เป็นเรื่องที่ดีหรือ? นิด้าโพลเปิดความเห็น ปชช. 51.58% โจมตีคนเห็นต่างได้!!

0

นิด้าโพล เปิดความเห็นประชาชน มากกว่าร้อยละ 51.58% มองการโจมตีผู้เห็นต่างทางความคิดเป็นเรื่องที่สามารถทำได้!

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เสรีภาพในการโจมตี ผู้เห็นต่าง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,326 หน่วยตัวอย่าง

เกี่ยวกับการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อต่อต้าน/โจมตี ผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อต่อต้าน/โจมตี ผู้แสดงความคิดเห็นต่าง ทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.58 ระบุว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพที่กระทำได้ในระบอบประชาธิปไตย รองลงมา ร้อยละ 13.20 ระบุว่า เป็นการละเมิดสิทธิผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง, ร้อยละ 12.14 ระบุว่า เป็นแค่การทำตามกระแส , ร้อยละ 8.90 ระบุว่า ผู้ถูกต่อต้าน/โจมตีผ่านสื่อออนไลน์ ก็มีสิทธิตอบโต้กลับ , ร้อยละ 8.37 ระบุว่า เป็นแค่กิจกรรมทางการเมืองทั่ว ๆ ไป อย่างหนึ่ง ไม่เสียหายอะไร และเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สร้างความแตกแยกในสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน

ร้อยละ 4.37 ระบุว่า เป็นการรณรงค์ที่มีกลุ่มการเมือง/พรรคการเมือง อยู่เบื้องหลัง , ร้อยละ 4.15 ระบุว่า เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย , ร้อยละ 2.87 ระบุว่า เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่บังคับให้คนในสังคมเลือกข้าง , ร้อยละ 0.83 ระบุว่า เป็นการรณรงค์ที่มีหน่วยงานต่างประเทศ อยู่เบื้องหลัง และร้อยละ 10.71 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อต่อต้าน/โจมตี ผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 17.19 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่สามารถกระทำได้โดยการแสดงออกผ่านสื่อออนไลน์ที่หลากหลายช่องทาง , ร้อยละ 17.65 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองผ่านสื่อออนไลน์ และเป็นช่องทางที่แสดง ความคิดเห็นง่ายที่สุด

ร้อยละ 20.36 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ เป็นการละเมิดสิทธิผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน , ร้อยละ 37.18 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการเเสดง ความคิดเห็นที่ต่างกัน ควรเคารพความคิดเห็น ไม่ควรโจมตีคนที่เห็นต่างทางการเมือง และร้อยละ 7.62 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความกลัวของประชาชนหากมีการแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง แล้วจะถูกต่อต้าน/โจมตี ผ่านสื่อออนไลน์ พบว่า ร้อยละ 10.48 ระบุว่า กลัวมาก เพราะ ทุกเพศ ทุกวัยมีสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย สามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว , ร้อยละ 20.67 ระบุว่า ค่อนข้างกลัว เพราะ เกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่ออาชีพการงาน เรื่องส่วนตัว และครอบครัว

ร้อยละ 17.35 ระบุว่า ไม่ค่อยกลัว เพราะ ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดง ความคิดเห็นได้อย่างอิสระ แต่อยู่ในกรอบของกฎหมาย , ร้อยละ 46.30 ระบุว่า ไม่กลัวเลย เพราะ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่สามารถแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองในพื้นที่ส่วนตัวของตนเอง โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และร้อยละ 5.20 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงผลกระทบต่อการตัดสินใจในการบริโภคของประชาชน จากกรณีที่มีการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์เพื่อแบนสินค้า/บริการของผู้สนับสนุนหรือผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 11.16 ระบุว่า มีผลกระทบมาก เพราะ มีผลทางด้านจิตใจกับผู้สนับสนุนหรือผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง ทำให้แบนสินค้านั้น ๆ ตามไปด้วย

ร้อยละ 15.31 ระบุว่า ค่อนข้างมีผลกระทบ เพราะ ผู้สนับสนุนหรือผู้แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองไม่มีใจเป็นกลาง ทำให้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้านั้น ๆ ด้วย

ร้อยละ 12.90 ระบุว่า ไม่ค่อยมีผลกระทบ เพราะ การบริโภคสินค้าจะดูจากสรรพคุณ คุณภาพ และคุณสมบัติมากกว่าปัจจัยอื่น ๆ , ร้อยละ 57.46 ระบุว่า ไม่มีผลกระทบเลย เพราะ ดูที่ตัวสินค้าเป็นหลักในการบริโภค และขึ้นอยู่กับความพึงพอใจหรือความชอบส่วนตัวมากกว่า พรีเซ็นเตอร์หรือยี่ห้อสินค้า และร้อยละ 3.17 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ