จากกรณีที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงข่าวว่าพบหญิงตรวจพบเชื้อโควิด-19 โดยยืนยันว่าเป็นหญิงไทย 2 คน
สำหรับข้อมูลคนแรก เป็นเพศหญิง อายุ 34 ปี เคยทำงานที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางกลับมาไทยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ไม่มีอาการ เข้ากักตัวที่สถานกักกันที่ราชการกำหนด 2 สัปดาห์ ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 1 วันที่ 5 มิถุนายน ตรวจพบสารพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 ปริมาณน้อย จึงสรุปผลการตรวจหาเชื้อกำกวม และตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 13 มิถุนายน 2563 ผลไม่พบเชื้อ เมื่อกักกันครบ 2 สัปดาห์ ได้รับอนุญาตเดินทางกลับภูมิลำเนา จังหวัดชัยภูมิ และพักแยกตัวจนครบ 30 วัน ต่อมาในวันที่ 17 สิงหาคม 63 เตรียมตัวเดินทางต่างประเทศ จึงได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ผลการตรวจวันที่ 18 สิงหาคม 2563 พบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ในปริมาณน้อย และเจาะเลือดตรวจพบภูมิคุ้มกัน ขณะนี้แพทย์รับไว้ดูแลในโรงพยาบาล จึงสรุปว่าเป็นผู้ติดเชื้อรายเดิมที่พบซากเชื้อ
ส่วนในคนที่ 2 เป็นเพศหญิง อายุ 35 ปี เคยทำงานที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เข้ากักตัวที่สถานกักกันที่ราชการกำหนดนาน 2 สัปดาห์ ทำการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ จึงได้รับอนุญาตเดินทางกลับภูมิลำเนา จังหวัดเลย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่าโควิด 19 การพบเชื้อในผู้ที่หลังจากพ้นการกักกันโรคแล้ว 14 วัน มีความเป็นไปได้ดังนี้
- ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะเป็น 2 ถึง 7 วัน อาจพบได้ถึง 14 วัน และอาจจะเป็นไปได้ น้อยมาก ถึง 21 วัน
ดังนั้นในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรคและ 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วันเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกัน การกระจายโรค - การตรวจพบเชื้อหลังจาก 14 วันไปแล้ว ก็เป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วง 14 วัน ที่อยู่ในสถานที่กักกัน ในอดีตเช่นในเรือสำราญ ดังนั้นในสถานที่กักกัน เราจึงเคร่งครัด ไม่ให้มีการพบปะกันระหว่างผู้ที่กักกันด้วยกัน หรือบุคคลภายนอก
- ผู้ป่วยนั้นมาติดเชื้อในประเทศไทย โอกาสนี้เป็นไปได้น้อยมาก ขณะนี้ไม่พบการติดต่อเกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 80 วันแล้ว
- มีความเป็นไปได้ที่ผู้นั้นติดเชื้อมาจากต่างประเทศ หรือป่วยอยู่ต่างประเทศแล้ว และเมื่อมาถึงเมืองไทย เชื้อมีปริมาณน้อย ในบางช่วงก็ตรวจไม่พบ และต่อมา หรือบางช่วง ก็ตรวจพบ อย่างเช่นการระบาดในรอบแรกของเรา เราได้ทำการศึกษาร่วมกับสำนักการแพทย์และสำนักอนามัยกทม.
พบว่า ก่อนกลับจากโรงพยาบาลตรวจไม่พบเชื้อแล้ว หลังจากนั้นเราติดตาม ก็ยังมีการพบเชื้อ แต่เชื้อมีปริมาณน้อยมาก ในการติดตามระยะยาวที่เราทำการศึกษา จำนวน 212 ราย พบว่าในช่วง 4-12 สัปดาห์ หลังจากที่มีอาการ และผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว เรายังตรวจพบเชื้อได้ประมาณร้อยละ 6.6 ของผู้ป่วย เราได้เผยแพร่ในวารสาร
เราพบไวรัสได้หลังจากมีอาการ 36– 105 วัน แต่ปริมาณไวรัสที่พบน้อยมาก ดังนั้นการพบเชื้อดังกล่าว ผู้ป่วยไม่มีอาการ รวมทั้งการตรวจปริมาณไวรัส ถ้ามีเป็นจำนวนน้อย โอกาสที่จะแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นก็น้อยมาก ๆ ดังข้อมูลในการระบาดรอบแรก ที่เราได้ทำการศึกษาถึงแม้จะตรวจพบเชื้อ ก็ไม่พบว่าแพร่กระจายไปสู่ผู้ใดเลย
ที่มา : Yong Poovorawan