รายงานพิเศษ Ep.1 ปฐมบทเหมืองทองอัคราฯ งงใจเพื่อไทยสงสัย ทำไมไม่ถามทักษิณ ก่อนเปิดดีลถล่มบิ๊กตู่

0

ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญทางการเมือง หลังยุคคสช.แต่ถูกนำมาขยายโจมตีในช่วงปี 2563 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแน่งนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตามขั้นตอนการเลือกตั้งและกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ด้วยยุทธวิธีที่พรรคเพื่อไทยและกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน ใช้เป็นธงดิสเครดิตคำพูดผู้นำ ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อกรณีความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเงินงบประมาณประเทศ

ยกตัวอย่างสำคัญในการถือธงโจมตีรัฐบาล หนีไม่พ้นกรณีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 เมื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ใจความสำคัญระบุว่า “บาทเดียวของภาษีประชาชน ก็ไม่ควรต้องเสียให้กับความผิดพลาดที่เผด็จการก่อไว้

ดังนั้น พรรคเพื่อไทย จึงเสนอแปรญัตติตัดงบค่าใช้จ่ายเรื่องข้อพิพาทเหมืองทองอัครา โดยตีความเอาเองว่า เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 72/2559 ปิดเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แล้วประกาศจะรับผิดชอบผลกระทบ จากการตัดสินใจด้วยตัวเอง

จนล่าสุด นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ถึงขั้นออกแถลงเป็นทางการ เรียกร้องในนามพรรคเพื่อไทย ขอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่ง คสช. ที่ 72/2559 สั่งปิดเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด จนเป็นประเด็นพิพาทกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัคราฯ ในประเทศออสเตรเลีย และมีการนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาตตุลาการระหว่างประเทศ ว่า เรื่องนี้มีความสำคัญและเกี่ยวกับผลประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติโดยตรง กระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ ระบบยุติธรรม และเงินภาษีประชาชน

จึงขอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมดให้สาธารณชนโดยทั่วไปได้ทราบ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับสัญญา, เหตุผลและพฤติการณ์ในการออกคำสั่งปิดเหมือง, รายละเอียดข้อกล่าวหาและความเสียหายที่รัฐบาลไทยถูกฟ้อง การพิจารณาคดี รายละเอียดเกี่ยวกับการต่อสู้คดี การเจรจาต่อรอง ค่าใช้จ่ายทนายความ และ ทีมทนายความ

รวมไปจนถึงการเตรียมการในชั้นวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดี ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องทำให้มีความโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนโดยทั่วไปมีสิทธิทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 41 ทั้งนี้ สำหรับประเด็นการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่เป็น ของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นเชื่อว่าถูกหยิบมาใช้กลับไปกลับมา เพื่อให้พ้นความรับผิดในการถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ และการออกคำสั่งปิดเหมืองเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

กรณีดังกล่าวจึงมีความจำเป็นต้องไล่เรียงให้ชัดเจนในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองนำข้อเท็จจริงไปบิดเบือนซ้ำซาก โจมตีเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเฉพาะจุดเข้าใจร่วมกันว่าโครงการดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นประเด็นปัญหาค้างคามานานหลายสิบปี กับหลายยุครัฐบาลอดีตที่ไม่ได้มีการแก้ไข จนกระทั่งมาถึงปลายทางสุดท้ายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับภาระต้องตัดสินใจ

เริ่มจาก 1.กรณี บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือ อัคราไมนิ่ง ร่วมทุนกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด (Kingsgate Consolidated NL) ประเทศออสเตรเลีย ได้รับอนุญาตดำเนินการสำรวจและผลิตและจำหน่ายแร่ทองคำและเงิน ตามอาชญาบัตรพิเศษสำรวจสายแร่ทองคำ ตั้งแต่ช่วงปี 2530 ก่อนจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2536 รับผิดชอบการสัมปทานเหมืองแร่ชาตรี บริเวณเขาหม้อ เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ตามใบประทานบัตร 14 แปลง เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ บริเวณรอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก

ต่อมาในช่วงปี 2538 -2543 บริษัทอัคราไมนิ่ง แจ้งผลสำรวจพบสายแร่ทอง ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ และดำเนินการยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ กระทั่งวันที่ 27 ธันวาคม 2542 มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 5 แปลง พื้นที่ประมาณ 1,259 ไร่ พร้อมรับใบอนุญาต จัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ พื้นที่ประมาณ 1,575 ไร่ เพื่อเปิดการผลิตเหมืองแร่ทองคำชาตรี(ใต้)

พร้อมใบประทานบัตร ขุดสำรวจ ขุดแร่ ผลิตและจำหน่ายแร่ทองคำ ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร (19 มิ.ย.2543–18 มิ.ย. 2563) ตามโครงการเหมืองทองคำชาตรี จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,259 ไร่ และเริ่มต้นเดินสายพานผลิตแร่ทองคำ ส่งไปสกัดเป็นทองบริสุทธิ์ที่ออสเตรเลียเพื่อสร้างรายได้

ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม 2544 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เดินทางไปทำพิธีเปิดเหมืองทองคำผลิตทองคำแท่ง เชิงพาณิชย์ของเหมืองแร่ทองคำชาตรี(ใต้)ก้อนแรก กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่จะตอบคำถามสำคัญ หนึ่งในจุดเริ่มต้นของประเด็นทางการเมือง โดยฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย