เดินหน้าสร้างวัคซีนของไทยจากใบยาสูบ มีลุ้นเสร็จปลายปี 2564

0

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าร่วมมือภาคเอกชน ผลิตวัคซีนจากใบยาสูบ พัฒนาขั้นสูงสุดป้องกันโควิดทุกสายพันธุ์

ความหวังของประเทศต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “จุฬาฯ – ใบยาวัคซีน นวัตกรรมไทย ไขวิกฤต Covid-19” เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบยาสูบ โดยบริษัท “ใบยา ไฟโตฟาร์ม” ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทย และเป็นความร่วมมือกับ รพ. จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คิดค้นวัคซีนตัวนี้ ด้วยการนำ ใบพืชตระกูลยาสูบ สปีชีส์ N.benthamiana ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย มาวิจัย เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทุกสายพันธุ์

โดยศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ใบยาสูบชนิดนี้ ปลูกแล้วสามารถสร้างโปรตีนได้ในเวลารวดเร็ว 7-10 วัน จึงเชื่อว่า จะพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และสร้างแอนติบอดีในการยับยั้งเชื้อไวรัสได้

โดยการทดลองในคน ที่จะมีขึ้นกลางปี 64 หรือในอีก 9 เดือนข้างหน้าถือเป็นการสร้างโอกาสให้คนไทย เพราะขณะนี้ ทั่วโลกกำลังทดสอบวัคซีน แต่ไม่รู้ว่าปลอดภัยหรือไม่ และครอบคลุมพันธุกรรมไวรัสที่ผันแปรหรือไม่ เพราะไวรัสโควิด เมื่อเข้าตัวมนุษย์ และไปสู่อีกคนจะมีการผันแปรพันธุกรรมให้ไม่เหมือนเดิม ถ้าวัคซีนโควิดจำลูกหลานตัวเองไม่ได้ ฉีดแล้วก็ไม่มีผลการในการป้องกัน

ดังนั้น หน่วยความจำจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งพบว่าคนที่หายจากโควิด หลังจากนั้น60วันต่อมา แขนขาเกิดอัมพาต ตากรอกไม่ได้ ซึ่งเกิดในต่างประเทศหลายราย และในไทยมี 1 ราย ตอนนี้รักษาอยู่ที่รพ.จุฬาฯ ส่วนสาเหตุที่ป่วยภายหลัง เพราะโควิด ล่อลวงร่างกาย ให้คิดว่าเส้นประสาทเป็นเชื้อโรค จึงทำลาย เส้นประสาท ดังนั้น วัคซีนที่ผลิตออกมาจะต้องป้องกันตรงนี้ได้ด้วย

สำหรับวัคซีนจากใบยาสูบนี้ ผ่านการทดลอง ในสัตว์ทดลอง อย่างหนูและลิงมาแล้ว เมื่อช่วงเดือน เมษายน – กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าประสบผลสำเร็จ ในระดับน่าพอใจ เพราะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทั้ง 2 ชนิดได้ และหลังจากนี้จะทดลองในสัตว์ซ้ำอีกรอบ

ทั้งนี้ หากการทดลองในสัตว์ทดลองซ้ำอีกรอบ ประสบความสำเร็จ คาดการณ์ว่า จะเริ่มทดสอบในคนได้ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ปี 2564 และหากการทดสอบผ่านทุกขั้นตอน คาดว่า จะสามารถยื่นขออนุญาตเพื่อใช้กรณีฉุกเฉิน ในช่วงธันวาคมปี 2564

ส่วนราคาวัคซีน คาดว่า จะมีราคาไม่แพง เพราะผลิตและคิดค้นในไทย ที่สำคัญยังไม่ติดสิทธิบัตรด้วย

ด้าน ผศ.ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า การทดลองในมนุษย์ จะต้องมีการออกแบบวิธีการประเมินผล ซึ่งในช่วง 9 เดือนนี้ จะต้องมีองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับวัคซีนออกมา และจุดที่เน้นในการทดลองคือความปลอดภัย ส่วนการผลิตวัคซีนได้หารือกับทางไพล็อต แพลนท์ ของ ม.มหิดล และหวังว่าปลายปี 64 ไทยจะมีวัคซีนใช้เอง