ติดตามกันต่อเนื่องกับสถานการณ์เคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 18-19 ก.ย.และคงต่อเนื่องไปถึง 20 ก.ย. โดยการเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล ด้วย 3 ประเด็นที่ระบุไว้ในหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งการโจมตีความไม่ชอบธรรมและความเป็นเผด็จการของคณะรัฐบาล ,การบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของคณะรัฐบาล แต่ประเด็นที่สร้างความเคลือบแคลงในเจตนาการปลุกระดมมากสุด หนีไม่พ้น การประกาศข้อเรียกน้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ทั้งนี้ในเพจเฟซบุ๊ก ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า มีการโพสต์ประเด็นการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. 2563 ไว้ด้วยว่า “ปิยบุตร เรียกร้อง มธ. อย่าปิดประตูใส่นักศึกษา – ฉันทามติรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นได้ต้องประกันเสรีภาพในการแสดงออก ถามผู้บริหารมธ.ไม่ให้ใช้พื้นที่ เพราะกังวลประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่กล้าพูดใช่หรือไม่ ?
โดยใจความสำคัญมาจากการที่นายปิยบุตร ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ข้อ คือ หนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหน่วยงานของรัฐ ใช้งบประมาณของรัฐซึ่งเป็นภาษีของประชาชน ดังนั้นพอเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงไม่ควรคิดว่าฉันเป็นเจ้าของมีอำนาจกำหนดให้ใช้หรือไม่ให้ใช้
เพราะงบประมาณก็มาจากภาษีของประชาชน ควรคิดว่าเปิดกว้างให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ เพื่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นมหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานทางวิชาการซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ที่เปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงออกมากที่สุด มากกว่าหน่วยราชการอื่นอยู่แล้ว
และสองทางมธ.ได้กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา ซึ่งจากการติดตามข่าวผู้ชุมนุมก็ยอมทำตามกฎเกณฑ์ มีอาจารย์ที่ปรึกษารับรองเรียบร้อย และทางนักศึกษาก็รออยู่ว่าเมื่อไหร่จะมาตกลงกัน ผมคิดว่าปฏิกิริยาของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่ให้ใช้พื้นที่ชุมนุม 19 กันยายน รวมทั้งอดีตศิษย์เก่าจำนวนมากที่ออกมาคัดค้าน พวกเขากล้าที่จะพูดตรงไปตรงมาหรือไม่ว่า ที่ไม่อยากให้แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้สถานที่ชุมนุมนั้น เพราะไม่สบายใจที่นักศึกษาจะมาใช้พื้นที่ มธ. ในการปราศรัยเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
“ผมเห็นว่าอันนี้ชัดเจนที่สุด เพียงแต่คุณไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ ก็เลยมาบอกว่าไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ เพราะเห็นว่า 10 สิงหาคม นักศึกษาไปพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์บนเวที ผมเอง ก็มีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีในการแสดงออกบางอย่างในการชุมนุม แต่เราต้องพยายามแยกเนื้อหากับท่าทีการแสดงออกออกจากกัน เนื้อหาเหล่านี้พูดได้ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สามารถทำได้ เป็นเสรีภาพในการแสดงออก ข้อเสนอของนักศึกษาอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการเสนอให้แก้ไขกฎหมายต่างๆ แต่ไม่ได้เกินกรอบระบอบการปกครองเลย
โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองมายาวนาน แต่ถ้าคุณมาปิดกั้นเสียเอง นักศึกษามหาวิทยาลัยของคุณเองอยากจะแสดงออก หากไม่ให้เขาใช้พื้นที่จะให้เขาไปใช้พื้นที่ไหน จะไม่เหลือพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาแสดงออกได้เลย
ผมคิดว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องเอาให้ชัดว่าคุณไม่สบายใจเรื่องนี้ใช่หรือไม่ คุณไม่สบายใจเพราะกังวลว่ากลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมจะใช้เวทีนี้ในการพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ แต่เท่าที่เป็นอยู่ไม่มีใครกล้าหาญมาพูดความจริงเลย”
จากแนวคิดของนายปิยบุตร ชัดเจนว่าเป็นการตอบโต้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้พื้นที่จัดการชุมนุม เพราะเกรงว่ากลุ่มนักศึกษาและผู้เข้าร่วมชุมนุมจะนำประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ มาปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่นายปิยบุตรเห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย พร้อมกล่าวอ้างว่าข้อเสนอของกลุ่มแนวร่วมฯเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยใช้คำว่าไม่ได้เกินกรอบการปกครอง
ขณะที่ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาข้อเท็จจริงจากการชุมนุมทางการเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ชัดเจนว่าเงื่อนไขของกลุ่มแนวร่วมฯที่ใช้ขออนุญาตใช้พื้นที่จัดการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เคยประเด็นปัญหามาแล้ว
โดยเริ่มจาก 3 ประเด็นที่ผู้จัดขออนุญาต ประกอบด้วย (1) เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ (2) เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา (3) เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนในทุกรูปแบบ
แต่สุดท้ายมีการละเมิดเงื่อนไข โดยการนำประเด็นสถาบันกษัตริย์มาวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบและด้วยข้อมูลบิดเบือน กล่าวร้าย ก่อนก้าวล่วงพระราชอำนาจ โดยการประกาศเรียกร้องให้มีการปฏิวัติโครงสร้างสถาบันกษัตริย์ ตามข้อความปรากฎบนเอกสารข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ด้วยคำเริ่มต้นกล่าวโทษสถาบันเบื้องสูง ซึ่ง นายปิยบุตรไม่เคยพูดถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจน แต่หยิบยกเงื่อนไข 10 ข้อ มากล่าวอ้างว่าอยู่ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเท่านั้น
โฟกัสสิ่งที่นายปิยบุตร เน้นย้ำในงานเสวนาเรื่อง “#ถ้าการเมืองดีเราจะคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์กันอย่างไร” บางช่วงบางตอน ว่า ส่วนตัวไม่เห็นเหตุผลใดจะสกัดขัดขวาง การใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในทางตรงข้ามคือต้องยอมรับตรงไปตรงมา เพราะคาดการณ์ได้ว่านักศึกษา ต้องการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าใช่ก็ชี้แจงอย่าใช้เหตุผลอื่นหลบซ่อน
“ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาที่เขาพูดอยู่ภายใต้กรอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ รัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ สามารถทำได้อยู่แล้ว สิ่งที่เขาพูดเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ก็ไม่ออกจากกรอบนี้ หากท่านไม่สบายใจในเรื่องท่าทางในการแสดงออก ก็ไปปรับจูนกันให้เข้าใจ แต่ไม่ควรผลักให้นักศึกษาต้องออกไปใช้พื้นที่อื่นเพื่อพูดประเด็นนี้ ในเมื่อมหาวิทยาลัยเล็งเห็นใช่หรือไม่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง sensitive เป็นประเด็นอ่อนไหว ถ้าเป็นเช่นนั้นยิ่งต้องให้จัดในมหาวิทยาลัย ผลักออกไปข้างนอกไม่ได้”
ขณะเดียวกันนายปิยบุตร อ้างด้วยว่าก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 การพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการทำกันอย่างสม่ำเสมอ เพิ่งมาลดน้อยถอยลงหายไปหลังการรัฐประหาร ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้ควรทำให้เป็นเรื่องปกติ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญ มีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นปกติที่ประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมสามารถใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อจะแก้ไขกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ประเด็นสำคัญที่ผ่าน ๆ มา นายปิยบุตร เป็นนักการเมือง และนักวิชาการด้านกฎหมายที่มีการโพสต์ปลุกเร้าให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โดยการหยิบยกกรณีเหตุการณ์ในต่างประเทศมาเปรียบเทียบบ่อยครั้ง จนทำให้ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแหง่ชาติ ต้องออกมาเรียกร้องให้นายปิยบุตรเปลี่ยนท่าทีจากการเป็นเบื้องหลังการชุมนุม มาเป็นแกนนำแทนกลุ่มนักศึกษา ซึ่งวันนี้ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาในหลายคดีอาญา ด้วยข้อความว่า “จะปฏิวัติ :ก็ออกมาถือธงนำ”