัณ 3 ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 400 เตียง โดยสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ รับผู้ป่วยอาการน้อย และผู้ป่วยที่ไม่มีอาการของเชื้อโควิด เพื่อให้แพทย์ดูแลและรักษาตามอาการของผู้ป่วย
“ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ก็จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสนามเข้าสู่โรงพยาบาลหลัก และรักษาทางการแพทย์ต่อไป ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น นอกจากต้องจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอแล้ว อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็สำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากท่านที่มีความประสงค์จะบริจาคก็สามารถติดต่อมาที่โรงพยาบาลได้เช่นกัน”
ขณะที่ นายบุญยิ่ง เจริญฐิติวงศ์ ศิษย์เก่าหลักสูตรสถาบันวิทยาการผู้นำไทย-จีน รุ่นที่ 3 (วทจ. 3) และประธาน CSR เปิดเผยว่า เราได้บริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบางมด เป็นเงินทั้งสิ้น 724,000 บาท โดยรวบรวมเงินสมทบทุนจากทั้งเพื่อนๆ ศิษย์ เก่า วทจ. รุ่น 3 เป็นเงิน 524,000 บาท และ รุ่นพี่ วทจ. รุ่น 1 ซึ่งยังคงสานสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นเสมอมา เป็นเงิน 200,000 บาท ทางรุ่นจึงนำเงินที่ได้ไปซื้อเป็นเครื่องนอน ผ้าห่ม ผ้าปูเตียง หมอน ปลอกหมอน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเพื่อมอบให้รพ.สนามได้ใช้ด้วย นอกจากนี้ ส่วนตัวยังได้ขอความอนุเคราะห์จาก SCG เพื่อขอแคปซูลสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักให้แก่โรงพยาบาลเพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากนี้ นายพีรพล วรยศศรี ศิษย์เก่า วทจ. 3 และเลขานุการรุ่นที่ 3 ได้เปิดใจว่า ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าที่สถาบันผู้นำไทย-จีน รู้สึกดีใจที่มีโอกาสตอบแทนสังคมเช่นนี้ จริงๆ แล้วหลักสูตรวิทยาการผู้นำไทย-จีน นั้นมีความทันสมัยค่อนข้างมาก ที่สำคัญสิ่งหนึ่งเราได้มากกว่าการเรียนคือการที่ได้มาพบเพื่อนจากหลากหลายวงการ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็นต่างๆ ร่วมกัน และสามารถทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรรณราย แสงวิเชียร ผู้อำนวยการหลักสูตรสถาบันวิทยาการผู้นำไทย-จีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า วันนี้รู้สึกดีใจ ที่มีโอกาสได้เป็นสะพานบุญในการช่วยเหลือสังคม และยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่จบจากสถาบันไปแล้ว ยังคนรักษาสัมพันธภาพ และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้เป็นอย่างดี สำหรับหลักสูตรวิทยาการผู้นำไทยจีน มีการเรียนการสอน 2 ระดับ คือ ระดับผู้บริหารระดับสูงกับ new generation
“สำหรับผู้บริหารระดับสูงได้เปิดมา 3 รุ่นแล้วขณะนี้กำลังรอที่จะเปิดรุ่นที่ 4 เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 เราคาดว่าน่าจะเปิดดำเนินการศึกษาได้ในเดือนกรกฎาคม ส่วนหลักสูตรในระดับของ new generation ปีนี้เราได้เปิดจบไปแล้ว 1 รุ่น และอยู่ระหว่างศึกษารุ่นที่ 2 คาดว่าจะจบภายในเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นจึงจะเปิดรับรุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้ โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดต่างๆ ได้ทาง https://www.hcu.ac.th/tcl/ หรือแฟนเพจ สถาบันวิทยาการผู้นำไทย-จีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ”