“ปิยบุตร” เล็คเชอร์แรง ทำไมต้องยอมให้ตระกูลเดียวมี – นักศึกษายกมือถาม “สถาบันกษัตริย์” อยู่ตรงไหนในระบอบประชาธิปไตย ?
ที่อาคารเรียนรวมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า บรรยายพิเศษในรายวิชา “TU 101 : โลก อาเซียน และไทย” ว่า ปรากฏการณ์เรื่องของอำนาจ เริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีสมาชิกมากกว่า 1 คนขึ้นไป เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ ในระดับครอบครัวพ่อแม่ผู้ปกครองก็มีอำนาจในการออกคำสั่ง และเมื่อหลายครอบครัวรวมกันเป็นสังคม เริ่มมีการใช้อำนาจที่กระทบกับส่วนรวมกว้างมากขึ้น
ดังนั้น ต้องมีคนตัดสินที่ยอมรับได้ ซึ่งแต่เดิมอาจให้คนที่รบเก่ง คนที่หาทรัพยากรเก่ง คนพูดแล้วน่าเชื่อถือ คนทื่อ้างว่าเป็นโอรสสวรรค์ หรือคนมีอาวุธ มาเป็นผู้ปกครองเพื่อตัดสิน ซึ่งเหล่านี้ก็คือคนธรรมดา วันหนึ่งก็ต้องเสียชีวิต ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จึงเกิดความโกลาหล เกิดการแย่งชิงอนาจ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องหาทางออก คิดค้นวิธีการในการเอาอำนาจทางสาธารณะออกจากตัวบุคคล จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “รัฐ” แปลงอำนาจให้เป็นสถาบันอย่างเป็นทางการ เพราะเมื่อวันหนึ่งตัวบุคคลตายไปแล้ว รัฐยังอยู่และมีกระบวนการคัดสรรเลือกคนใหม่ขึ้นมาแทน
อย่างไรก็ดี นายปิยบุตร กล่าวต่อไปว่า ความคิดเรื่องรัฐเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 16 เพื่อสู้กับศาสนจักร โดยฝ่ายอาณาจักรต้องการแยกอำนาจที่มองว่าศาสนจักรครอบงำออกมา โดยสร้างสิ่งที่เรียกว่ารัฐตกทอดมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ในรัฐสมัยใหม่กฎหมายมหาชนแบ่งชัดเจนว่า รัฐนั้นส่วนหนึ่ง ตำแหน่งส่วนหนึ่ง และคนที่ไปดำรงตำแหน่งนั้นก็อีกส่วนหนึ่ง โดยรัฐเป็นสิ่งสมมติที่แสดงออกผ่านองค์กรของรัฐ โดยมีคนเข้ามาแสดงเจตนาแทนในนามของรัฐ
ซึ่งรัฐสมัยใหม่รุ่นแรกๆ ผู้ปกครองคือพระมหากษัตริย์ สืบทอดทางสายโลหิต นี่เป็นรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ก็มีกฎเกณฑ์การสืบทอดทางสายโลหิตต่อไป รัฐไม่ได้ล้มสลายหายไป ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่านไปเรื่อยๆ คนเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมต้องยอมให้คนตระกูลๆ หนึ่งเท่านั้น จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้เหรอ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการปราบดาภิเษกอยู่เรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการต่อมา ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ชอบธรรมในโลกสมัยใหม่ จึงเกิดรัฐประชาธิปไตยขึ้น สิทธิธรรม ความชอบธรรมผู้ปกครองต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นการอธิบายใหม่ว่า อำนาจสูงสุดที่ใช้ปกครองในรัฐนั้นไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนทุกๆ คน จึงสร้างสิ่งสมมติขึ้นมาแทนคนทุกๆ คน นั่นก็คือ people หรือประชาชน นี่คือการถ่ายโอนอำนาจสูงสุดที่อยู่ที่คนหนึ่งคนให้เป็นทุกคน และใช้วิธีการเลือกตั้งผู้ปกครอง เป็นรัฐแบบประชาธิปไตย
“รัฐแบบประชาธิปไตยเองก็ถูกตั้งคำถามว่า ใครคือประชาชนบ้าง ซึ่งในยุคแรกๆ พวกกระฎุมพีต้องการมีอำนาจในการปกครอง ก็เข้าไปเปลี่ยนแปลงแล้วเอาอำนาจจากกษัตริย์มาไว้กับกลุ่มตน ขณะเดียวกันก็เหยียบกดคนรากหญ้าไม่ให้ขึ้นมาด้วย ดังนั้น สิทธิแรกๆ ในการเลือกตั้งผู้ปกครองนั้นจึงถูกจำกัด เช่น ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นคือพวกที่จ่ายภาษีถึงเกณฑ์และให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม พัฒนาการต่อมาคือคนระดับล่างก็คิดว่าตนเองนั้นก็ทำงานหนัก หยาดเหงื่อก็ถูกใช้เพื่อประโยชน์ประเทศ ทำไมไม่มีสิทธิเลือกตั้ง จึงเกิดการเรียกร้องขอขยายสิทธิออกเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดหลักสิทธิเลือกตั้งเป็นของคนทุกๆ คน เพียงแค่ขอให้เป็นพลเมืองในรัฐนั้นมีอายุถึงเกณฑ์ ซึ่งในประเทศไทยจำกัดที่อายุ 18 ปี แต่ในความเห็นตน เห็นว่าควรให้ที่อายุ 15 ปี ซึ่งมีความชอบธรรมกับคนวัยนี้ด้วย เพราะเขาจะอยู่ยาวกับสิ่งที่พวกเขาเลือกมากกว่าคนสูงอายุ” นายปิยบุตร กล่าว
ทั้งนี้ นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยแบบผู้แทนก็เกิดปัญหา เปิดช่องให้มีการสืบทอดทางตระกูลการเมือง ผ่านอิทธิพล เงินตรา และโอกาส คนที่เข้ามาสู่อำนาจ ได้รับการเลือกมาก็มักจะเป็นผู้แทนที่มีหน้าตาเหมือนๆ กันหมด สุดท้ายประชาธิปไตยแบบผู้แทนก็เกิดจุดอ่อน 1. ผู้แทนถูกผูกขาดโดยคนไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่ตระกูล เป็นคลับนักการเมือง (Political elite) 2.ความเชื่อมโยงกับประชาชนยิ่งห่างออกไป
ทั้งๆ ที่ประชาชนเป็นคนออกใบอนุญาตให้ทำงานในตำแหน่ง ส.ส. นี่เป็นอาชีพเดียวที่ประชาชนเลือก ห่วงโซ่ความเชื่อมโยงต้องมี แต่เมื่อไปอยู่ในคลับนักการเมืองนานเข้า ห่วงโซ่ความเชื่อมโยงนี้ก็หายไป กลายเป็นว่าประชาชนมีอำนาจ 4 วินาที ตอนกากบาทเลือกตั้ง นี่เป็นการพูดเรื่องประชาธิปไตยทางตรงผ่านการออกเสียงประชามติและปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดใหม่ๆ ทางตะวันตกเสนอว่า 1.ดำรงตำแหน่ง ส.ส. สมัยเดียว 2. สภาพลเมืองที่มาจากการจับสลาก แนวคิดทั้งสองนี้เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองกลายเป็นอาชีพ ถูกผูกขาดโดยตระกูลไม่กี่ตระกูล เพราะถ้าคนเท่าเทียมกัน เป็นแค่สมัยเดียว ทำหน้าเต็มที่โดยไม่ต้องพวงว่าครั้งหน้าจะได้รับการเลือกตั้งไหม ต้องคิดถึงเงินและทรัพยากรที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เขาก็จะกล้าหาญในการตัดสินใจมากขึ้น ส่วนกรณีสภาพลเมืองโดยการจับสลากเข้ามาเป็น เริ่มมีความคิดว่าจะใช้ในระดับท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งคนละสมัยแล้วก็เวียนออก มีสภาพลเมืองตรวจสอบผู้บริหารคนละปีแล้วเวียนออก นี่คือแนวคิดเรื่องการสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงอำนาจ ทลายเรื่องอิทธิพล เงินตรา และโอกาส
“พัฒนาการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนอยู่ที่ว่าอำนาจเป็นของใคร ตั้งอยู่บนความชอบธรรมเรื่องอะไร ทำไมเราถึงเชื่ออำนาจนั้น เพราะอำนาจจะทำงานได้ต่อเมื่อเราเชื่อว่ามันเป็น เชื่อว่ามันมี กลไกการทำงานของอำนาจตั้งอยู่บน 2 กลไก คือ 1. กำลังบังคับที่ภายหลังก็เปลี่ยนตัวเองจากดิบเถื่อนมาเป็นกฎหมาย บังคับใช้ตามกฎหมายผ่านเจ้าหน้าที่บ้านเมือง กับ 2. ความเชื่อที่แม้ไม่ต้องบังคับก็เชื่อ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์เรื่องอำนาจนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ และเป็นภารกิจของมนุษย์ที่จะต้องคำถามกับอำนาจทุกรูปแบบ เพราะสิทธิเสรีภาพติดตัวเรามาแต่เกิด และอำนาจก็ได้ทำให้เสรีภาพของเราหายไป ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งคำถาม ที่จะต้องคิดว่าอำนาจที่ใช้กำหนดเรานั้นมีเหตุมีผลหรือไม่ ควรเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่” นายปิยบุตร กล่าว
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงาน ในช่วงเปิดโอกาสให้ซักถาม นักศึกษาคนหนึ่งถามว่า การใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยที่ว่าเป็นของทุกคนนั้น สถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน? โดย นายปิยบุตร กล่าวว่า จากพัฒนาการที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าตำแหน่งผู้ปกครองที่สืบทอดทางสายโลหิตนั้นไม่สอดคล้องกับรัฐสมัยใหม่ โดยจะพบว่าเหลือประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตรย์น้อยลง โดยเฉพาะหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ ด้วยเหตุผลในตัวเองด้วย กล่าวคือ เรายินยอมให้คนหนึ่งถือครองอำนาจรัฐ ใช้ทรัพยากรรัฐ โดยที่เขามาจากการสืบทอดอย่างนี้เหรอ? ทำไมคนอื่นไม่ได้บ้าง? ทำให้ประเทศต่างๆ ที่ยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องตอบคำถามนี้ผ่านการปฏิรูปให้อยู่ได้กับระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ ตัดอำนาจทางการเมืองออก ให้เป็นประมุขของรัฐที่ไม่ได้ใช้พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยแท้จริง ทั้งนี้ ในการปฏิรูปให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยในความเห็นตนนั้น ต้องมีการแก้เรื่องทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินสาธารณะให้ชัด อำนาจในการบริหารนั้นเป็นของรัฐบาล อำนาจตรวจสอบเป็นของรัฐสภา และต้องเปิดโอกาสให้คนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วย