รศ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ เผยความสำคัญ-ความหมายมาตรา1 ชี้บทนิรันดร์ไม่แตะต้อง!

0

จากที่เพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล- Move Forward Party โพสต์ข้อความเรื่อง”จุดยืนและข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล ทั้งสิ้น 3 ประการนั้น

“การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่ไปจำกัดว่าห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง จะเป็นทางออกอย่างสันติให้สังคมไทยสามารถหาฉันทามติร่วมกันได้ว่าระบบการเมืองแบบไหนที่เรายอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน

พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วหนึ่งฉบับเพื่อแก้ไข ม. 256 ให้มีการตั้ง สสร. แต่พรรคก้าวไกลไม่ร่วมลงชื่อด้วย เนื่องจากไปกำหนดไว้ว่า ห้าม สสร. แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และ 2 พรรคก้าวไกลเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวยิ่งไปสร้างความเข้าใจผิดในสังคม เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีการแก้ไขบทบัญญัติในหมวด 1 และ 2 มาโดยตลอด ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามแต่อย่างใด และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของไทยมีการจำกัดขอบเขตอยู่แล้วว่า การแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ม. 255” เพจพรรคก้าวไกล ระบุ

ขณะที่ รศ.มานิตย์ จุมปา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุถึง ความสำคัญและความหมายของมาตรา 1

ประการที่ 1 กฎหมายใดก็ตาม ถ้ามีเนื้อหาเป็นมาตรา 1 และอยู่ในบททั่วไป โดยหลักกฎหมายถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ตำแหน่งของมันที่ถูกวางไว้เป็นมาตราแรก แสดงให้เห็นว่ามีความสำคัญ

ประการที่ 2 รัฐธรรมนูญมาตรานี้รับรองเรื่องรูปแบบของรัฐว่า ประเทศไทยจะต้องมีรูปแบบเป็นรัฐเดียวเท่านั้น ไม่มีสิทธิที่จะเป็นมลรัฐหรือสหพันธรัฐฯ

ประการที่ 3 มาตรา 1 มีคำว่า “ราชอาณาจักร” หมายถึงอาณาจักรที่มีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1

หากมีข้อเสนอเรื่องการแก้ไขมาตรา 1 ก็จะต้องไปดูเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการเขียนล็อกไว้ในมาตรา 255 ที่ระบุว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้”

คำว่า “รูปแบบของรัฐ” นี่แปลว่าจะแก้มาตรา 1 ไม่ได้ แค่คิดว่าจะเสนอแก้ก็แก้ไม่ได้แล้วเพราะติดล็อกตามมาตรา 255

โดยปกติแล้ว หมวด 1และ 2 ของรัฐธรรมนูญจะไม่มีการแตะต้อง โดยเฉพาะมาตรา 1 ซึ่งในภาษาเทคนิคเรียกว่าเป็น “บทนิรันดร์” หรือ eternity clause เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่แสดงไว้ว่าต่อไปในภาคหน้าห้ามแตะเรื่องนี้ ในต่างประเทศก็มีบทบัญญัติทำนองนี้เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย บทนิรันดร์ในรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนจิตวิญญาณร่วมกันของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆ