ทำไมครูจึงต้องมาวุ่นวายให้แต่งชุดนักเรียน รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา

0

จากที่รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา ประธานยุทธศาสตร์วิจัย สถาบันทิศทางไทย นำเสนอบทความไว้อย่างน่าพิจารณายิ่ง ด้วยกรณีที่มีการนัดหมายกันไม่สวมชุดนักเรียน ของกลุ่มนักเรียนบางกลุ่มที่เรียกร้องจะใส่ชุดตามสบายในการไปเรียนที่โรงเรียนนั้น

ทั้งนี้ก็มีแนวทางมาจากการเรียกร้องจากกรณี อั้ม เนโกะ ที่เรียกร้องในการให้นักศึกษาไม่จำเป็นต้องแต่งชุดนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชื่อดังมาก่อนหน้านี้ จนได้รับการกล่าวถึวว่าเป็น “คนนอกขนบ” (The101.world, Aug 6,2019) เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เมื่อได้รับการกล่าวถึงอีกรอบจึงขอทำความเข้าใจในมุมมองทางวิชาการอีกด้านหนึ่งเพื่อการศึกษาร่วมกันในเรื่องนี้

ขอทำความเข้าใจกับผู้คนในสังคมให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” (Threefold Training) ซึ่งแปลความหมายว่า การศึกษาหรือการฝึกของมนุษย์นั้นมี ๓ ประการสำคัญคือ ศีล สมาธิ และปัญญา ดังนั้นก่อนที่จะมีการฝึกชีวิตของตนให้มีสมาธิและปัญญาได้นั้นจึงต้องฝึกศีลก่อน “ศีล คือ ความปกติธรรมดา” การกำหนดการปฏิบัติกาย วาจา ใจ ให้ถูกต้องดีงามไม่ผิดระเบียบวินัย เป็นความปกติธรรมดาของสังคมให้เป็นไปตามประชุมชน ให้เป็นไปตามที่ทำให้คนอื่นมีความสบายหู สบายตา สบายใจ ในการดำเนินไปตามปกติธรรมดานั้น

เมื่อได้พิจารณาศีลเทียบเคียงกับการแต่งกายของนักเรียน นักศึกษา จึงเป็นเรื่องที่เข้าได้กับยุคสมัยของการเรียกร้องของการไม่แต่ชุดนักเรียน นักศึกษา ตามที่สังคมได้กำหนดไว้เป็นอย่างยิ่ง การแต่งกายด้วยสิ่งที่ประชุมชนกำหนดไว้จึงเป็นเรื่องของการฝึกกายของนักเรียนแต่ละคนให้เป็นคนอยู่ในความปกติธรรมดา ที่ทำให้ทุกฝ่ายหรือประชุมชนมีความสบายใจ นี่แหละเป็นเรื่องของการฝึกให้กายของนักเรียน นักศึกษา มีศีลตามความหมายของการฝึกตนในขั้นต้นของการฝึกตนที่สำคัญ ๓ ประการตามหลักของไตรสิกขานั่นเอง

การที่ครู ผู้ปกครอง และผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่มองเห็นความสวยงาม ความดีงามของการแต่งกายที่มีระเบียบแบบแผน เพื่อฝึกให้น้องๆ เยาวชนไทยทุกคนมีการฝึกตนเป็นลำดับแรก อันจะนำไปสู่การฝึกตนในเรื่องอื่นๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมและพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่ฝึกได้ง่าย และจะได้ก้าวไปสู่การฝึกสติ สมาธิ และการรับรู้ตามความเป็นจริงของสังคมตามสภาวธรรมหรือตามธรรมชาติที่เรียกว่า “ปัญญา” เมื่อนั้นการพัฒนาความเป็นมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันในสังคมก็จะสงบ สันติ มีแต่การเกื้อกูล เอื้ออาทร เป็นสังคมที่น่าอยู่

นี่แหละคือที่มาของการฝึกให้นักเรียน นักศึกษา อยู่ในกฎระเบียบ แต่งกายด้วยชุดนักเรียน นักศึกษา เพื่อการเคารพตนเอง เคารพผู้อื่นในสังคม ปฏิบัติตนในสังคมให้เป็นปกติธรรมดาในสังคมนั้นๆ ครู อาจารย์ จึงต้องเอาใจใส่ดูแล นักเรียน นักศึกษา ให้ได้ฝึกตนเองในเบื้องต้นเพื่อจะออกไปเป็นคนดีของสังคม อยู่กับกฎกติกาของสังคมได้อย่างเป็นปกติ แม้บางครั้งอาจทำให้นักเรียน นักศึกษา มองว่าครู อาจารย์เหล่านั้นจุ้นจ้าน ล้าหลัง ไม่ทันสมัย เพราะมองว่าการแต่งกายไม่ได้สะท้อนผลการเรียน แต่หน้าที่ของครูมีมากกว่าให้ความรู้ คือ “การอบรมบ่มนิสัย” ศิษย์ทุกคนไปด้วย ไม่ใช่ให้แต่ความรู้เหมือนการเรียนกวดวิชา นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย

การที่ครู อาจารย์ จะปล่อยตามสบาย แต่งชุดอะไรก็ช่าง เป็นอย่างไรก็ช่าง คิดเพียงแต่ว่ามีหน้าที่ให้ความรู้ เฉพาะเรื่องวิชาการเพียงอย่างเดียวก็คงทำได้ไม่ยาก แต่ในโรงเรียนที่มีคนที่มีความเป็นครูนั้นมีมากกว่านั้น นอกจากให้ความรู้ทางวิชาการแล้วก็ต้องให้ความรู้เรื่องชีวิตด้วย และความรู้เรืองชีวิตที่ต้องให้นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้คือ สิ่งที่ต้องศึกษาสำคัญ ๓ ประการ ดังที่กล่าวมา คือ ศีล สมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญาขึ้นในตัวของศิษย์ และการแต่งกายด้วยชุดนักเรียน นักศึกษา ก็เป็นเรื่องของการฝึกเรื่อง ศีล นั่นเอง