“บิ๊กตู่” ย้ำแก้รธน.ให้เป็นเรื่องสภา ระบุรัฐต้องหางบหากต้องทำประชามติ

0

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การประชุมครม.เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. เสร็จประมาณ 13.00 น. ซึ่งเป็นปกติของครม.ในรัฐบาลนี้ หลายอย่างนำเสนอเข้ามาเพื่อไปสู่การแก้ปัญหา ทั้งส่วนที่เป็นปัญหาอุปสรรคจากข้อเรียกร้องของประชาชน ทั้งเรื่องการใช้จ่าย การเบิกจ่าย อะไรต่าง ๆ เราพยายามจะแก้ไขในทุกมิติ

อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่าเนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่ใช่ปกติในเวลานี้ อะไรต่างๆอาจมีข้อติดขัดอยู่บ้างในวิธีการหรือกลไกใหม่ๆที่จะออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รัฐบาลมุ่งหวังที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนในช่วงนี้ให้ดีที่สุด โดยโฆษกรัฐบาลจะชี้แจงรายละเอียด

ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นและรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้มีความเห็นต่างทั้งเรื่องการแก้ไขรายมาตรา ระบบเลือกตั้ง หรือการเลือกนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เป็นกระบวนการในสภา ตนเองไม่ได้มีข้อขัดข้องแต่ประการใด ขอให้เป็นการหารือ ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการศึกษารายละเอียดกันแล้ว มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน เยอะแยะไปหมด รัฐบาลก็ติดตามในเรื่องนี้อยู่ หวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีการทำประชามติอาจต้องใช้จ่ายงบประมาณสูงถึง 15,000 ล้านบาท จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ยากหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณมีเหตุผลสำคัญคือต้องใช้ ถ้าจำเป็นจะต้องทำประชามติก็ต้องหางบประมาณมาดำเนินการ ซึ่งพวกท่านก็ทราบดีว่าเรากำลังมีปัญหาเรื่องงบประมาณอยู่ แต่ตนไม่ได้ขัดข้อง ก็แล้วแต่ท่าน

ขณะที่นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าครม. อนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินการโครงการจ่ายเงินเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายละ 3,000 บาท จากเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งประกอบด้วย 1)เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2) ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ และ3)คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ โดยจ่ายเงินไปแล้วจำนวน 6,650,214 ราย วงเงินรวม 19,950.64 ล้านบาท คงเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่สามารถจ่ายเงินได้สำเร็จ จำนวน 22,771 ราย

เนื่องจากผู้ได้รับสิทธิเสียชีวิตในระหว่างการจ่ายเงิน (แต่ทายาทสามารถแจ้งขอรับสิทธิแทนได้) และเกิดปัญหาเกี่ยวกับเลขบัญชีธนาคารไม่ถูกต้อง ไม่มีบัญชีธนาคาร เป็นต้น ทำให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่สามารถดำเนินการโอนเงินให้กลุ่มเป้าหมายได้ทันตามกำหนดเวลาเดิม

ทั้งนี้ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประสานกับกรมบัญชีกลางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเลขบัญชีธนาคารของกลุ่มเป้าหมาย โดยการโอนผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนแทน ส่วนเรื่องรายละเอียดว่าผู้มีสิทธิกลุ่มนี้ต้องดำเนินการอย่างไร ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง