จากกรณี นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์แสดงความเห็น กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองบางคน ใช้วิธีการแต่งชุดครุยร่วมกิจกรรม เสมือนหนึ่งเป็นการสร้างความแตกต่างในรูปแบบการนำเสนอ
แต่ในทางตรงข้ามกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความเหมาะสม เนื่องจากมีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ผ่านคำตักเตือนผู้กระทำให้ระวังความผิดระบุว่า “ทำอย่างนี้ได้หรือ ภาพที่มีคนแต่งตัวใส่เสื้อครุยของจุฬาฯ และติดตราพระเกี้ยวด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : อดีตบิ๊กข่าวกรอง จี้ผู้บริหารจุฬาฯ หาตัวคนสวมครุยไปม็อบ ชัดผิดมาตรา 69 หากไม่ใช่บัณฑิต
ประเด็นน่าสนใจ พบว่าก่อนหน้านั้น รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา (วินิจฉัยกุล) ดิถียนต์ หรือ แก้วเก้า หรือ ว.วินิจฉัยกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ได้มีการเขียนกลอน ว่า “สู้เหนื่อยยากพากเพียรเรียนศึกษา เป็นบัณฑิตจุฬาฯสง่าศรี กว่าได้ครุยพระราชทานก็นานปี ถูกย่ำยีเหลือจะกล่าวร้าวรานใจ” เพื่อเตือนจิตสำนึกต่อผู้กระทำไม่เหมาะสมในการแต่งชุดดครุย บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากนั้นกลายเป็นประเด็นดราม่า เมื่อมีกลุ่มผู้ฝักใฝ่การเมือง เข้าไปคอมเมนต์วิจารณ์กลับในเชิงลบ และมีการใช้ภาษาอย่างหยายคาย เพียงเพราะไม่เห็นด้วย หรือ มีความเห็นต่างจากผู้นำเสนอความคิด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ว.วินิจฉัยกุล ศิลปินแห่งชาติ แจงเหตุลาออกประธานกรรมการซีไรต์ ปมวิวาทะเดือดใส่ชุดครุยร่วมม็อบ
ขณะที่ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (การวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล) คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เขียนบทความแสดงความสำคัญของชุดครุยบางช่วงบางตอนว่า “การสวมเสื้อครุยเพื่อประดับเกียรติยศ แบ่งเป็นหลายวัตถุประสงค์หรือตามเกียรติยศของผู้สวมใส่ น่าจะแบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
หนึ่ง ครุยพระราชวงศ์ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสวมในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ฉลองพระองค์ครุยองค์ที่สำคัญที่สุดคือ ฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชภูษิตาภรณ์ หรือฉลองพระองค์ครุยมหาจักรี ซึ่งปักทองแล่ง (นำทองคำแท่งมารีดเป็นเส้นและปักประทับบนฉลองพระองค์ครุย) อันเป็นงานฝีมืออันปราณีตสมบัติของชาติอันควรแก่ความภาคภูมิใจ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรี ทรงสวมในพระราชพิธีอันสำคัญได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จออกมหาสมาคม เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสวมฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีหรือฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชภูษิตาภรณ์ เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ให้ปวงชนชาวไทยได้กราบทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล
สอง ครุยเสนามาตย์ เป็นครุยสำหรับขุนนางผู้มีตำแหน่งสำคัญหรือผู้ที่มีตำแหน่งเฝ้าต่อหน้าฝ่าละอองธุลีพระบาท
สาม ครุยวิทยฐานะ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Academic gown อันเป็นครุยแสดงฐานะความรู้ของผู้ได้รับปริญญาหรือมีหน้าที่ให้การศึกษา ในต่างประเทศทุกมหาวิทยาลัยมีการสวมเสื้อครุยและมีการ hooding อันเป็นการเชื่อมโยงกับศาสนจักร
ส่วนครุยวิทยฐานะของไทย ที่เป็นครุยพระราชทานนั้นมีเพียงสามสถาบัน ประกอบด้วย
หนึ่ง ครุยอาจารย์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานครุยจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สองครุยเนติบัณฑิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่สมาชิกเนติบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ. 2457 และสาม ครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกำเนิดจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัตร อย่างไรก็ตามทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานให้ใช้เข็มวิทยฐานะเป็นรูปตราพระเกี้ยวประดับที่อกเสื้อได้เพื่อเป็นเกียรติยศ ดังปรากฎในระเบียบการทั่วไปแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อ 13 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2457 ความว่า
นิสสิตของโรงเรียน เมื่อสอบไล่ได้เป็นบัณฑิตแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เสื้อครุยสำหรับเกียรติยศบัณฑิตได้ และจะมีเข็มตราโรงเรียนสำหรับประดับอกเสื้อข้างซ้ายเป็นเกียรติยศด้วย ข้างหลังเข็มจารึกนาม และปีที่ได้เป็นบัณฑิต ส่วนศิษย์ที่สอบไล่ได้แต่เพียงประกาศนียบัตร์ของโรงเรียนนั้น จะมีแต่เข็มตราของโรงเรียน สำหรับประดับอกเสื้อข้างขวา เมื่อได้ออกรับราชการแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และทั้งเจ้ากระทรวงที่นักเรียนผู้นั้นรับราชการอยู่มีความเห็นชอบด้วยว่ารับราชการเรียบร้อยดี
จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงรับเป็นพระธุระในการพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษาโดยขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิ Rockefeller และสามารถจัดการศึกษาถึงระดับปริญญา เวชชบัณฑิต หรือแพทยศาสตร์บัณฑิตในปัจจุบัน ได้เป็นรุ่นแรกในปี 2471 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงได้มีความคิดที่จะออกแบบเสื้อครุยพระราชทานให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบบที่ออกแบบนั้นมีอยู่ห้าแบบด้วยกัน และได้นำแบบทั้งห้ากราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้นำแบบครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ออกแบบไว้เข้าไปพิจารณาในที่ประชุมเสนาบดีสภา จนได้แบบชุดครุยพระราชทานมาจนถึงทุกวันนี้
เนื่องจากครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครุยพระราชทาน และมีผู้ปลอมแปลง ทำเลียนแบบ แอบอ้าง ว่าเป็นบัณฑิตจุฬา ทำให้ พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551 หมวด 8 ได้กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการใช้ครุยอย่างไม่ถูกต้องหรือแอบอ้างดังนี้
มาตรา 69 ผู้ใดใช้ครุยพระบรมราชูปถัมภก ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องต่างกายของนิสิตและผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย หรือสิ่งใดที่เลียนแบบสิ่งดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใดๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือมีตำแหน่งใดในมหาวิทยาลัยโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีวิทยฐานะหรือมีตำแหน่งเช่นนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 70 ผู้ใด
(1)ปลอม หรือทำเลียนแบบซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะทำเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใดๆ
(2)ใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยปลอมหรือซึ่งทำเลียนแบบ หรือ
(3)ใช้ หรือทำให้ปรากฎซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ โดยฝ่าฝืนมาตรา 67 วรรคสาม
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) เป็นผู้กระทำผิดตาม (2) ด้วย ให้ลงโทษตาม (2) แต่กระทงเดียว
ความผิดตาม (3) เป็นความผิดอันยอมความได้
“ผมคิดว่าขณะนี้ ท่าทีของเยาวชน นิสิต นักศึกษา นักเรียนบางคน ค่อนข้างไม่น่ารักเลย ประชาธิปไตยของน้องๆ หลายครั้ง ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย ที่เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเลยแม้แต่น้อย”