นวก.ทิศทางไทยเสนอนายกฯทำด่วน เสริมทัพอัดฉีด“สาธารณสุขอำเภอ” ตำแหน่งที่ถูกลืม สู้โรคระบาด

0

 “นายกฯ ในนามศอฉ.สู้โควิด-19 ควรดำเนินการด่วน”เสริมทัพสู้โรคระบาดเชิงรุกด้วย “สาธารณสุขอำเภอ” ตำแหน่งที่ถูกลืม

รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา อาจารย์ด้านเวชสารสนเทศ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการสถาบันทิศทางไทย

 

จากกรณีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ได้แสดงความชื่นชม อสม. เจ้าของเสียง “ตั๋วต้องกั๊กตั๋ว ตั๋วต้องรับผิดชอบต่อสังคม”แล้วครับ เป็นอสม.อยู่ที่ตำบลบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย น้องเขาชื่อ”จอย” ชื่อจริงน.ส.วรวรรณ เรืองใคร อีกคนที่มีเสียงแต่ไม่ดังคือ “ป้าเร็ว” ชื่อจริงนางเร็ว ไชยเขียว ทั้งสองเป็น อสม.ที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ทำงานไม่ได้หวังผลตอบแทน ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด และไม่ขอรับเงินที่ทางคุณหมอจะมอบให้โดยมอบให้เป็นสาธารณะเข้ากองทุนเครื่องมือแพทย์ รพ.สต. และประสานให้ผมได้คุยกับ”หมอฤทธิ์”หรือนายฤทธิ์ ช่างปัด ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของคุณหมอวรงค์ เป็นการเสริมให้เห็นบทบาทที่มีความสำคัญยิ่งของบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชุมชนที่จะเข้าถึงประชาชน โดยคนสาธารณสุขใกล้ตัว และกลไกที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการได้ดีที่สุดก็คือ สาธารณสุขอำเภอ ซึ่งในบทบาทของตำแหน่งนี้แทบจะถูกลืมไปแล้วในวงการการแพทย์และสาธารณสุข ในช่วงของการระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็น่าจะเป็นโอกาสที่รัฐน่าจะใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบสุขภาพระดับชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2560 ตามกฎกระทรวง สรุปได้ดังนี้

  1. จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพในเขตพื้นที่อำเภอ
  2. ดำเนินการและให้บริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในเขตพื้นที่อำเภอ
  3. กำกับ ดูแล ประเมินผล และสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานสาธารณสุข ในเขตพื้นที่อำเภอ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎหมาย มีการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและ มีการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ
  4. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานเกี่ยวกับงานสาธารณสุขในเขตพื้นที่อำเภอ ให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวง
  5. พัฒนาระบบสารสนเทศ งานสุขศึกษา และการสื่อสารสาธารณะด้านสุขภาพ ในเขตพื้นที่อำเภอ
  6. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

งานและภารกิจที่เกี่ยวข้องกับ สถานพยาบาลในระดับตำบลต่าง ๆ ทั้ง รพ.สต./สถานีอนามัย การเก็บรวบรวมข้อมูลสภาวะสุขภาพต่าง ๆ  ในระดับตำบลเพื่อรวมเป็นระดับอำเภอ การพัฒนาเครือขายบริการสุขภาพอำเภอ เช่น การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับพื้นที่ การป้องกัน ควบคุมโรคสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ที่สามารถส่งผลต่อชุมชนได้ง่ายเช่น วัณโรค และรวมถึงการวิจัยจากงานประจำที่ส่งผลการสร้างนวัตกรรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่

จำนวนสาธารณสุขอำเภอทั้งประเทศเกือบ 900 แห่ง (จากข้อมูลปัจจุบันมีอำเภอ 878 อำเภอ) นับว่าเป็นบุคลากรที่มีพลังในการเข้าถึงประชาชนได้เป็นอย่างดี ในภาวะที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงของการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 นี้ ทางรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการ “ปฏิรูปสาธารณสุขอำเภอ” เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการมีอยู่ของสำนักงานและผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ งานด้านสาธารณสุขขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานตามแนวทางการเมืองของผู้มีอำนาจใน อปท. กลับสร้างบทบาทได้มากกว่า แพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลในพื้นที่ทั้งโรงพยาบาลอำเภอ และแม้แต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลในหลายๆ พื้นที่ก็มีหน้าที่ในการเข้าถึงประชาชนและการบริการโดยตรง ทำให้สำนักงานและตำแหน่งของสารณสุขอำเภอถูกลดบทบาทลงไป ยกเว้นในบางอำเภอที่มีสาธารณสุขอำเภอสามารถสร้างผลงานและการประชาสัมพันธ์ขึ้นมาอย่างโดดเด่นแต่ก็มีน้อยมากที่เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป

การสร้างเสริมศักยภาพโดยสร้างแรงจูงใจและการตอบแทนที่เหมาะสมในยามที่ประเทศต้องการคนเข้ามามีบทบาทการหยุดยั้งวิกฤตของการระบาดโรคจากเชื้อโควิด-19 นับว่ามีความสำคัญมาก นายกฯควรมีคำสั่งด่วนโดย ศอฉ.โควิด หรือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่สามารถบริหารจัดการถึงในพื้นที่ โดยการสร้างเครือข่ายการสั่งการ ประสานงาน แทนระบบราชการที่เคยมีอยู่เดิมกับกระทรวงสาธารณสุขชั่วคราว เพื่อสร้างศักยภาพให้มีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น ประสานกับ อสม. โดยศูนย์ควรกำหนดค่าตอบแทนโดยให้มีการเก็บหลักฐานเพื่อให้เงินเป็นค่าตอบแทน ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เครื่องมือป้องกัน เครื่องมือการคัดกรอง รวมทั้งการเยียวยาผลจากความเสี่ยงและความทุ่มเทในการทำงานกับชุมชนเพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรคอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างแนวรบระดับชุมชน และปฏิรูปสาธารณสุขอำเภออย่างจริงจัง ในการดูแลผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขในพื้นที่ให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และให้พวกเขาทำงานอย่างเต็มที่ด้วยการตอบแทนอย่างเต็มที่เช่นกัน

 

การต่อสู้ “ภัยพิบัติไวรัส COVID-19” ด้วยการระดมสรรพกำลัง ค่าตอบแทน บทบาท อำนาจหน้าที่ ไปยัง สาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าที่ อสม. ควรดำเนินการอย่างรีบด่วน เพื่อหยุดยั้งโรคระบาดนี้ และสร้างศักยภาพสาธารณสุขระดับชุมชมให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป