ดร.นิว เปิด 10 ข้อเสนอฟื้นฟูสถาบันเพื่อประชาธิปไตย ยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชน นำไปสู่การทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนโดยสมบูรณ์
จากกรณีที่ได้มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา และได้มีการขึ้นปราศรัยของแกนนำที่ได้มีการโจมตีสถาบันอย่างชัดเจน และเมื่อวันที่ 24 กันยายนก็ได้มีการชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาเพื่อกดดันให้ส.ส.และส.ว. ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ล่าสุดทาง ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีการฟื้นฟูสถาบันเพื่อประชาธิปไตย โดยระบุข้อความว่า
ข้อเสนอฟื้นฟูสถาบันเพื่อประชาธิปไตย 10 ข้อ
การสละพระราชอำนาจส่วนใหญ่ที่มีมาแต่เดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 คือ การทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชน ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันเรียบร้อยแล้ว
แต่คณะราษฎรกลับยึดอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยมาเป็นของคณะราษฎรเสียเอง ทำให้อำนาจอธิปไตยตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อยซึ่งก็คือคณะราษฎร ที่ใช้คำว่า “ราษฎร” เป็นยี่ห้อจอมปลอมหลอกลวงราษฎรทั้งประเทศ เพราะหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นแค่ปาหี่ขายฝัน ไม่ได้มีสาระของการทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนแต่อย่างใด รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรทุกฉบับก็ล้วนแต่หลอกลวงประชาชน เพราะมีแต่ “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน” ไม่ใช่ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน”
นับตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา อำนาจอธิปไตยปวงชนเป็นจริงแค่ในกระดาษ และไม่เคยมาถึงมือของประชาชนอย่างแท้จริง ปัจจุบันปัญหาทั้งหมดอยู่ในรัฐสภาที่ผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน แต่ผู้แทนราษฎรกลับเป็นตัวแทนของนายทุนผู้มีอำนาจเหนือพรรคการเมือง สุดท้ายอำนาจอธิปไตยปวงชนจึงตกอยู่ในมือของคนมีเงินเพียงแค่ไม่กี่คน
ระบอบเผด็จการของคนส่วนน้อยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2475 ฉกฉวยอำนาจอธิปไตยของประชาชน เป็นต้นเหตุของปัญหาความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ และความเข้าใจผิดๆที่ทำให้สถาบันฯ ซึ่งอยู่ในฐานะประมุขแห่งรัฐพลอยเสื่อมเสียพระเกียรติไปด้วย แต่ความเป็นจริง สถาบันฯ ถูกทำให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับระบอบเผด็จการดังกล่าว ในทางตรงกันข้าม สถาบันฯ เป็นผู้เลิกทาส วางรากฐานของชาติและประชาธิปไตยให้กับประชาชนมาตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นฟูสถาบันฯ และประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชน นำไปสู่การทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนโดยสมบูรณ์
1.ปรับลดบทลงโทษของ ม.112 ให้กลับไปเป็นดังเดิม หรือสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล และจัดให้มีหน่วยงานเฉพาะในการพิจารณาบังคับใช้กฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมและไม่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท
2.ยกเลิกการโหวตนายกรัฐมนตรี แล้วให้อำนาจในการแต่งตั้งนายกฯ เป็นของพระมหากษัตริย์โดยตรง บนพื้นฐานของการฟังเสียงประชาชน เช่นเดียวกับประเพณีการปกครองของประเทศอื่นๆในระบอบการปกครองเดียวกัน ที่พระมหากษัตริย์มักจะทรงแต่งตั้งผู้ที่ประชาชนให้การสนับสนุนสูงสุดเป็นนายกฯ เมื่อผลการเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ และมีกลไกพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งในการคัดเลือกและเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมที่สุดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เมื่อผลการเลือกตั้งไม่เป็นเอกฉันท์
3.ปฏิรูปสภาองคมนตรีเป็น “สภาที่ปรึกษาแห่งชาติ” ทำงานร่วมกับตัวแทนของประชาชนผู้ทรงคุณวุฒิ ขยายหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างทุกภาคส่วนในประเทศตั้งแต่พระมหากษัตริย์ตลอดจนประชาชนทั่วไป เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษา และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
4.กำหนดให้นายกฯ หรือคณะรัฐมนตรีต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานการทำงานให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบเป็นประจำทุกเดือน หรือรายงานผ่านการประชุมร่วมกับสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ
5.ให้สภาที่ปรึกษาแห่งชาติมีส่วนในการรับทราบ และตรวจสอบความโปร่งใสในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำระดับสูง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบราชการ ปราศจากการแทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน
6.ให้รัฐสภาจัดทำงบประมาณแผ่นดินซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ โดยตรงอย่างเหมาะสม ในนามของ “งบประมุขแห่งรัฐ” แยกออกจากงบอื่นๆอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิด อันจะส่งผลให้เกิดความระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท
7.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ “งบประมุขแห่งรัฐ” จะต้องทำรายงานชี้แจง การดำเนินงานและการนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้ต่อสาธารณชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
8.สนับสนุนการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีความเจริญและมีความเป็นอารยะ รู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น รวมถึงส่งเสริมสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของสถาบันฯ ให้มีความทัดเทียมกับต่างประเทศ เช่น Freedom of Information (FOI) Act ของประเทศอังกฤษ และ Media Code ของประเทศเนเธอร์แลนด์
9.กระจายอำนาจอธิปไตยและขยายอำนาจท้องถิ่นไปสู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายที่มีความสอดคล้องกับท้องถิ่น ควบคู่ไปกับนโยบายจากส่วนกลาง แล้วสถาปนา “สภาที่ปรึกษาจังหวัด” ภายใต้การสนับสนุนของสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมกันพัฒนาจังหวัด และต่อต้านการคอรัปชั่นในระดับท้องถิ่น
10.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนจะต้องรายงานผลการทำงานของตนเองต่อสภาที่ปรึกษาแห่งชาติและเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการปรึกษาหารือกับสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ เพื่อสร้างความเข้าใจ เข้าถึงและแก้ไขปัญหาของประชาชนร่วมกันอย่างเป็นระบบ
“เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ภายใต้ร่มพระบารมี”
ดร.ศุภณัฐ
27 กันยายน พ.ศ. 2563
#ประชาธิปไตยTheseries by ดร.ศุภณัฐ
ข้อเสนอฟื้นฟูสถาบันเพื่อประชาธิปไตย 10 ข้อการสละพระราชอำนาจส่วนใหญ่ที่มีมาแต่เดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว…
Posted by Suphanat Aphinyan on Sunday, September 27, 2020