คลังให้เชื่อ AI เพราะปราศจากความห็นส่วนตัว???ลงทะเบียนพุ่งกว่า22ล้านคนแล้ว

0

จากกรณีที่กระทรวงการคลังโดยนายอุตตม สาวนายน และในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้รับผลกระทบการโควิด-19 โดยลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5พัน ต่อมาได้เกิดคำถามถึงระบบคัดกรองตรวจสอบที่มีการนำไอเอเข้ามาจะทำงานได้จริงหรือไม่???

 

ต่อมา 1 เม.ย.63  นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่มีผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เสร็จสมบูรณ์แล้ว ได้สอบถามเข้ามาถึงเรื่องขอแก้ไขการลงทะเบียนได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเตรียมให้ผู้ที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา สามารถแก้ไขข้อมูลส่วนตัวที่ถูกต้อง หรือแจ้งยกเลิกการขอรับเงินเยียวยาผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ และคาดว่าภายในเสาร์หรืออาทิตย์นี้​ เว็บไซต์ดังกล่าวจะเปิดให้ผู้ลงทะเบียนเข้ามาแก้ไขได้

 

กระทรวงการคลังกับธนาคารกรุงไทย กำลังหารือกันว่า จะหาทางแก้ไขในเว็บไซต์เพื่อเปิดโอกาสให้กรณีผู้ที่ลงทะเบียนมีความผิดพลาดในแง่ข้อมูลสามารถเข้าไปแก้ไขหรือยกเลิกการรับเงินเยียวยา กรณีที่คุณสมบัติไม่ตรงตามที่รัฐบาลกำหนด เพราะบางคนอาจลงข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือบางคนอาจได้งานแล้ว เพราะเงื่อนไขการลงทะเบียนกำหนดชัดเจนว่าหากแจ้งข้อมูลเท็จ อาจมีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายแพ่ง และอาญาได้” นายลวรณ กล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าข่ายการได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จะต้องมีคุณสมบัติตามกระทรวงการคลังกำหนดไว้ คือ 1) เป็นแรงงาน ลูกจ้าง หรือประกอบอาชีพอิสระ เช่น วินมอไซต์ แท็กซี่ ค้าขาย เป็นต้น 2) จะต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคม นอกจากกลุ่มคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40 3) และที่สำคัญคือจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จริง

 

หลังจากนั้น นายลวรณ ยังเปิดเผยอีกว่า ยอดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ที่เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 28 มีนาคม 2563 ตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไป ล่าสุด วันนี้ (1 มี.ค.63) ณ เวลา 18.00 น. มียอดผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 22.5 ล้านคน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดกรองจำนวนผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา ยังไม่ทราบว่าจะเป็นเท่าใด แต่ขอยืนยันว่าทุกคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์จะได้รับการเยียวยาครบทุกคน

 

ทั้งนี้ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้สามารถเกลี่ยเงินในวงเงิน 45,000 ล้านบาทได้นั้น หมายความว่า ถ้าสมมติเดือนที่ 1 (เมษายน) มียอดต้องจ่ายสูงกว่า 15,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังก็สามารถนำเงินของเดือนที่ 2 และ 3 มาใช้ก่อนได้ และกระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.พิจารณาจัดสรรเงินเพิ่มเติมสำหรับยอดที่ต้องจ่ายของเดือนที่ 2 และ 3 ต่อไป เนื่องจากเดิมครม.อนุมัติเงินให้มาตรการเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 45,000 ล้านบาทสำหรับ 3 เดือน คือ เดือนละ 15,000 ล้านบาท

 

ล่าสุดวันนี้ (2 เม.ย.63) นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่มีผู้เข้ายื่นขอรับเงินเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จำนวนกว่า 22 ล้านรายในขณะนี้ ทำให้เกิดกระแสวิตกกังวลในหมู่ประชาชนถึงกระบวนการตรวจสอบสิทธิ์ว่า AI จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด และจะมีช่องว่างให้ผู้ที่เดือดร้อนจริงถูกปฏิเสธการได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ตนขอให้ประชาชนมั่นใจว่า การตรวจสอบแม้จะมีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มามีส่วนร่วม แต่ก็มีความเข้มข้นและครอบคลุมทุกมิติ เพราะนอกเหนือจาก AI การตรวจสอบสิทธิ์ในครั้งนี้กระทรวงการคลังยังใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ทั้งระบบคลังจังหวัด เครือข่ายธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 10 แห่ง รวมถึงในข้อกำหนดการรับสิทธิ์ก็ยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า กระทรวงการคลังสามารถเรียกหลักฐานเพิ่มเติมได้กรณีมีข้อมูลไม่ชัดเจน

 

นายธนกร กล่าวอีกว่า เราตั้งสมมุติฐานว่า ผู้ที่ยื่นขอรับสิทธิ์ทุกคนมีความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างแท้จริง ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะละเลยความเดือดร้อนของประชาชน ขอเพียงประชาชนให้ข้อมูลที่เป็นจริง และได้รับความเดือดร้อนจริง ย่อมได้รับความเป็นธรรมในการตรวจสอบสิทธิ์แน่นอน อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนสามารถผิดพลาดกันได้ ดังนั้น สำหรับคนที่กรอกข้อมูลผิดพลาด และต้องการจะเปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือยกเลิกการลงทะเบียน ขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้ดูแลระบบกำลังเร่งพิจารณาปรับปรุงระบบการลงทะเบียนให้สามารถยกเลิกหรือแก้ไขข้อมูลได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลงทะเบียนให้มากที่สุด

 

ขณะที่วันเดียวกัน นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอให้ทบทวนมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์เยียวยาเพิ่มอีก 6 ล้านคน รวมเป็น 9 ล้านคน จากเดิมที่ 3 ล้านคน สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 รวมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคมด้วย เพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะได้รับเงินชดเชยรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยเงินชดเชยรายได้ระยะแรกจะถูกนำมาใช้ในเดือนเมษายนจำนวน 45,000 ล้านบาท เงินชดเชยดังกล่าวยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 

สำหรับบุคคลที่จะเข้าเกณฑ์ผู้ประกันตนมาตรา 39 หมายถึง ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่ยังอยากส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือมีเหตุให้ต้องหลุดออกจากงานเดิมแต่ยังต้องการคงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของประกันสังคมไว้ จึงไปสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ส่วนมาตรา 40 คือ เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคมมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ไม่เป็นข้าราชการ หรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม บุคคลพิการที่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม

 

ทั้งนี้นายชาญกฤช กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจในเทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ AI ที่ถูกนำมาใช้ในการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนในเว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อรับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีมากกว่า 22 ล้านคนแล้ว โดยเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ถูกแบรนด์ดังระดับโลกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจ ทั้ง Amazon, Google, Uber, Apple, Netflix และ Facebook เพราะสามารถบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง เมื่อเทียบกับการทำงานของมนุษย์ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาด

 

นอกจากนี้ AI ยังสามารถเรียนรู้ (Machine Learning) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่มีความซับซ้อนได้ด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ธนาคารกรุงไทยเลือกใช้เทคโนโลยี AI เพื่อกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการลงทะเบียนในระบบ โดยวิธีการตอบคำถามที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้ หลังจากนั้นระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตอบคำถามของผู้ลงทะเบียน โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่เลือกและคำถามที่ตอบไว้ ซึ่งตรงนี้ระบบ AI จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดว่าสอดคล้องกับคุณสมบัติที่ทางกระทรวงการคลังระบุไว้หรือไม่ โดยผลที่ได้จะมีความแม่นยำสูง ปราศจากความคิดเห็นส่วนตัว ต่างจากมนุษย์ เพราะระบบ AI จะวิเคราะห์พร้อมประมวลผลข้อมูลและหลักฐานทั้งหมดที่ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้กรอก เพื่อเฟ้นหาผู้ที่เดือดร้อนจริงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และได้รับสิทธิ์เงินเยียวยารายละ 5,000 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563