จากกรณีที่มีคำสั่งชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำทร. ออกไปเป็น 1 ปี นั้น ภายหลังการประชุมครม. ประจำวันที่ 1 ก.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ และได้มีการพูดคุยเป็นการภายในกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะกองทัพเรือและได้ข้อสรุปว่าขอให้กองทัพเรือพิจารณาชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำในลำที่ 2 และ 3 ออกไปก่อน
ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความเข้าใจของนายกฯที่เห็นถึงความห่วงใยของประชาชน สังคมและกมธ.งบประมาณฯ ที่จะต้องนำงบประมาณไปใช้ในส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลปากท้องประชาชนและเรื่องอื่น ๆ ที่คิดว่าเหมาะสม
โดยพล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ชื่นชมกองทัพเรือที่เสียสละอย่างถึงที่สุด ยอมหั่นงบประมาณในหลายครั้ง แล้วนำเงินมาช่วยเหลือประชาชนก่อน ทั้งที่การซื้อเรือดำน้ำก็มีความสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ล่าสุดในเพจ “กองทัพเรือ โดย โฆษก กองทัพเรือ” ที่มีพล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ เป็นผู้ดูแลโพสต์ภาพและข้อความ หัวข้อ “มีเรือดำน้ำไปทำไม….ในบริบทข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์” มีเนื้อหาดังนี้…
มีเรือดำน้ำไปทำไม….ในบริบทข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ จากการที่ผมได้เคยศึกษาด้านความมั่นคงและการทหารระดับยุทธศาสตร์ จากสถาบันทั้งต่างประเทศและในประเทศมา ติดตามสถานการณ์โลกและภูมิภาค กับสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง จึงอยากแชร์มุมมองเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล เพื่อการเสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้เกี่ยวกับทะเล
ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน การกินดีอยู่ดีของคนในชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ขอนำเสนอตามข้อเท็จจริง ปราศจากการเมือง และการติดยึดกับทหาร โดยในภาคแรกนี้จะนำไปสู่การได้คำตอบว่า “มีเรือดำน้ำไปทำไม”
อันดับแรกจำเป็นต้องทำความเข้าใจด้านภูมิรัฐศาสตร์ก่อนว่า ประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ กล่าวคือ อ่าวไทยเป็นอ่าวปิดลึกเข้ามาในคาบสมุทร ในอดีตก็เคยถูกปิดอ่าวมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ฮอร์ลันดาเอาเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยามาปิดทางออกสู่ทะเลของไทย คงจำเรื่อง “บุพเพสันนิวาศ”ได้นะครับ ครั้งที่ 2 ก็เหตุการณ์ ร.ศ.112 สมัยรัชการที่ 5 ที่ฝรั่งเศสมาปิดปากอ่าวไทย จนเราต้องเสียดินแดนไปเกือบเท่ากับขนาดประเทศไทยในปัจจุบัน และครั้งที่ 3 ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรือดำน้ำสหรัฐฯมาจมเรือขนส่งน้ำมันชื่อ ร.ล.สมุยบริเวณปากอ่าวไทย ทหารเรือสละชีพไป 36 นาย มีผลทำให้ไม่สามารถขนส่งน้ำมันจากทางทะเลเข้าสู่ประเทศได้ กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจแทบจะหยุดชะงัก ประชาชนก็เดือดร้อนกันทั่ว
ทั้ง 3 เหตุการณ์ข้างต้นน่าจะทำให้ทุกท่านตระหนักแล้วนะครับว่า จุดอ่อนด้านภูมิศาสตร์ของเรา ผู้รุกรานสามารถใช้ประโยชน์สร้างความเสียหายให้กับประเทศได้มากมายมหาศาลอย่างไร
แล้วเรามีทางแก้ไขไหม…เรื่องนี้คงต้องดูว่าต่างประเทศเขาทำกันอย่างไร ผมขอเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมันจะทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ประเทศเยอรมันก็เหมือนกับประเทศไทยกลับหัว มีทะเล 2 ฝั่งแต่ถูกคั่นด้วยประเทศที่ 3 ท่าเรือหลักคือ Hamburg และ Wilhelmhaven อยู่ในทะเลบอลติกและทะเลเหนือ ซึ่งเส้นทางการเดินเรือจะต้องผ่านหลายประเทศ แม้จะมีคลองคีล แต่ในยามสงครามก็ถูกปิดกั้นโดยง่ายจากทุ่นระเบิดวางโดยข้าศึก จึงจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการป้องปรามต่อประเทศที่จะมาคุกคามเส้นทางเดินเรือ และขนส่งพลังงานเข้าสู่ประเทศ ด้วยการคงประจำการเรือดำน้ำพลังงานไฟฟ้าที่ทันสมัยที่สุดชั้น 212A จำนวน 6 ลำ แม้จะยกเลิก Warsaw Pack ไม่มีภัยคุกคามที่เด่นชัดแล้วก็ตาม และที่น่าสังเกตุคือ ทะเลบอลติกและทะเลเหนือมีความลึกน้ำเฉลี่ยใกล้เคียงกับอ่าวไทย แต่กองทัพเรือเยอรมันกลับสร้างเรือดำน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
สาเหตุหนึ่งคือเรือดำน้ำเป็นอาวุธทางรุก ยากต่อการตรวจพบ และให้ปฏิบัติการได้นานขึ้น สามารถเล็ดรอดเข้าไปทำลายกำลังหลักของฝ่ายตรงข้ามได้ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่อาณาเขตทางทะเลของตน พื้นที่ปฏิบัติการหลักจึงอยู่ภายนอก ซึ่งจะยิ่งสร้างอำนาจการป้องปรามให้สูงยิ่งขึ้น
ดังคำกล่าวที่ว่า “ Nowhere to be seen but present everywhere” แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า “มองไม่เห็นตัว แต่สร้างความสะพรึงกลัวไปทั่ว” ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ อาจไม่ได้มาจากภัยคุกคามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการป้องปราม เพื่อลดข้อเสียเปรียบด้านภูมิศาสตร์ ทำให้ผู้รุกรานที่อาศัยเงื่อนไขความขัดแย้งที่มีอยู่ ต้องยับยั้งชั่งใจว่าอาจถูกกระทำก่อน หรือถูกโจมตีตลบหลังจากภายนอก ทำให้ผลที่ได้รับไม่คุ้มกับความสูญเสีย จึงเลิกล้มความตั้งใจที่จะรุกรานในที่สุด
การที่จะตอบว่า “มีเรือดำน้ำไปทำไม” นอกจากการอุดช่องโหว่ด้านข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์แล้ว ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เกี่ยวข้องอีกมากที่จะแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่า เช่น ประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านภูมิรัฐศาสตร์ การรับประกันเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมเศรษฐกิจทางทะเล และการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนกับระบบเศรษฐกิจทางทะเลของไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังต้องตอบคำถามต่อสาธารณชนอีกจำนวนมาก อาทิ อะไรคือความเสี่ยงที่ต้องจัดหาเรือดำน้ำในสภาวะการณ์เช่นนี้ ทำไมไม่ลงทุนกับการปราบเรือดำน้ำจะดีกว่าหรือไม่ ความคิดจัดหาเรือดำน้ำถือว่าล้าสมัยหรือไม่เพราะในอนาคตจะมีโดรนใต้น้ำล่าทำลายเรือดำน้ำแล้ว อ่าวไทยตื้น เรือประมงและอุปกรณ์ก็เยอะไม่เป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการของเรือดำน้ำหรือ และเมื่อซื้อมาแล้วมีความสามารถจะดูแลรักษาให้พร้อมใช้ตลอดอายุการใช้งานหรือไม่ ฯลฯ เป็นต้น
ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ผมเห็นว่าจำเป็นต้องมีคำตอบให้ประชาชนผู้เสียภาษีอากรได้ทราบถึงความจำเป็น ความคุ้มค่า และความทันใช้งานเพื่อประกันความเสี่ยงอย่างครบถ้วน
ขอบคุณเฟซบุ๊ก : กองทัพเรือ โดย โฆษก กองทัพเรือ