เพื่ออนาคตของชาติ!?! นักวิชาการ และนักวิจัยสถาบันทิศทางไทย ร่วมเสนอโมเดล “การลงโทษนักเรียน” ในสถานศึกษา!?!
ในวันที่ 30 ก.ย.63 ทางด้านของ รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา , ดร.สักดิ์สิวรรณ ทรงสิริวรกุล , ชัยศร กำจัดภัย และธกฤต ราชโคตร อาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ ม.มหิดล และนักวิจัยสถาบันทิศทางไทย
ได้เขียนบทวิจัยการนำเสนอในเรื่องของ โมเดล “การลงโทษนักเรียน” ในสถานศึกษา เพื่อสร้างความสุขในห้องเรียน โดยได้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
“การให้รางวัลแม้จะเล็กน้อยแต่ก็สร้างความสุขในห้องเรียนและผู้ที่ไม่ได้รับก็เปรียบเหมือนกับการลงโทษไปในตัวด้วย”
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ ที่มีครูและผู้รับผิดชอบในการเรียนการสอนของนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมีการกระทำที่รุนแรงและการลงโทษนักเรียนด้วยการทำโทษที่รุนแรง อันเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไปในสังคม และเป็นการบั่นทอนความรู้สึกที่ดีของผู้ปกครองและผู้เรียนที่มีต่อครูอาจารย์และสถานศึกษาออกไปในวงกว้าง
นับเป็นเรื่องที่เสื่อมเสียต่อวงการการศึกษาของชาติเป็นอย่างยิ่ง ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อการพัฒนาการศึกษาไทยต่อไปโดยไม่มีสิ่งไม่ดีมาทำลายหรือเป็นอุปสรรคการพัฒนาการศึกษาของคนในชาติ
เมื่อพิจารณาว่าสถานศึกษาควรมีระเบียบกฎเกณฑ์หรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่าในการอยู่ร่วมกันของคนในทุกองค์กรจำเป็นต้องมีทั้ง ๓ ระดับคือ ๑) ระเบียบกฎเกณฑ์ ข้อกำหนดในการอยู่ร่วมกัน โดยมี ๒) ข้อกฎหมายเฉพาะในระดับชาติ และ ๓)ข้อกฎหมายที่ใช้สำหรับบุคคลทั่วไปในชาติเป็นกฎหมายใหญ่ที่เป็นบริบทใหญ่อยู่แล้ว
ในข้อแรกก็จะเป็นระเบียบของโรงเรียน ข้อที่ ๒ ก็จะเป็นระเบียบการลงโทษนักเรียนตามระเบียบในระดับกระทรวง ส่วนในข้อที่ ๓ ก็จะเป็นกฎหมายอาญา แพ่ง ปกครอง กฎหมายอื่นๆของประเทศ รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย
การลงโทษก็คงไม่แตกต่างอะไรกับการพิพากษาคดีซึ่งไม่สามารถใช้อารมณ์หรือความรู้สึกเข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อการลงโทษหรือพิพากษาได้แต่เป็นการทำจากข้อระเบียบที่ได้กำหนดไว้แล้วเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ก็ต้องสั่งสอนชี้แจงว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นผิดอย่างไร ทำให้เกิดความเสียหายกับใครบ้าง เพราะถ้าเราไม่อธิบายเหตุผล โดยเฉพาะกับเด็กที่ยังไม่รู้ผิดชอบชั่วดี คนที่รับโทษอาจไม่เข้าใจและไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นไม่ถูกต้อง
แต่ในสังคมก็คงเป็นธรรมดาที่จะมีคนที่ดื้อรั้นไม่ฟังเหตุผลและดึงดันไม่ยอมรับผิด แต่เราซึ่งเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์หรือผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบทำหน้าที่ชี้แจงว่ากล่าวตักเตือนโดยไม่ใช้อารมณ์และไม่ใช้ถ้อยคำเสียดสีหยาบคาย ไม่ทำให้เขาต้องอับอายต่อสาธารณชน
ส่วนจะเชื่อฟังแค่ไหนก็แตกต่างกันไปในแต่ละคนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการลงโทษว่าแท้จริงแล้วการลงโทษมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขพฤติกรรม คือ ประการแรกคือต้องการให้ผู้ที่กระทำผิดเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวได้ทำไปนั้นไม่เหมาะสม และประการที่สองเพื่อต้องการแก้ไขพฤติกรรม (Behavior) สองประการนี้เป็นหลักเท่านั้น เป็น “ลงโทษเพื่อสร้างสรรค์ ใช่เพื่อสะใจ” การจะให้เกิดความสมดุลของการลงโทษให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าวจึงต้องมาร่วมกันพิจารณาเพื่อความเหมาะสมให้เป็นไปตามคำโบราณที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” “ไม้เรียวสร้างคน” และนักวิชาการได้แสดงไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เพราะเส้นแบ่งกั้นระหว่างการลงโทษกับการทำร้ายร่างกายดูจะเลือนลางไม่ชัดเจน บางคนลงโทษอย่างรุนแรงจนผู้รับโทษบาดเจ็บทั้งจิตใจและร่างกายระดับสาหัส ส่วนบางคนก็ได้รับโทษที่เบาไปเลยไม่รู้สำนึก ส่วนอีกกลุ่มไม่กล้าลงโทษเพราะกลัวผู้รับโทษโกรธและอาฆาต หรือบางทีคาดหวังว่าคนทำผิดจะรู้สำนึกเอง ซึ่งในที่สุดก็ไม่สำนึก เลยกลายเป็นเหมือนกำลังส่งเสริมคนทำผิดและคนไม่ดีให้ได้ใจเสียอีก” (ศิริยุพา รุ่งเรืองสุข, ๒๖ มกราคม ๒๕๕๘)
จากการพิจารณาประเภทความผิดของนักเรียน ที่แบ่งความผิดของนักเรียนไว้เป็น ๑) ความผิดสถานเบา เช่น พฤติกรรมอันมีอุปนิสัยไม่ดี (ตักเตือน) ๒) ความผิดสถานกลาง เช่น ทำลายชื่อเสียงโรงเรียนและส่วนรวม (เชิญผู้ปกครองมาพบทำทัณฑ์บน) ๓)ความผิดสถานหนัก เช่น นำความเสื่อมเสียร้ายแรงมาสู่โรงเรียนและส่วนรวม (เชิญผู้ปกครองมาหักคะแนน) ๔) ความผิดขั้นร้ายแรง เช่น การกระทำความผิดที่มีโทษสูงสุด (การทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม) ซึ่งมักจะอยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา
ในรูปแบบของการลงโทษตามโมเดลที่ทางทิศทางไทยได้เสนอนั้นแม้จะมีระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่โรงเรียนแจ้งไว้โรงเรียนจะทำการสอบสวนจนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเจตนาโทษที่จะดำเนินการนั้น ๔ สถานโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘ คือ ๑) ว่ากล่าวตักเตือน ๒) ทำทัณฑ์บน ๓) ตัดคะแนนความประพฤติ และ ๔) ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เท่านั้นไม่สามารถที่จะลงโทษอื่นๆ นอกจากนี้ไปได้
แต่การลงโทษต้องมาเป็นอันดับหลังสุดโดยการมีระเบียบต่างๆ ต้องมีการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมทั้งตัวแทนผู้บริหาร ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง นักเรียน ที่ต้องมาตกลงร่วมกันเพื่อความเข้าใจในระเบียบข้อบังคับที่จะกำหนดไว้เป็นหลักของสถานศึกษา กำหนดประเภทความผิด ขั้นตอนการดำเนินการ แบบฟอร์มต่างๆ ที่จะมีการดำเนินการในเรื่องนี้ การยินยอมให้มีการลงโทษเมื่อผิดระเบียบตามขั้นตอนที่กำหนดไว้
การสื่อสารประสานงานจะต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะมีวิธีทำอย่างไร ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้และผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน มีการประชุมชี้แจงจากการมีส่วนร่วมโดยการประสานงานกับคณะกรรมการสถานศึกษาฯ สมาคมผู้ปกครองฯ และเครือข่ายผู้ปกครอง ในแต่ละปีการศึกษาอย่างชัดเจน
พิจารณาร่วมกันและปรับปรุงให้มีความชัดเจนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ลงชื่อรับทราบและยินยอมไว้ตามมติที่มี และเพื่อการพัฒนาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยมิได้ขัดแย้งกับระเบียบข้อกฎหมายที่มีอยู่ของสังคม กระทรวง และคุณธรรมศีลธรรมอันดีงามของชาติ โดยรูปแบบที่สำคัญของการดำเนินการตามโมเดลที่สถาบันทิศทางไทยเสนอมีดังนี้
ถ้านอกเหนือจากการให้รางวัลหรือชื่นชมผู้ที่ทำดี ทำได้ถูกต้อง การดำเนินการที่ผ่านมาครูและผู้สอนหลายคนต้องใช้ทรัพย์สินส่วนตัวมาใช้ในการดำเนินการด้วยวิธีนี้ ดังนั้นในกรณีที่โรงเรียนหรือสถานศึกษามีเงินทองมากมายจากการจัดเก็บจากผู้ปกครองก็ยิ่งจะต้องมีจำนวนเงินเพื่อการดำเนินการนี้ในจำนวนที่มีสัดส่วนที่จะจัดการให้กับครูหรือผู้าสอนแต่ละคนมากขึ้นไปตามสัดส่วน เพราะการให้คำชื่นชมและรางวัลนั้นก็จะเป็นการลงโทษคนอื่นด้วยการ “ไม่ได้รับคำชื่นชม” และ “ไม่ได้รับรางวัล” ซึ่งถือเป็นการลงโทษที่ดีอยู่แล้ว
ตามแนวคิดว่า “ผู้เรียนทุกคนเป็นคนดีต้องการคำชื่นชมจากครู” แต่ผู้สอนหรือครูอาจารย์ที่เคยทำโทษด้วยรูปแบบที่เคยทำมาอาจไม่คุ้ยชินตามโมเดลนี้ก็ให้ใช้แนวคิดนี้อยู่ตลอดเวลาในการคิดจะลงโทษผู้เรียน ต้องทำด้วยวิธีการนี้อย่างถ้วนทั่วทั้งสถานศึกษาในทุกระดับชั้นโดยให้มีมากที่สุดอยู่ในระดับการเรียนที่ต่ำสุด
โดยให้มีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อปรับปรุงการให้คำชื่นชมหรือรางวัลแก่ผู้เรียนหรือนักเรียนเพื่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนในแต่ละช่วงเวลาด้วยเพื่อนำข้อมูลจากการปรับปรุงมาพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องให้สามารถส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการให้รางวัลและชื่นชมเพื่อการลงโทษผู้อื่นจากการไม่ได้รับคำชื่นชมและไมได้รับรางวัล
แต่ในกรณีที่มีการกำหนดให้มีการควบคุมความประพฤติของนักเรียนสถานศึกษาต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ให้ชัดเจน เช่น เพื่อควบคุมความประพฤติของนักเรียนให้เป็นไปตามระเบียบของโรงเรียน, เพื่อป้องกันมิให้นักเรียนเกี่ยวข้องกับอบายมุข, เพื่อแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของนักเรียน, เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง, เพื่อให้ผู้ปกครองได้ร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง, เพื่อให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอน, เพื่อให้คะแนนความประพฤติเป็นเกณฑ์กำหนดพฤติกรรมของนักเรียน เป็นต้น โดยอาจกำหนดประเภทของความผิดว่าจะมีวิธีตักเตือนอย่างไร ด้วยคำอย่างไร จากใครไว้ให้ชัดเจน
การตัดคะแนนถ้ามีต้องมีการกำหนดระดับค่าคะแนนไว้ให้ชัด เช่นในบางสถานศึกษาที่ได้ดำเนินการดังภาพ
ส่วนการทำทัณฑ์บน และกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องมีวิธีการดำเนินการที่ตกลงร่วมกันทุกฝ่ายก่อนมีการกำหนดไว้ให้ชัดเจนมีความเข้าใจร่วมกันจากทุกภาคส่วนของผู้เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ของสถานศึกษาซึ่งสถานศึกษาต้องกำหนดให้ชัดว่าจะมีฝ่ายใดบ้างที่จะมาร่วมกัน และต้องมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ครบทุกกลุ่มด้วยช่องทางที่หลากหลายและมีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพด้วย
การพัฒนาชาติต้องพัฒนาบุคลากรตั้งแต่วัยเด็กการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ที่จำเป็นต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับ และมาตรการการลงโทษในสถานศึกษาดังกล่าวก็อาจส่งผลต่อพัฒนาและผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเรียนการสอนได้ การร่วมกันพัฒนาจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเสนอแนะทางออกต่อประเทศชาติ สถาบันทิศทางไทยก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโมเดลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติต่อไป