รู้จักการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจตาม ‘แผนกรกฎ 52’ ในการควบคุมฝูงชน

0

เปิดแผนขั้นตอนการปฎิบัติหน้าที่ ‘กรกฎ 52’ ลำดับงาน 4 ข้อ จับกุมด้วยมือเปล่า ใช้กุญแจมือ การใช้คลื่นเสียงรบกวน แก๊สน้ำตา เกินควบคุม เปลี่ยนใช้โล่ กระบอง กระสุนยาง เครื่องช็อตไฟฟ้า

จากกรณีพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมแผนกรกฎ 52 มาใช้ควบคู่ไปกับ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อดูแลสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ดี สำหรับแผน กรกฎ 52 ที่มีการกล่าวถึงนั้น  เป็นแผนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อใช้ในการควบคุมฝูงชน โดยแผนงานดังกล่าวปรับปรุงมาจากแผน กรกฎ 48  ทั้งนี้ แผนกรกฏ 52 นั้น ได้เคยใช้งานมาแล้ว ในการควบคุมการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง และ การชุมนุมของ กปปส.

สำหรับการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน กรกฎ 48 นั้น มีการเพิ่มเติมเรื่องกลยุทธ์การจับกุม โดยเริ่มต้นจากการจับกุมด้วยมือเปล่า ใช้กุญแจมือ การใช้คลื่นเสียงรบกวน และการใช้แก๊สน้ำตา แต่หากสถานการณ์เกินกว่าควบคุมได้ จะมีการใช้โล่ กระบอง กระสุนยาง และเครื่องช็อตไฟฟ้า

สำหรับลำดับขั้นตอนการใช้แผนดังกล่าว ประกอบด้วย

1.ขั้นเตรียมการก่อนเกิดเหตุ โดยการทำงานด้านการข่าว การเตรียมกำลังหน่วยปฏิบัติ หน่วยสนับสนุน และหน่วยเฉพาะกิจ เตรียมการด้านส่งกำลังบำรุง โดยในกรณีที่มีการจับกุมและควบคุมผู้ก่อความไม่สงบ จะต้องเตรียมสถานที่ควบคุม และสถานที่สอบสวน

  1. การเผชิญเหตุขณะเกิดเหตุ เมื่อมีสถานการณ์เกิดขึ้น จะมีการจัดระเบียบบริเวณที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียง แยกพื้นที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ทั่วไป รวมถึงกันประชาชนทั่วไป ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ

3.การใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อการเจรจาต่อรองไม่เป็นผล และจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์โดยเรียงลำดับจากเบาไปหาหนัก

  1. การฟื้นฟูเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสู่สภาวะปกติ จะมีการสอบสวนดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด

อย่างไรก็ตาม การควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ของแผนดังกล่าว จะต้องไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต และเจ้าหน้าที่ต้องประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้าก่อนจะมีการยกระดับการควบคุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องยึดหลักพื้นฐาน ถูกต้องและชอบธรรม