จากกรณีที่กลุ่มนักเรียน ในนามกลุ่มนักเรียนเลว ได้เดินทางกันมาชุมนุมด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63 ที่ผ่านมานั้น เพื่อต้องการขับไล่นายณัฏฐพล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และเรียกร้องให้รับข้อเสนอของกลุ่มนักเรียนเพื่อแก้ไข
รวมไปถึงเหตุการณ์ที่มีกลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มธรรมศาสตร์จะไม่ทน และนักเรียน นักศึกษาจำนวนมากออกมาร่วมชุมนุม เพื่อเรียก 10 ข้อและต้องการให้รัฐบาลยุบสภา อีกทั้งยังบานปลายจาบจ้วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร
ล่าสุดดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานรัฐสภา ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาระบุดังนี้ พระมหากษัตริย์ไม่เคยประสงค์และสั่งให้ทำรัฐประหารเลย
การรัฐประหารทุกครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2475 ก็เป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๗
การรัฐประหารปี 2534 ของคณะ รสช ซึ่งมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และพลเอกสุจินดา คราประยูร ทำการรัฐประหารและแต่งตั้งนายกอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์ก็มิได้รับรู้รับทราบ และมิได้โปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
หลังจากมีการเลือกตั้งในปี 2535 คุณณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเสนอพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มิได้ทรงเห็นด้วย ได้พยายามทัดทานอย่างมาก โดยได้ให้คณะที่เข้าเฝ้า เข้าเฝ้าเพื่อ “ตอบคำถาม 20 คำถาม” ก่อนพิธีการ เช่น ลาออกจาก ผบ ทบ หรือยัง ลาออกจาก หัวหน้าคณะ รสช หรือยัง หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมที่ได้รับเลือกตั้งได้เสียงมากที่สุดเป็นไม่ได้แล้ว เขาไม่มีรองหัวหน้าพรรคหรือ ประชาชนต้องการนายกมาจากการเลือกตั้ง
แล้วพลเอกสุจินดาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะไม่สวนกระแสความต้องการของประชาชนหรือ ดูฤกษ์ยามมาดีแล้วหรือ และอีกหลายคำถาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงห่วงใยประชาชน แต่เมื่อได้คำชี้แจงทั้งตามรัฐธรรมนูญ ทางกฎเกณฑ์ทางกฎหมายและการเมือง พระองค์ท่านก็มิอาจทัดทานได้ ต้องยินยอมตามข้อเสนอขอแต่งตั้ง แต่ก็มิวาย ได้โปรดมีพระกระแสรับสั่งกำชับอีกด้วยว่า
“ให้ไปออกชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในค่ำคืนวันนั้นด้วย”
จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้น พระองค์จึงต้องออกมาหย่าศึกเพื่อมิให้ประชาชนต้องเสียเลือดเสียเนื้อและประเทศชาติต้องล่มสลายด้วยพระเดชะบารมีและพระเมตตาบารมีต่อประชาชนของพระองค์ท่านเอง มิใช่ด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดใด ประเทศชาติจึงสงบสันติสุขลงได้
แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ได้พยายามทุกขั้นตอนแม้ไม่มีพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะส่งเสริมสร้างประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนตลอดมา
การรัฐประหารปี 2557 ยิ่งชัดเจนว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักอยู่ และองค์พระรัชทายาทก็ยังประทับอยู่ในต่างประเทศ การจะกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์ทรงสั่งการการรัฐประหารจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และห่างไกลจากความเป็นจริง
ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Arthit Ourairat