ดร.แสงเทียน ดึงสติ เจษฎา เร่งเปิดเรียน ไม่ใช่แค่เด็ก ยังมีคนอื่น ๆ มารร. ชี้คุมยาก หากเสี่ยงขยับไปต้นมีนา

0

นักวิชาการเรียนร้องให้เปิดโรงเรียนจากมาตรการควบคุมโควิด “คิดให้ดี” รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา อาจารย์ด้านเวชระเบียน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย (27 มกราคม 2564)

จากกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็น ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ และรวมถึงนักวิชาการอีกบางท่านให้ความคิดเห็นในการให้โรงเรียนไม่จำเป็นต้องควบคุมตามมาตรการเข้มงวดในการป้องกกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพราะอาจเป็นการเสียโอกาสทางการศึกษา

โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจากการปิดโรงเรียน และจะมีนักเรียนที่จะเสียโอกาสทางการศึกษา ในมุมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นห่วงในเรื่องการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา ในทั่วประเทศคงไม่มีใครไปคัดค้านอะไรเพราะทุกฝ่ายก็เป็นห่วงเหมือนกันหมด

แต่มุมมองต่อการไม่ให้กลัวโควิด-19 ในขณะที่มีการเสียชีวิตของคนทั่วโลกมากถึง 2 ล้านกว่าคนก็คงจะต่างความคิดกันกับอีกหลายท่าน เพราะการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกมากถึงขนาดนี้ นับเป็นเรื่องเลวร้วยที่สุดของมนุษยชาติทีเดียว  การมีมาตรการที่เข้มข้นก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการโดยมิสามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าต้องการควบคุมการระบาดของเชื่อไวรัสร้ายนี้ การขยับขึ้นไปของการติดเชื้อในประเทศที่มียอดสะสมทะลุหนึ่งหมื่นห้าพันกว่าคน โดยมียอดของผู้ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมมากถึงเกือบหนึ่งล้านคนแล้ว และมีรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเกือบหนึ่งหมื่นห้าพันคน เช่น ในวันที่ 27 มกราคม 2564 มีถึง 13,968 คน การปิดสถานศึกษาจึงยังคงต้องดำเนินการอยู่อย่างเข้มงวด

เพราะสถานศึกษาในประเทศไทยไม่ได้เป็นองค์กรที่สามารถปิดเพื่อควบคุมได้ ยกเว้นในสถานศึกษาที่สามารถให้นักศึกษาพักค้างอาศัยอยู่ในหอพักทุกคนโดยมีมาตรการเข้มข้นต่อการเข้าออกของคนที่เกียวข้อง ก็อาจที่จะผ่อนคลายมาตรการได้ แต่สถานศึกษาในความเป็นจริงทุกคนก็ทราบดีว่าไม่สามารถดำเนินการอย่างนั้นได้

การที่หลายประเทศปิดสถานศึกษา ของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพราะทุกประเทศเหล่านั้นรู้ดีว่าโรงเรียนและสถานศึกษา เมื่อเปิดเรียนแล้วไม่ใช่เพียงนักเรียนที่จะต้องเดินทางเข้าไปเพื่อรวมกันเรียนจากการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ในห้องเรียน แต่ก็ยังมีส่วนอื่น ๆ ของสังคมที่วุ่นวายสับสนในการเปิดเรียนด้วยเช่นกัน ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง รถรับส่ง โรงอาหาร อื่นๆ อีกสารพัด อันมิอาจควบคุมการแพร่ระบาดได้ง่ายๆ ถ้าจะอ้างสถิติของการติดเชื้อในกลุ่มนักเรียนนั้นมีสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มผู้ใหญ่โดยทั่วไป ก็เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลนักจากการที่จะให้เร่งเปิดโรงเรียนและสถานศึกษา เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะต้องเดินทาง ความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นจากการเปิดโรงเรียนจึงมีมากมาย และที่สำคัญกลุ่มนักเรียนก็พร้อมที่จะแพร่กระจายของโรคไปสู่คนในครอบครัว ยากที่จะควบคุม

ระยะเวลาในช่วงคาบเกี่ยวนี้อาจต้องรอดูผลเป็นระยะไป จากผลการวิเคราะห์ที่ผ่านมาก็ระบุชัดว่าการเปลี่ยนแปลงมาตรการต้องดูผลในช่วงสิ้นเดือนมกราคมซึ่งก็ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ผลการวิเคราะห์ก็ชี้ไปอีก 2 ช่วงจากรูปแบบและระยะเวลาของการระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศต่างๆ เป็นต้นแบบ ซึ่งช่วงต่อไปก็จะเป็นช่วงกลางกุมภาพันธ์ ดังนั้นในช่วงกลางกุมภาพันธ์ 2564 นี้อาจต้องนำข้อมูลมาพิจารณาอย่างละเอียดในการผ่อนคลายมาตรการ เพราะถ้ารีบร้อนไปที่ทำมาก็จะเสียไปฟรีๆ อันมิอาจประมาณค่าได้ เมื่อพิจารณารอบกลางเดือนกุมภาพันธ์แล้วสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงก็คงต้องเป็นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม ซึ่งตามการวิเคราะห์แล้วก็คาดว่าน่าจะคลายมาตรการควบคุมได้และเป็นช่วงที่เข้าสู่การเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศสำหรับกลุ่มผู้ให้บริการทางการแพทย์และทยอยไปยังกลุ่มต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและเริ่มครอบคลุมกลุ่มคนต่างๆ ในพื้นที่ทั่วโลกมากขึ้น การจะลดมาตรการของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยก็จะมีมากขึ้น

การปิดโรงเรียน ทุกคน ทุกฝ่ายเข้าใจว่ามีผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่การเสียชีวิตไปสองล้านกว่าคนจากทั่วโลกก็มิอาจจะลดมาตรการในช่วงที่มีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรอบที่สองในประเทศไทยได้ การปิดโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่หนึ่งที่เป็นที่มาของการสัญจร กิจกรรมต่างๆ ของผู้คนในสังคมหลายกลุ่มนอกเหนือจากนักเรียน นักศึกษา อันอาจเป็นชนวนเหตุของการระบาดในประเทศที่มิอาจหยุดยั้งได้ รออีกนิดให้เริ่มฉีดวัคซีนในกลุ่มสำคัญ และยอดของการติดเชื้อรายใหม่ควบคุมได้ไม่เกิน 50 คนต่อวันก็สามารถผ่อนคลายมาตรการให้เปิดการเรียนการสอนได้อยู่แล้ว ถ้ามีนาคมแล้วยังไม่ลดลงเลยก็อาจต้องหารือร่วมกันอีกที “ใจเย็นๆ…คิดให้ดี อย่าผลีผลาม”

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบไปยังเฟซบุ๊กของ รศ.ดร.เจษฎา พบว่ามีการโพสต์ข้อความระบุดังนี้ รบกวนทุกท่าน ฝากช่วยแชร์จดหมายร้องเรียนของผม ไปให้ถึงนายกฯ ในฐานะ ผอ. ศบค. ด้วยนะครับ กลัวว่าไปยื่นแล้ว มันจะไปไม่ถึง

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564 เรียนท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.

ตามที่ ศบค. กำลังพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้สถานศึกษาต่างๆ ทั้งโรงเรียนในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยในการดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา ว่าจะเปิดดำเนินการได้อีกหรือไม่ ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ โดยมีแนวโน้มว่า จังหวัด 5 จังหวัดอาจจะไม่ได้รับอนุญาต ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาครนั้น

กระผมขอร้องเรียนให้ท่านโปรดพิจารณาบนเอกสารแถลงการณ์ขององค์การยูนิเซฟ (ตามที่แนบมานี้) ซึ่งระบุว่า โรงเรียนและสถานศึกษานั้น จะต้องถูก #ปิด เป็นส่วนสุดท้ายในมาตรการรับมือกับโรคระบาด covid-19 แล้วจะต้องถูก #เปิด ก่อนเป็นอันดับแรกเมื่อเริ่มผ่อนคลาย ไม่ใช่อย่างที่ประเทศไทยเราทำ ที่ปิดโรงเรียนและสถานศึกษาเป็นอย่างแรก และเปิดท้ายสุด

ความจริงแล้ว ศบค. ไม่เคยบอกความจริงกับสังคมไทย ว่าเด็กๆ และเยาวชนนั้น ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงของโรคโควิด-19 พวกเขาติดเชื้อยากกว่าผู้ใหญ่ หรือถ้าติดเชื้อแล้ว ก็ป่วยยากกว่า ป่วยรุนแรงน้อยกว่า แถมยังแพร่เชื้อได้ยากกว่าด้วย

โปรดกรุณาอย่าทำลายอนาคตของเด็กนักเรียน และเยาวชนที่เป็นนิสิตนักศึกษาของไทย ด้วยนโยบายที่หลงทิศหลงทางของ ศบค. และ ให้เด็กและเยาวชนไทยได้กลับไปศึกษาเล่าเรียนที่สถานศึกษาด้วยเถอะครับ (เรียนออนไลน์ไม่ได้ผลหรอกครับ เลวร้ายมาก)