ดร.เวทิน ชาติกุล ผอ.สถาบันทิศทางไทย เปิดความจริง ในประเด็นไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ในโรงภาพยนตร์ ผิดกฎหมายหรือไม่
จากกรณีที่มีพฤติกรรมส่งต่อเชิงสัญลักษณ์เป็นวงกว้าง ของกลุ่มเยาวชนที่คิดว่ากระทำดังกล่าว เท่ และทำให้สังคมเพื่อนๆยอมรับ นั่นคือการ ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ในโรงภาพยนตร์
ซึ่งในเรื่องดังกล่าวทำให้สังคมเสียงแตกเป็นอย่างมากว่า ไม่สามารถที่จะเอาผิดในเรื่องดังกล่าวได้เลยหรือ ? หรือว่าเอาผิดได้ แต่ไม่มีใครกล้าทำอะไร
ล่าสุดทางด้านของ ดร.เวทิน ชาติกุล ผอ.สถาบันทิศทางไทย ได้เปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าว ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบและเข้าใจอย่างง่ายๆ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
จริงหรือ…ไม่ยืน “ในโรงหนัง” ไม่ผิดกฎหมาย /เวทิน ชาติกุล สถาบันทิศทางไทย
/////
ข้ออ้างหนึ่งที่ฝ่ายท้าทายสถาบันฯ ยกมาอ้างในกรณีไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯในโรงหนังก็คือ ข้ออ้างของนาย ช. ผู้ที่เคยถูกฟ้อง ม.๑๑๒ ในกรณีไม่ยืนในโรงหนัง
นาย ช. อ้างว่า “ทำไมต้องยืน ไม่มีกฎหมายบังคับ” แล้วรอด ไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
จึงกลายเป็นเหตุผลต่อๆมาว่า ไม่ยืน=ไม่ผิดกฎหมาย
ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นการพูดข้อเท็จจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
นั่นคือ พ.ร.บ.วัฒนธรรม ปี ๒๔๘๕ ที่ออกโดยผู้นำคณะราษฎรบังคับให้ประชาชนต้องยืนในช่วงเพลงเคารพในโรงหนัง ใครไม่ยืนจะมีความผิดตามกฎหมาย (คณะราษฎร์ต้องการใช้สถาบันฯเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างระเบียบ “รัฐนิยม” ของตนขึ้น) พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว
และมี พ.ร.บ.วัฒนธรรมปี ๒๕๕๓ แทน โดยไม่มีเรื่องการบังคับให้ยืนหรือบทลงโทษถ้าไม่ยืน อันนี้จริง
แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ มีคดีตัวอย่างกรณีไม่ยืนแล้วถูกดำเนินคดีที่ชี้ขาดถึงชั้นศาลด้วยเช่นกัน ๒ คดี และ ทั้ง ๒ คดีศาลตัดสินว่าผู้ไม่ยืนมีความผิด มีโทษติดคุก
คดีแรกในปี ๒๕๒๑ จำเลย.อ ไม่ยืนเคารพในช่วงเพลงสรรเสริญ (แต่เหตุไม่ได้เกิดในโรงหนัง) และกล่าวคำพูดไม่เหมาะสม ถูกฟ้อง ดำเนินคดีอาญา ม.๑๑๒ ทั้ง ๓ ศาลพิพากษายืนว่าจำเลยมีความผิดตาม ม.๑๑๒ มีโทษจำคุก ๒ ปีโดยศาลฎีกาให้เหตุผลว่า
“…เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงที่ใช้บรรเลงในการพระราชพิธีหรือพิธีการต่างๆ เพื่อถวายพระเกียรติและถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะคดีนี้ประชาชนที่ไปฟังการอภิปรายย่อมเข้าใจว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีที่เปิดขึ้นเป็นการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทยองค์ปัจจุบัน จึงได้ยืนตรงทุกคน
จำเลยเป็นนักเรียนครูวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ย่อมต้องรู้และเข้าใจดีกว่าประชาชนธรรมดาสามัญ การที่จำเลยมิได้ยืนตรงเช่นประชาชนคนอื่นในขณะที่เพลงสรรเสริญพระบารมีเปิดขึ้น ทั้งยังบังอาจกล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาที่จะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯลฯ…”
คดีที่ ๒ ปี ๒๕๕๑ จำเลย ร. ทำแบบคดีแรก แต่ครั้งนี้เหตุเกิดในโรงหนังเมเจอร์รัชโยธิน จำเลยไม่ยืนเคารพ และยังแสดงกริยาที่ไม่เหมาะสม และกล่าวคำหยาบคาย ถูกดำเนินคดีใน ม. ๑๑๒ ศาลชั้นต้นตัดสินว่า จำเลยมีความผิด ติดคุก ๓ ปี จำเลยสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง แต่รอลงอาญา ๒ ปี เพราะจำเลยมีประวัติมีอาการป่วยทางจิตและเคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ้ามาก่อน
จะเห็นว่า ทั้งสองคดี “ไม่ยืนเคารพ” ไม่ได้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายวัฒนธรรม แต่เป็นคดีอาญา ม.๑๑๒ เพราะทั้ง “ไม่ยืนเคารพ” + “แสดงกริยาหรือคำพูดดูหมิ่น” ซึ่งศาลมองว่า “มีเจตนาจะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์” ชัดเจน
ส่วนคดีของ นาย ช. ที่ไม่ยืนแล้วบอกว่า “ไม่มีกฎหมายบังคับ” นั้น ข้อเท็จจริงคือ เรื่องไม่ถึงชั้นศาล เพราะอัยการไม่สั่งฟ้อง
เพราะ นาย ช. ไม่ยืน แต่ ไม่ได้แสดงกริยาหรือคำพูดอื่นๆที่เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ออกมา อัยการจึงพิจารณาไม่สั่งฟ้อง
ประเด็นก็คือ ยังพูดไม่ได้เต็มปากว่า ไม่ยืน = ไม่ผิดกฎหมาย เพราะ
๑. อัยการ กับ ศาล วินิจฉัยต่างกัน อัยการวินิจฉัย (กรณี นาย.ช) ด้วยเหตุผล “จะต้องมีการกระทำแสดงให้เห็นด้วย” แต่ ศาลพิพากษา (กรณีจำเลย อ.) โดยดูที่ “เจตนาที่จะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์” เป็นสำคัญ
๒. กรณีแบบ นาย ช. คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะเรื่องยังไม่ถึงชั้นศาล เลยยังไม่มีบทสรุปว่า ถ้าเรื่องถึงชั้นศาลแล้วจะได้ข้อยุติออกมาเป็นอย่างไร?
๓. สิ่งที่ต้องพิจารณาคือถ้าเรื่องถึงชั้นศาล “การไม่ยืนเคารพ” เฉยๆ แม้จะไม่แสดงการกระทำ(อาฆาตมาดร้าย)ให้เห็น แต่เป็นการแสดง “เจตนาที่จะหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์หรือไม่?” เรื่องนี้ศาลอาจต้องวินิจฉัยและตีความ ซึ่งเราตอบไม่ได้เพราะเป็นดุลพินิจของศาล
อย่างไรก็ตาม ด้วย “พระเมตตา” ที่ไม่ประสงค์ให้ดำเนินคดีใน ม.๑๑๒ จึงคงไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีด้วย ม. ๑๑๒ ได้ ก็ต้องถือว่าใครที่ไม่ยืนเคารพในโรงหนังที่สามารถทำได้แล้วไม่ถูกดำเนินคดีไม่ใช่ความเก่งกาจของฝ่ายปลดแอก, ต่อต้านกษัตริย์ อะไรหรอก
ที่ไม่ต้องถูกดำเนินคดี เสี่ยงคุกตะราง ก็ควรต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่ทรงรับสั่งประสงค์ให้ไม่เอาความต่างหาก