รายงานพิเศษ Ep.2 เปิดความจริง คุณภาพชีวิตชาวพิจิตร ย้อนถามกลับเพื่อไทย ทำไมต้องค้านนายกฯตู่ปิดเหมืองทองอัคราฯ

0

ตามต่อเนื่องจากการที่พรรคเพื่อไทยออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐ ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการต่อสู้ปมพิพาทเรื่องการระงับโครงการเหมืองทองอัคราฯ

โดยเป็นผลมาจากการใช้เวทีกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 พยายามตัดลดงบประมาณที่ใช้สำหรับการดำเนินการทั้งหมด วงเงินกว่า 111 ล้านบาท โดยอ้างกรณีทั้งหมดควรเป็นความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช. และ ประกาศใช้คำสั่งคสช. ฉบับที่ 72/2559

(คลิกอ่านข่าวประกอบ : รายงานพิเศษ Ep.1 ปฐมบทเหมืองทองอัคราฯ งงใจเพื่อไทยสงสัย ทำไมไม่ถามทักษิณ ก่อนเปิดดีลถล่มบิ๊กตู่)

ประเด็นข้อที่ 2. ก็คือถึงแม้ว่าการทำเหมืองแร่ทองคำ จะเป็นผลประโยชน์โดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม และรายได้เข้าประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นถูกนำเสนอโดยหน่วยงานด้านวิชาการ ว่ากระบวนการผลิตแร่ทองคำมีส่วนโดยตรงต่อผลกระทบด้านร่างกายของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งปริมาณสารเคมีเพื่อการสกัดทองคำและโลหะชนิดต่าง ๆ ปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนสารไซยาไนด์เพื่อขั้นตอนการแยกทองคำบริสุทธิ์ ก็มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดอาการหายใจติดขัด อาเจียน ปวดศีรษะ ต่อมไทรอยด์เกิดการขยายตัว มือและเท้ามีอาการอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ตาพร่ามัว และหูอื้อ

ประเด็นสำคัญมีรายงานผลกระทบ ด้านสุขภาพจากการประกอบเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 โดย ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข แจ้งข้อมูลได้รับตัวอย่างจากกรมควบคุมโรค จากเป็นการเก็บตัวอย่างเลือดของประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงบริเวณรอบเหมืองจำนวน 46 ราย เพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแมงกานีสในเลือด พบอยู่ในช่วง <5.0 ถึง 17.8 ไมโครกรัม/ลิตร

และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าอ้างอิง มีค่าอยู่ระหว่าง 4.0-15.0 ไมโครกรัม/ลิตร พบว่าประชาชนที่มีปริมาณแมงกานีสในเลือดสูงกว่า 15 ไมโครกรัม/ลิตร จำนวน 7 ราย (คิดเป็นร้อยละ 15.2) แต่เนื่องจากแมงกานีสเป็นธาตุโลหะที่พบได้ทั้งในอาหารและสิ่งแวดล้อมทั่วไป และยังเป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกาย จึงทำให้ยังไม่สามารถบอกแหล่งที่มาของการได้รับสารอันตรายเข้าสู่ร่างกาย

แต่ขณะเดียวกันกับการตรวจสอบกิจการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 กองวิเคราะห์น้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการสำรวจคุณภาพน้ำในลำน้ำฮวย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเลย ได้พบสารหนู แคดเมียม และแมงกานีสสูงกว่าปกติ โดยในปีแรกที่ทำการศึกษามีค่าแมงกานีส สูงกว่าค่ามาตรฐานทุกสถานี และมีไซยาไนด์สูงกว่าค่ามาตรฐาน 3 สถานี

3. ขณะที่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวบ้าน กับบริษัทอัคราไมนิ่ง ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2553 เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ วันที่ 11 พ.ย. 2553 ตัวแทนชาวบ้านเขาหม้อ 44 รายยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้ดำเนินคดีกับหน่วยงานรัฐ 5 แห่งคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, คณะกรรมการเหมืองแร่, อธิบดีกรมป่าไม้ และ อบต.เขาเจ็ดลูก ที่กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ชาวบ้านตำบลเขาเจ็ดลูกกว่า 100 คน ได้รับผลกระทบ เจ็บป่วยจากการระเบิดภูเขาอย่างต่อเนื่อง น้ำดื่มไม่สามารถดื่มกินได้กว่า 2 ปี และขอให้เพิกถอนประทานบัตร เพิกถอนคำสั่งของกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้บริษัทฯ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่า และเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการของ อบต.เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2548 เนื่องด้วยไม่ได้เปิดให้ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนร่วมแสดงความเห็น

ท้ายสุดเมื่อ 29 พ.ค.2557 ศาลปกครองพิษณุโลก มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.2/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส.2/2557 ประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้ คือ

1. เพิกถอนคำสั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ของอธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่อนุญาตให้บริษัทอัคราไมนิ่งฯ เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ จากเดิมที่ต้องสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้มาสร้างทางทิศเหนือของบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 1 ซึ่งอยู่บนพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นสถานที่เก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทราย

2. ให้อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร และผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามในการควบคุมดูแลบริษัทอัคราไมนิ่งฯ ไม่ให้ทำการก่อสร้างและใช้งานบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2

3. ห้ามอธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกคำสั่งหรือออกใบอนุญาตการขยายโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) ให้แก่บริษัทอัคราไมนิ่งฯ จนกว่าจะดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนในชั้นพิจารณาทางปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้อย่างถูกต้องครบถ้วน

4. ให้อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร, ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามในการควบคุมกำกับดูแลไม่ให้บริษัทอัคราไมนิ่งฯ เดินเครื่องจักรเพื่อประกอบกิจการในโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) และให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ที่ปลัดฯ มอบหมาย ผูกมัดประทับตราเครื่องจักรในโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) ของบริษัทอัคราไมนิ่งฯ จนกว่าจะดำเนินการ

ตามกระบวนการและขั้นตอนในชั้นพิจารณาทางปกครองและมีคำสั่งอนุญาตตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน

ไม่เท่านั้นในปี 2557 นางอารมณ์ คำจริง ผู้ประสานงานกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม บ้านเนินมะปราง เข้ายื่นหนังสือถึง นายสุรพงษ์ เทียนทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อให้พิจารณาอนุมัติเงินเยียวยา ตรวจสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร

หลังจาก ทีมงานแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ลงพื้นที่เจาะเลือดประชาชนรอบเหมืองทองอัครา ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย.2557 ประมาณ 700 ตัวอย่าง ก่อนพบว่า มีพบว่ามีประชาชน 349 คน มีสารโลหะหนักอยู่ในกระแสเลือด คือ แมงกานีส (Manganese) และสารหนู (Arsenic) ในปริมาณสูง ขณะที่แหล่งน้ำบริโภคได้รับผลกระทบ จนไม่สามารถใช้บริโภคได้ ไม่นับรวมผลผลิตจากภาคเกษตรในพื้นที่ลดลงอย่างชัดเจน และการตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพ จากหน่วยงานด้านวิชาการอีกหลายครั้ง แสดงผลไปในทิศทางเดียวกัน