ด่วน!อย่าให้เสียชีวิตคาบ้านเพราะรอประสานเตียง รศ.ดร.แสงเทียน แนะตั้ง“Super One Stop Service”

0

เป็นที่วิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งกับการแรพ่ระบาดรอบนี้ของเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งได้สร้างความทุกข์ร้อนในหลายๆด้าน โดยเฉพาะเตียงรองรับผู้ป่วย ที่ดูเหมือนว่าเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ โจมตีรัฐบาลว่าไม่มีความพร้อมมากพอนั้น!!!

ล่าสุดวันนี้ (๒๖ เมษายน ๒๕๖๔)  รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชระเบียน มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย ได้นำเสนอบทความ เสนอแนะถึงการรับมือ และหาทางออกเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันไว้ย่างน่าใคร่ครวญยิ่งจากหัวข้อ ตั้ง “Super One Stop Service” ด่วน อย่าให้ตายคาบ้านเพราะรอประสานเตียง

จากกรณีที่มีการระบาดของการติดเชื้อโควิด-๑๙ ในรอบใหม่และทวีความรุนแรงจนเพิ่มผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขยับขึ้นมาอยู่ที่เกือบ ๒๕,๐๐๐ คนแล้วและคาดว่าจะมีคนเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลรอบใหม่นี้มีจำนวนเกินกว่าที่เตียงที่มีอยู่ในประเทศของเราอย่างแน่นอน การดำเนินการเรื่องโรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) และ การปรับที่พักขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม ให้เป็นกึ่งโรงพยาบาล (Hospitel) จึงเป็นเรื่องที่ทุกจังหวัดต้องร่วมกัน แต่เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก และมีผู้ติดเชื้อที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดรอบนี้ก็ยังมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยก็ทำได้จำกัด

เมื่อพิจารณาถึงการระบาดรอบนี้เมื่อเทียบช่วงระยะเวลากับประเทศที่ใช้เทียบเคียงในการระบาดของการติดเชื้อ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ก็จะมีระยะเวลาของการติดเชื้อรอบล่าสุดมาก่อนประเทศไทย เพราะของประเทศไทยสามารถชะลอการระบาดในรอบที่สองมาได้นานจนถึงปลายปี ๒๕๖๓ และมาเจอคลัสเตอร์ใหม่ช่วงก่อนสงกรานต์พอดี เมื่อการล็อคดาวน์ไม่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะจำกัดต่างๆ หลายประการที่ทำให้ทุกฝ่ายลังเล จนทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ที่แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของการติดเชื้อใหม่ที่เฉลี่ย ๗ วันเทียบต่อล้านคนในประเทศ นำมาพิจารณาในการระบาดรอบล่าสุดได้ข้อมูลดังนี้

และหลังจากนั้น อีก ๓๐ วัน คือวันที่ ๒๖ มี.ค.๖๔ ที่ญี่ปุ่นก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก ที่เกาหลีใต้อีก ๖๕ วัน คือวันที่ ๑ เม.ย. ๖๔ ถึงจะเพิ่มอีก ส่วนมี่ มาเลเซียใช้เวลาอีก ๒๐ วันเท่านั้นคือวันที่ ๒๑ มี.ค. ก็เพิ่มขึ้นอีก เมื่อพิจารณาเช่นนี้จะเห็นว่าต้องใช้เวลาเฉลี่ยถึง ๕๒ วันหรือเกือบ ๒ เดือนจึงจะถึงจุดสูงสุดของการระบาดในรอบล่าสุด และต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือนกว่าจะลดลงกลับมาให้มีจำนวนเท่าเดิม จึงใช้เวลานานมาก และถ้าเป็นแบบนี้ประเทศไทยจะต้องตกอยู่ในวิกฤติอย่างมาก แต่ก็มีปัจจัยอื่นที่เป็นบวกเพิ่มเติมคือการได้รับวัคซีนของประชาชน

แต่เนื่องจากต้องใช้เวลาพอสมควรในการให้วัคซีนให้ได้จำนวนมากพอ จึงต้องใช้มาตรการสูงสุดในการควบคุมการระบาดในรอบนี้เนื่องจากปัจจัยด้านลบมีจำนวนมากทั้งปัจจัยที่เกิดในกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงกลุ่มคนที่มีการเดินทางและพบปะผู้คนจำนวนมากที่ควบคุมยาก

ปัจจัยจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ปัจจัยการเกิดในช่วงก่อนเทศกาลที่ประชาชนเดินทางออกไปจากพื้นที่ต้นตอออกไปทั่วประเทศและไปเยี่ยมเยียนกลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจัยทางการเมืองที่มีความขัดเย้งส่งผลต่อการระวังในการใช้มาตรการเกินไป โดยเฉพาะในประเด็นนี้ที่หลายฝ่ายยังเสียดายอยู่ว่าน่าจะใช้การล็อคดาวน์ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้ปล่อยไปให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการระดับจังหวัดซึ่งก็เอาไม่อยู่ ไหนๆ ก็โดนด่าอยู่แล้วทั้งถ้าไม่ปล่อยให้ไปช่วงสงกรานต์หรือการล็อคดาวน์ หลายฝ่ายจึงเห็นว่าน่าจะล็อคดาวน์ตั้งแต่ตอนนั้นก็โดนด่าครั้งเดียวไม่ต้องถูกต่อว่าซ้ำซ้อนเหมือนขณะนี้

ในสถานการณ์นี้พบว่ามีคนติดเชื้อโควิด-๑๙ ต้องเสียชีวิตที่บ้านเพราะรอประสานเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลต่างๆ และการดำเนินการของศูนย์รับเรื่องก็พบปัญหา การเริ่มมีจดหมายเรียกร้องเปิดผนึกจากกลุ่มแพทย์ การล่ารายชื่อเพื่อกดดันให้รัฐมนตรีด้านสาธารณสุขของประเทศลาออก  และจะต้องเกิดขึ้นอีกมากมายซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหาจากการบริหารจัดการในการประสานงานเกี่ยวกับเรื่องนำผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในโรงพยาบาลจริง แต่เนื่องจากคนที่ติดเชื้อรอเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมีจำนวนมากและกำลังจะมีแนวโน้มที่จะถึง ๓-๕ หมื่นคนในเร็ววันนี้ ก็ต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะบริหารจัดการให้ดี และภาวนาว่ามาตรการที่จะใช้ต้องสูงสุดเพื่อหยุดคนที่จะต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลให้อยู่ที่ไม่เกิน ๔ หมื่นคนเท่านั้น

การบูรณาการด้วยการจัดตั้ง ศบค. คือรูปแบบที่ดีมากอยู่แล้ว และการกระจายอำนาจไปสู่จังหวัดให้มีอำนาจในการจัดการแบบ ศบค.ในระดับจังหวัดเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้ว การที่นายกรัฐมนตรีรับฟังอาจารย์แพทย์ โดยเฉพาะมีคนที่มีศักยภาพสูง อย่างอาจารย์หมอ ท่านศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร และคณะอาจารย์แพทย์เป็นทีมนำก็ดีที่สุดแล้ว แต่ปัญหาคือการประสานงานที่รัฐต้องดำเนินการเพิ่มเติม

คือ การบริหารจัดการเรื่อง One Stop Service ในการประสานนำผู้ติดเชื้อมารักษาในโรงพยาบาล ที่จะต้องเป็น การบูรณาการอย่างจริงจังทั้งกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย กลาโหม ๓ กระทรวงหลัก โดยมี อว. กระทรวงที่ดูแลมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลื้ยง และหน่วยงานของสำนักนายกที่จะต้องยกพลเพื่อเป็นกลุ่มทำงานใหม่ สนับสนุนโดยมี ศบค. เป็นหน่วยนำ ซึ่งถ้าบอกว่ามีแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหาต้องทำใหม่ ให้เป็น “Super One Stop Service” ซึ่งมี ๘ หน่วยงานหลักที่ทำ MOU ในเรื่อง One Health (สุขภาพหนึ่งเดียว) อยู่แล้วต้องนำมาใช้ ที่ต้องมีการรวบรวมการสื่อสารทุกรูปแบบมาใช้

มีการอัพเดทสถานที่ เตียงที่จะรักษา พาหนะที่จะใช้ จำนวนยา เครื่องมือการตรวจ เครื่องมือที่จะใช้ในการรักษา และที่ใดที่ตรวจหาเชื้อถ้าพบว่าติดเชื้อไม่ต้องประสานหาเตียงเอง เพียงแจ้งเข้ามาที่ Super One Stop Service และศูนย์นี้จะต้องเข้ามามีบทบาทในการที่จะต้องดำเนินการต่อเองให้เสร็จสิ้น พร้อมส่งข้อมูลเพื่อประชาสัมพันธ์โดย ศบค. อย่าให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองนำมาเป็นประเด็น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีบุคลากรทางการแพทย์บางกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมืองด้วยอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง แต่อย่าให้กลุ่มส่วนใหญ่ที่เคยสนับสนุนจะกลับมาร่วมวงไปด้วยเลย รีบดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียเถอะ อย่าช้าไม่เช่นนั้นประเทศเราจะแย่จากรอบนี้แน่