อัษฎางค์ ถามเดือด ยึดสนามหลวงเพื่อใคร ในเมื่อสนามหลวงเป็นของประชาชนอยู่แล้ว

0

อัษฎางค์ นักประวัติศาสตร์ จี้ถาม “แผนยึดคืนสนามหลวง” ทำเพื่อใคร เพราะสนามหลวงเป็นสมบัติชาติ เป็นของประชาชนคนไทยอยู่แล้ว

จากระแสการเมืองในขณะนี้ที่กำลังเข้มข้น เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่หลายคนจับตามองเป็นอย่างมาก และในวันที่ 19 กันยายนนี้ ก็จะได้มีการชุมนุมใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ประชาชนปลดแอก ทางด้านขอ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” แกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอก โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในทำนองว่า “ในส่วนของวันที่ 19 นี้ จัดแบบเบิ้ม ๆ แน่นอน ขอให้พี่น้องจากทุกสารทิศมารวมตัวกันที่ท่าพระจันทร์ เพราะถ้าคนเยอะ เราจะไปยึดสนามหลวงคืนเป็นสนามประชาชน”

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (10 กันยายน 2563) ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีการชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 19 กันยายนนี้ ว่าทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขในการจัดชุมนุมได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ทางด้านนายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่สนามหลวงเป็นโบราณสถาน เป็นสมบัติของชาติที่มีไว้เพื่อประชาชน โดยระบุข้อความว่า

สนามหลวงเป็นสมบัติของชาติและประชาชนทุกคน

จะเอาสนามหลวงคืน? จากใคร?เพื่อใคร?
ในเมื่อสนามหลวงเป็นสมบัติของชาติที่มีไว้เพื่อประชาชน
………………………………………………………………….
สนามหลวงมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นบริเวณที่โล่งจัดให้มีขึ้นอย่าง”สนามหน้าจักรวรรดิ”ของพระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูง คนทั่วไปจึงเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ”
ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 ไทยกับญวนมีเรื่องวิวาทกันเกี่ยวกับดินแดนเขมร จึงโปรดฯ ให้มีการทำนาที่ท้องสนามหลวง เพื่อที่จะให้ญวนเห็นว่าไทยเป็นบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีเสบียงอาหารพร้อม ที่จะทําสงครามกับญวนได้เต็มที่ เพราะแม้แต่ข้างพระบรมมหาราชวังก็มีการทํานากัน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงรังเกียจที่ราษฎรเรียกสนามหลวงว่า “ทุ่งพระเมรุ” พระองค์จึงโปรดให้มีประกาศเรียกว่า “ท้องสนามหลวง”
สนามหลวงได้เป็นสนามเล่นว่าวยอดนิยมมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 แล้วด้วย จนต้องออกประกาศเตือนให้คนเล่นว่าวระวังสาย ป่าน
อย่างไรก็ตามสนามหลวงสมัยในอดีตไม่ได้มีขนาดใหญ่เท่าปัจจุบัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รื้อพลับพลาสําหรับทําพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ในท้องสนามหลวงด้วย ทั้งนี้เพราะหมดความจําเป็นที่จะทํานาเหมือนอย่างในรัชกาลก่อนๆ นอกจากกีฬาว่าวแล้ว ในอดีตสนามหลวงยังเคยเป็นสนามแข่งม้าและสนามกอล์ฟมาแล้วเช่นกัน ส่วนในเรื่องการพระเมรุนั้น สนามหลวงได้ใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ มาทุกรัชกาล (ยกเว้นรัชกาลที่ 7 เพราะพระองค์เสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษ)
สมัยรัชกาลที่ 9 มีการใช้พื้นที่สนามหลวงเป็น “ตลาดนัด” ตลาดนัดสนามหลวงเกิดขึ้นในปี 2491 สินค้าที่ขายระยะแรกเป็นพืชสวน พืชไร่ ของเกษตรกร เมื่อค้าขายนานเข้าก็สินค้าที่หลากหลายขึ้น โดยขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์
จนเมื่อปี 2521 รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ต้องการใช้สนามหลวงเป็นสถานที่งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมอบที่ดินย่านพหลโยธินบริเวณสวนจตุจักรด้านใต้แก่กรุงเทพมหานครเพื่อใช้ในกิจการสาธารณะประโยชน์ กรุงเทพมหานครจึงปรับพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าจากสนามหลวงมาอยู่ที่ “ตลาดนัดสวนจตุจักร” ในปี 2525 สุดท้ายสนามหลวงเคยมีชีวิตและวิญญาณทางการเมืองสมัยใหม่ เริ่มจากเป็นสถานที่ไฮด์ปาร์กแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นแหล่งชุมนุมหาเสียงทางการเมือง เป็นที่ชุมนุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 ท้ายที่สุดยังเป็นศูนย์การ ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ 6 ตุลาคม 2519
………………………………………………………………….
ปัจจุบันได้มีการใช้ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ ของประเทศ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี, พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530, พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 รวมทั้งงานพระเมรุมาศและพระเมรุของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป
ในปี พ.ศ. 2553 กรุงเทพมหานครได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ของสนามหลวง และเปิดใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 และไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ เหมือนในอดีต เพื่อสงวนไว้สำหรับประกอบพระราชพิธีเท่านั้น
พร้อมขอความร่วมมือให้ช่วยในการรักษาความสะอาดไม่ทิ้งขยะลงพื้น หากพบผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้ ต้องบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการเก็บขยะจำนวน 100 ชิ้น แทนการเสียค่าปรับ
………………………………………………………………….
ทั้งนี้กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน “สนามหลวง” สนามขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพื้นที่ 74 ไร่ 63 วา เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2520 ซึ่งมีพระราชบัญญัติโบราณสถานคุ้มครอง และกำหนดโทษผู้ใดฝ่าฝืนหรือบุกรุก “มีโทษจำคุก 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาท”
กิจกรรม”ขอคืนสนามหลวงให้ประชาชน” เป็นกิจกรรมของคนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ และไม่รู้กฎหมาย แต่หวังจะสร้างกิจกรรมทางการเมืองเพื่อกดดันรัฐบาลเท่านั้น เพราะสนามหลวง เป็นสมบัติของชาติ ที่แปลว่าเป็นสมบัติของประชาชนทุกคนอยู่แล้ว แล้วจะขอคืนไปให้ใคร
การที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่สนามหลวงในการจัดกิจกรรมทางการเมือง ไม่ใช่เพราะสนามหลวงไม่ใช่ของประชาชน
แต่เพราะสนามหลวงเป็นโบราณสถานที่เป็นสมบัติของชาติและประชาชนทุกคน จึงต้องมีกฎหมายควบคุม ปกป้องและป้องกันเอาไว้ ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง
………………………………………………………………….
อัษฎางค์ ยมนาค