กราบเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.)
เรื่อง ข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแผนและงบประมาณประเทศใหม่เป็นการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับวิกฤติการระบาดของเชื้อ Covid-19 ในระยะฉุกเฉินและระยะยาว
1. ข้อเท็จจริง(โดยภาพรวม)
1.1 ผู้เชี่ยวชาญทั้งโลกเห็นตรงกันว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติที่ไม่เคยพบมาก่อนในชั่วอายุคน และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องรุนแรงกว่าการระบาดรุนแรงครั้งก่อนๆที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์โลก
1.2 วิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบทั่วทั้งโลก ในทุกด้าน ทั้งสุขภาพ การดำรงชีวิต เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมของมนุษย์ชาติ
1.3 วิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติที่ไม่ว่าที่ไหนก็ตามในโลกไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะรับมือ
1.4 วิกฤติครั้งนี้ยังไม่ใครระบุได้ว่าจะกินเวลายาวนานไปอีกแค่ไหน จะต้องหยุดกิจกรรมทางสังคมทั้งหมดไปนานแค่ไหน หรือจะมีการระบาดซ้ำในระลอก2 ระลอก3 หรือไม่?
2. ข้อเท็จจริง (ในประเทศไทย)
2.1 สถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่ 2-3 เดือน แต่อาจยาวเป็น 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี
ตามแบบจำลองการคาดการณ์สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประเทศไทยของสมาคมอุรเวชช์
– ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 จะมีผู้ติดเชื้อ 2,500 คน
– ก่อนสงกรานต์จะมีผู้ติดเชื้อ 17,500 คน
– ณ สิ้นเดือนเมษายนจะมีผู้ติดเชื้อ 22,500 คน
– จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคมคือ 40,000 คนแล้วจะค่อยลดลงเป็นลำดับ
– ณ เดือนธันวาคม 2563 จะมีผู้ติดเชื้อ 7,500 คน
– และในเดือนมีนาคม ปี 2564 จะมีผู้ติดเชื้อ 5,000 คน (สูงกว่ามีนาคม 2563 ถึง 2 เท่า)
จากแบบจำลองนี้บ่งชี้ว่า
2.1.1 สถานการณ์ด้านการแพร่ระบาดของเชื้อโรค(ระลอกแรก)จะค่อยคลี่คลายในเดือนมิถุนายน- กรกฎาคม 2563
(ภายใน 3-4 เดือน) (ถ้าไม่คลี่คลาย ก็เหลือเพียงการปล่อยให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” (herd immunity))
2.1.2 แต่สถานการณ์การเฝ้าระวัง การหยุดหรือลดกิจกรรมทางสังคม การLockdownประเทศ การLockdownเมือง อาจจะต้องดำเนินไปถึงสิ้นปี ยาวไปจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า (12 เดือน)
2.1.3. การคาดการณ์ว่าภาวะ “ปกติ” อาจกลับมาได้อย่างเร็วที่สุดคือ 18-24 เดือน (กรณีที่ยังไม่มีวัคซีนและไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีก)
ภายใน 1-2 ปีที่อาจต้องอยู่ใน “ภาวะ Lockdown” นี้ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งโลก จีนซึ่งใช้มาตรการเข้มงวดขั้นสูงสุดในระยะเวลา 2 เดือนจนเหลือผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละไม่ถึง 100 คน ยังต้องมีมาตรการเข้มงวดทางสังคมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำ เกาหลีใต้ซึ่งสามารถควบคุมมิให้เกิดการเพิ่มของผู้ติดเชื้ออย่างได้ผลก็ยังคงต้องปิดสถานที่สาธารณะ
2.2 รัฐบาลช่วยเบื้องต้น 3 เดือน แต่ผลกระทบอาจยาว 2 ปี
2.2.1 ความทุกข์ร้อนจริงของประชาชน สำคัญกว่า ตัวเลข GDP ที่ลดลง
ก่อนหน้าจะประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” EIC (Economic Intelligence Center) ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 ปรับลดลงเป็นการหดตัวที่ -0.3% จากเดิมคาดขยายตัว 1.8% หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประมาณการการหดตัวของ GDP ในปี 2563 อยู่ที่ -0.8% จากประมาณการเดิมจะขยายตัว 1.5% และธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 5.3 ในปี 2563 ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.0 ในปี 2564
แต่ตัวเลขของ GDP ที่คาดการณ์ว่าจะหดตัวในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ 10-15% ในช่วง 2 ปีนับจากนี้ (ซึ่งสอดคล้องกับบางประเทศเช่นสิงคโปร์หรือสหรัฐฯที่ตั้งงบมาตรการเพิ่มเติมไว้ที่ 10%ของ GDP ประเทศ) แต่ตัวเลขเศรษฐกิจมหาภาคก็ไม่เท่ากับผลกระทบจริง ต่อประชาชน พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย
มีรายงานของเว็บไซด์ wongnai กล่าวว่าเจ้าของร้านอาหารร้านหนึ่งที่เยาวราชที่เคยมีคนรอคิวนานนับชั่วโมงบอกว่า “…เปิดมาจะ 30 ปี นี้คือเรื่องใหม่ที่เราทุกคนในร้านต้องเรียนรู้…ตอนแรก ๆ ที่ประกาศเราก็ยังคิดว่าเออไม่เป็นไร เดี๋ยวลูกค้าคงสั่งเดลิเวอรี่มั้ง แต่เปล่าเลย ร้านเรากลายเป็นเงียบสนิทไม่มีออเดอร์ทั้งหน้าร้านหรือโทรสั่ง…” จากร้านที่เปิดทุกวันต้องปิดเหลือเปิดแค่วันศุกร์-อาทิตย์เพื่อให้ร้านอยู่ได้และไม่ต้องปิดตัว”
2.2.2 ปิดเมืองแค่ 1 สัปดาห์ รายได้หายไป 70-100% ถ้าต้องปิดหลายเดือนหรือเป็นปี คนส่วนมากมีเงินพอประทังชีวิตได้เพียง 3 เดือน
ซึ่งนั่นคืิอ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีหลังคำสั่ง Lockdown เมืองใหญ่ได้เพียง 1 สัปดาห์เดียวเท่านั้น
การปิดร้านนานนับเดือนหรือหลายเดือน ร้านอาหารที่ยังเปิดให้บริการแบบ TakeHome รวมถึงร้านรถเข็น ร้านอาหาร ริมถนน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ต่างได้รับผลกระทบคือ มีรายได้ลดลง 60-80%
นั่นไม่ต้องนับถึงร้านค้าและธุรกิจอื่นๆที่ ต้องปิดอย่างสิ้นเชิงและปราศจากรายได้ แต่พนักงานและผู้ประกอบการ เจ้าของยังต้องมีภาระเรื่องเงินเดือน ค่าใช้จ่าย รวมถึง หนี้สินต่างๆ
เว็บไซด์ “ลงทุนแมน” นำเสนอข้อมูลตัวเลขบัญชีเงินฝากธนาคารของคนไทยล่าสุด เดือนมกราคม 2563พบว่าประเทศไทยมีบัญชีเงินฝากจำนวน 101.5 ล้านบัญชีและ 87% ของบัญชีทั้งหมด มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท
หมายความว่า ถ้าไม่มีรายได้และไม่มีการช่วยเหลือใดๆ คนกว่า 80% จะมีเงินสดประทังชีวิตอยู่ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น
2.2.3 มาตรการปิดเมือง สร้างโอกาสทำกำไรและเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ในภาวะวิกฤติ ส่วน รายย่อย ชาวบ้าน ร้านตลาด เดือดร้อนทั่วหน้า
ขณะที่อานิสงค์กลับตกไปที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven, ร้านอาหารแบรนด์เนม ในเครือธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ ซึ่งผูกการบริการเอาไว้กับบริการจัดส่ง (Grab, Lineman, Food Panda) จนทำให้ 7-Eleven ประกาศรับพนักงาน delivery เพิ่ม 20,000 (แต่กลับไม่เข้มงวดเรื่องการคัดกรองคนเข้า 7-eleven ทั้งๆที่มีจำนวนคนเข้าร้านวันละ 12 ล้านคนทั่วประเทศ) ส่วนธุรกิจ delivery อื่นๆมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงวิกฤติ Covid-19
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่ถ้าเกิดขึ้นนานกว่า 3 เดือน ตามระยะเวลาที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น จะเป็นอย่างไร การเยียวยา 5,000 บาท/เดือน (สำหรับผู้ไม่อยู่ในระบประกันสังคม 3 ล้านคน) และ 7,500 บาท/เดือน (สำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคม 16 ล้านคน) ในระยะเวลา 3 เดือนจะมีการดำเนินการอย่างไร ถ้าทั้งประเทศต้องอยู่ในภาวะ Lockdown ถึง 2 ปี
2.2.4 ตัวเลขผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ผู้รับผิดชอบคาดการณ์ต่ำกว่าตัวเลขจริงที่ปรากฏมาก สะท้อนถึง ความไม่พร้อม และไม่พิจารณาปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาอย่างรอบคอบ
อีกทั้งการเตรียมการช่วยเหลือชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ ประมาณการไว้แค่ 3-4 ล้านคน แต่ตัวเลขของผู้ที่เข้าไปลงทะเบียนรับเงินจนระบบล่มคือ 20 ล้านคน ต่างจากที่ประมาณการเอาไว้เบื้องต้นถึง 6 เท่า
ดังจะเห็นจากปรากฎการณ์คนไปยืนเข้าแถวรอที่หน้าธนาคารที่ปราศจากระบบคัดกรองและระยะห่างทางสังคมเพราะความไม่ชัดเจนในมาตรการที่สั่งออกไป
นอกจากนี้มีรายงานข่าวว่า เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบสนองนโยบายรัฐ สำรองเงินตัวเองออกแทนรัฐบาลไปก่อน โดยคิดออกเบี้ยร้อยละ 20-35% ต่อเดือน ทำให้เงินที่รัฐจ่ายไปที่คนจะได้คือ 5,000 ต่อเดือนแต่ชาวบ้านเลือกรับเงินวันนี้ได้ 3,250 บาท เพราะชาวบ้านจำเป็นต้องการเงินในวันนี้ รอเงินจากรัฐบาลไม่ทัน
3. งบประมาณปี 2563 ที่ทำออกมานั้น ไม่ได้รองรับผลกระทบวิกฤติ Covid-19 ทั้งระยะฉุกเฉิน 3 เดือนและระยะยาว เป็นเวลา 2 ปี
3.1 งบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาทนั้นแบ่งตามยุทธศาสตร์ 7 ด้านก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติการระบาดของเชื้อ Covid-19
3.1.1 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 7.66 แสนล้านบาท
3.1.2 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 5.7 แสนล้านบาท
3.1.3 ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 5.04 แสนล้านบาท
3.1.4 รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 4.31 แสนล้านบาท
3.1.5 ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 4.28 แสนล้านบาท
3.1.6 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.8 แสนล้านบาท
3.1.7 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.18 แสนล้านบาท
ซึ่งยุทธศาสตร์ทั้ง 7 ด้านนี้พิจารณาขึ้นในสถานการณ์ปกติ ไม่รวมถึงสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นวิกฤติอยู่ในขณะนี้
3.2 ควรกำหนดเอา 3 ยุทธศาสตร์ฉุกเฉิน เป็นตัวตั้ง คือ
3.2.1 ยุทธศาสตร์ด้านการรักษาพยาบาลและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ
3.2.2 ยุทธศาสตร์ด้านการเยียวยา ประคับประคองทางเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนให้ดำเนินต่อไปได้ต่อเนื่อง
3.2.3 ยุทธศาสตร์ด้านการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติ Covid-19 อย่างยั่งยืน
3.3 ควรพิจารณางบกระทรวงฯโดยมี 3 ยุทธศาสตร์”รักษา-เยียวยา-ฟื้นฟู” เป็นตัวตั้ง และต้องชะลอหรือหยุดงบประมาณที่ยังไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อการบริหารงบประมาณที่สอดคล้องกับภาวะฉุกเฉิน
งบประมาณรายกระทรวง กระทรวงที่มีงบประมาณมากกว่า 1 แสนล้านบาทคือ
1. กระทรวงมหาดไทย 2.88 แสนล้านบาท
2. กระทรวงศึกษาธิการ 1.32 แสนล้านบาท
3. กระทรวงกลาโหม 1.24 แสนล้านบาท (โดยมี งบกลาง 5.18 แสนล้านบาท)
ซึ่งจะเห็นว่าในสถานการณ์วิกฤติ กระทรวงสาธารณสุขมีงบประมาณอยู่เพียง 2.67 หมื่นล้านบาท
ซึ่งงบประมาณรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP 17.9%)
4. การฟื้นเศรษฐกิจและประเทศไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการแบบเดิม
4.1 ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า “… ผลกระทบจะทำให้เศรษฐกิจ(โลก)ขยายตัวต่ำกว่าปีก่อน แต่จะลดลงเท่าใดคาดเดายาก ขึ้นกับความสามารถในการควบคุมการระบาดของประชาคมโลก…” และย้ำว่า “…ครั้งนี้จะไม่เหมือนที่ผ่านมาในอดีต…”
4.2 โดยรายงานว่า COVID-19 จะสร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ…มีการประเมินว่าทำให้ GDP โลกลดลง 54,000 ล้านดอลลาร์ (0.14%) (ตัวเลขนี้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น เพราะการควบคุมการแพร่เชื้อที่ไม่เป็นผลในซีกโลกตะวันตก)
4.3 ในด้านการค้าโลก รายงานของ UNCTAD (2020) ชี้ว่า “ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของจีน” เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2547 และประเมินว่าจะสร้างความเสียหายต่อการส่งออกในห่วงโซ่อุปทาน 50,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.
4.4 โดยจะมีผลกระทบมากสุดต่อ (ผลกระทบต่อการผลิตอาจต่างกันขึ้นกับการพึ่งพาวัตถุดิบขั้นกลางจากจีนและความแตกต่างกันของอุตสาหกรรม)
• EU (15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
• สหรัฐฯ (5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
• ญี่ปุ่น (5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
• เกาหลี (3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
• เวียดนาม (2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
4.5 ส่วนไทยติดอยู่ที่อันดับ 11 ด้วยมูลค่าความเสียหาย 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ
• อุตสาหกรรมผลิตยางและพลาสติก
• เครื่องมือเครื่องจักร
• เคมีภัณฑ์
• อุปกรณ์สื่อสาร
• ยานยนต์
ส่วนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประเมินว่า จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และสูญเสียรายได้กว่า 2.5 แสนล้านบาท (เฉพาะกรณีนักท่องเที่ยวจีน)
4.6 จีน,สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ประเทศคู่ค้าส่งออกที่สำคัญของไทยล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ทั้งสิ้น
ตัวเลขในปี 2561 จีนมีมูลค่าส่งออก 9.6 แสนล้านบาท(ส่วนแบ่งตลาด 11.9%) สหรัฐอเมริกามีมูลค่าส่งออก 8.98 แสนล้านบาท (ส่วนแบ่ง 11.1%) ญี่ปุ่น มูลค่าส่งออก 7.9 แสนล้านบาท (ส่วนแบ่ง 9.9%)
4.7 OECD ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจว่าในขณะนี้ สถานการณ์การระบาดของเชื้อเป็นสถานการณ์ที่มีแนวโน้มว่า “ประเทศอื่นนอกจีนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้” ซึ่ง กรณีนี้ความเสียหายน่าจะสูงและกินเวลานานเป็นปี
4.8 การเข้าสู่ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” (Great Depression) ครั้งใหม่ ทั่วโลก
เว็บไซด์ “ลงทุนแมน” ระบุว่า คนไทยจำนวนมาก (87%ของผู้มีบัญชีเงินฝาก) มีเงินในบัญชีเพียง 50,000 บาท พอที่จะอยู่ได้ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือใดๆเลยเพียง 3 เดือน
มีบริษัทที่มีกระแสเงินสดพอจะจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้ 1 ปีเป็นจำนวนน้อยและบริษัทจำนวนมากมีกระแสเงินสดพอจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ไม่เกิน 3 เดือน
4.9 คนตกงาน ไม่มีรายได้ เงินเก็บหมด ต้องพึ่งสวัสดิการของรัฐ จะทำให้หยุดการบริโภค (เลื่อนซื้อของใหญ่ และใช้จ่ายเฉพาะในส่วนของปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต)
4.10 ธุรกิจภาคบริการ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย จะได้รับผลกระทบมากมายทันที
บริษัทที่ขาดสภาพคล่องและสร้างหนี้เพื่อผลกำไรสูงสุด จะอยู่ในภาวะวิกฤติในทันที และอัตราส่วนของพนักงานในภาคบริการที่ถือว่าสูงมาก จะทำให้เกิดการว่างงานครั้งใหญ่ทั่วโลก (เมื่อเทียบกับเมื่อคราวภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1929 ในคน 5 คนมีคนว่างงาน 1 คน ในครั้งนั้นตัวเลข GDP ทั่วโลกลดลง 15% เป็นระยะเวลา 3 ปี)
4.11 เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาจะมีคนตกงานกว่า 3.3 ล้านคนในปลายเดือนมีนาคม 2563
4.12 ปัจจุบันสหรัฐอเมริกา มีหนี้สาธารณะ 107% ของ GDP, ญี่ปุ่น มีหนี้สาธารณะ 238% ของ GDP ส่วนไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 41% ของ GDP ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า
4.13 การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หลังวิกฤติ Covid-19 เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และไม่มีใครรู้ว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในครั้งนี้จะกินเวลายาวนานไปขนาดไหน
นี่คือช่วงเวลา “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของประเทศที่ต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรในธรรมชาติ และทรัพยากรด้านทรัพย์สินของประเทศ จึงเป็นความจำเป็นอย่างรีบเร่ง และต้องจัดการอย่างรอบคอบ เพื่อให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้โดยมีความสูญเสียน้อยที่สุด และสามารถเติบโตไปข้างหน้าได้โดยมี “ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ” และ “ภูมิคุ้มกันด้านวิถีชีวิต” ถ้าเกิดกรณีวิกฤติขึ้นอีกในอนาคต
5. สรุป
5.1 ชีวิตและความทุกข์ร้อนของชาวบ้านจริงๆสำคัญกว่าตัวเลข GDP
5.2 การแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของชาวบ้านจริงๆ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีคิดทางเศรษฐกิจแบบเดิม ที่วางอยู่ใน” กรอบ” การแก้ไขเศรษฐกิจในภาวะปกติ ไม่ใช่ภาวะวิกฤติที่มนุษยชาติไม่เคยเจอมาก่อน
5.3 การแก้ปัญหาต้องเปลี่ยนวิธีคิด มีวิธีคิดใหม่ มอง “นอกกรอบ” ความคิดและข้อจำกัดเดิมในการแก้ปัญหา
5.4 มีความจำเป็นต้องทลายข้อจำกัดและเงื่อนไข ระบบระเบียบต่างๆ (เชิงราชการ)ภายใต้กรอบวิธีคิดแบบเดิมให้หมด
6. ข้อเสนอ ทำยุทธศาสตร์ แผนงานและงบประมาณของประเทศใหม่
สถาบันทิศทางไทยมีข้อเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19 ) หรือ ศบค.
6.1 พิจารณาให้ “พ.ร.บ.งบประมาณ” เข้ามาอยู่ในอำนาจของ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
6.2 พิจารณางบประมาณปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาทใหม่ โดยให้ความสำคัญกับ ”งบประมาณเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน” ใน 3 ด้านเป็นอันดับแรก คือ
6.2.1 งบประมาณด้านการควบคุม สกัดกั้น การแพร่ระบาด และการรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย Covid-19 (เพื่อสนับสนุนด้านการยัยบั้งและรักษาพยาบาลจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย)
6.2.2 งบประมาณด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่องอย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกภาคส่วน (เพื่อประคับประคองให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “ทั้งระบบ” ที่ได้รับผลกระทบยังสามารถดำเนินต่อไปได้ต่อเนื่องไม่หยุดชงัก)
6.2.3 งบประมาณพิเศษด้านการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติ Covid-19 อย่างยั่งยืน (โดยสัมพันธ์ไปกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับทั้งโลก และสร้างความยั่งยืนของประเทศบนพื้นฐานของการพึ่งพาตัวเองและหลักคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต)
6.3 ตั้งคณะกรรมการเพื่อนำเสนอ ยุทธศาสตร์ แผนงานและงบประมาณข้างต้น โดยประกอบด้วยรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องและบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่นายกฯมอบหมาย เพื่อรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี
6.3.1 คณะกรรมเพื่อพิจารณาแผนและงบประมาณ
6.3.2 คณะกรรมการเพื่อการสกัด, ยับยั้ง การแพร่ระบาด และการรักษา
6.3.3 คณะกรรมการเพื่อการเยียวยาทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วน
6.3.4 คณะกรรมการเพื่อการฟื้นฟูประเทศอย่างยั่งยืนหลังวิกฤติ Covid-19 โดยประกอบด้วยรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ฯลฯ เพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์ แผนงาน วิธีปฏิบัติ และงบประมาณ ต่อนายกรัฐมนตรี
7. ข้อเสนอเชิงรูปธรรม
7.1 แผนเยียวยาและประคับประคองชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบและทำให้วงจรธุรกิจดำเนินต่อไปได้แบบประคับประคอง
(นอกเหนือจากการลดภาระค่าน้ำ ค่าไฟ ภาษีเงินได้ ค่าประกันฯ และมาตรการพักหนี้ (ทั้งต้นทั้งดอก) ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล)
7.1.1 เงินสนับสนุนผู้ตกงานอันเนื่องจาดกิจการที่ต้องปิดตัวจากผลกระทบโควิด19 (เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้)
7.1.2 ช่วยเหลือผู้ให้เช่าอพาร์ทเม้นท์ บ้านเช่าบอกเลิกสัญญาเช่าเพราะผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่าเป็นเวลา 3 เดือน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าเช่าให้ผู้ให้เช่า (ขึ้นกับขนาดของอพาร์ทเม้นท์และบ้านเช่า)
7.1.3 เงินสนับสนุนผู้ประกอบอาชีพอิสระให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้แบบพอเพียง
7.1.4 บริษัททีไม่บอกเลิกการจ้างรัฐจะสมทบเงินเดือนพนักงาน (ที่ไม่ใช่ผู้บริหาร)รายละ 50-75% ของเงินเดือน (ตามความจำเป็นเพื่อการดำเนินธุรกิจต่อไปได้)
7.1.5 เงินสนับสนุนเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการSMEs ภาคอุตสาหกรรม
7.1.6 พิมพ์ “ธนบัตรรุ่นชนะภัยโควิด19” ซึ่งคาดว่าน่าจะได้มากถึง 2 ล้านล้านบาท (ประมาณ 10% ของปริมาณเงินบาทที่มีอยู่ 20,862,027 ล้านบาท ณ เดือนมกราคม 2564)
7.2 แผนฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติ Covid-19 สร้างรากฐาน คน-ชุมชน-ประเทศ พึ่งตัวเองอย่างยั่งยืน คู่ขนานกับเศรษฐกิจโลกที่จะเปลี่ยนไป
7.2.1 สนับสนุนและให้ความสำคัญกับภาคการผลิตจริง (real sector) มากว่าภาคการลงทุน ระดมทุน ในตลาดทุน
7.2.2 มีมาตรการเร่งด่วนให้เกิดกระแสเงินสดไหลกลับเข้ามาก่อนโดยเฉพาะ ภาคการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค และภาคบริการ สายการบิน โรงแรม
7.2.3 รัฐต้องเข้ามีส่วนร่วม ควบคุม จัดการในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องใช้อุปโภคบริโภค เพื่อลดการผูกขาดของทุนใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม
7.2.4 แผนงานและโครงการบริหารจัดการน้ำ อย่างยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริ ผันน้ำจากภาคบริการและสนามกอล์ฟ สู่ ภาคเกษตรกรรม
7.2.5 ให้ทุนสนับสนุนผู้สมัครใจกลับสู่ภาคเกษตรกรรม ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาทุกระดับเพื่อสร้างฐานคิด ปรัชญาแบบพอเพียง อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงทุนสนับสนุนการ “เปลี่ยนวิถีชีวิต” การสร้างนวัตกรรม ภูมิปัญญา ผลผลิต สร้างชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกับโลกผ่านเทคโนโลยี 4.0
7.2.6 สนับสนุน กลุ่มธุรกิจดิจิตอล กลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นหลังวิกฤติ Covid-19
7.2.7 ส่งเสริมภาคพลังงานที่ยั่งยืน เช่น ไฟฟ้าชุมชน และ พลังแสงอาทิตย์ ฯลฯ
ด้วยความเคารพ
สถาบันทิศทางไทย