จากกรณีวันนี้(30 มี.ค.63) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “หมอแก้ว ผลิพัฒน์” ถึงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วมีคนถามเข้ามาเยอะว่าในวันที่ 15 เมษายนนี้ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยถึง 350,000 คนและจะมีผู้เสียชีวิตถึง 7,000 คนเลยเหรอ ซึ่งข้อมูลนี้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนค่อนข้างมาก
ที่ผมตอบไปก็คือ
- ตัวเลขที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเผยแพร่ออกมานั้น เป็นตัวเลขที่ “ไม่น่าจะเป็นไปได้” หรือ “มีความเป็นไปได้น้อยมากๆๆๆๆๆ” ครับ
อีกไม่ถึง 20 วันจะมีคนเสียชีวิตเพิ่มอีก 7,000 คน เนี่ยนะ แม้แต่ตัวเลขที่เป็นสถานการณ์ปิดเมืองของทีมยังดูจะสูงมากอยู่ดีครับเขาบอกว่าแม้จะปิดเมืองจะยังคงมีผู้เสียชีวิตถึง 485 คน ตอนนี้เรายังไม่ปิดเมืองจริงจังจำนวนผู้เสียชีวิตก็ดูเหมือนจะไม่ถึง 485 คนอยู่ดี
- ต้องขอออกตัวก่อนครับว่า ผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำการคาดประมาณ ผมไม่รู้ว่าคนคาดประมาณมีความรู้ด้านระบาดวิทยาและชีวสถิติมากน้อยแค่ไหน ผมไม่รู้ว่าเขาใช้สมมุติฐานอะไรในการคาดประมาณ เขามีพารามิเตอร์ที่สำคัญอะไรบ้าง ผมไม่รู้ว่าใครบ้างที่ออกมาพูดเรื่องนี้จริงจัง ผมไม่รู้ว่าคนที่ออกมาพูดรู้วิธีการที่คนคาดประมาณใช้ในการคาดประมาณหรือเปล่า และที่สำคัญที่สุดคือผมไม่รู้ว่าเขา “หวังผล” อะไรจากการทำและเผยแพร่ตัวเลขชุดนี้ (เขาอาจจะหวังดีก็ได้)
- โดยทั่วไป กระทรวงสาธารณสุขก็มีทีมนักระบาดวิทยามาคอยทำการคาดประมาณตัวเลขอยู่แล้วครับ ตัวเลขจากการคาดประมาณที่เราทำกันขึ้นมา “เรานำมาใช้ประกอบการวางแผน” ครับ และมีการปรับปรุงตัวเลขคาดประมาณเป็นระยะๆ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
- ตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขเคาะออกมาก็คือ ถึงประมาณวันที่ 15 เมษายนนี้
– ถ้าไม่มีมาตรการที่สามารถป้องกันโรคได้ดีจริงๆ และเราไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ (เหมือนสนามมวย และสถานบันเทิง) ซ้ำเข้ามาอีก เราจะมีผู้ป่วยประมาณ 25,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เรานำมาใช้ในการเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ในปัจจุบันครับ
– ในขณะที่ถ้าเราสามารถดำเนินการตามมาตรการการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล (social distancing) ได้ประมาณร้อยละ 50 (ซึ่งในปัจจุบันเรายังไม่ได้ดำเนินการเข้มข้นถึงขนาดนั้น) เราจะมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 17,600 คน และ
– ถ้าเราสามารถเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลได้ถึงร้อยละ 80 (ซึ่งในปัจจุบันเรายังไม่ได้ดำเนินการเข้มข้นถึงขนาดนั้น) เราจะมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 7,700 คน
- ตัวเลขที่ได้มา ผ่านการคิดคำนวณอย่างมีหลักการ และใช้ข้อมูลที่ดีที่สุด เพื่อให้ได้ตัวเลขที่น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงระดับหนึ่ง สามารถชี้นำและกำหนดนโยบายได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ปั้นตัวเลขอะไรขึ้นมาสักตัวนึง สร้างชื่อปั่นกระแสให้กับคนที่ออกมาพูด แต่กลับสร้างความสับสนให้กับสังคม สร้างผลกระทบในแง่ลบให้กับสังคม นำไปสู่การนำมาตรการที่ขาดการคิดไตร่ตรองวางแผนให้รอบคอบมาใช้ ซึ่งส่งผลด้านลบอื่นๆ ต่อไปอย่างกว้างขวาง (แทนที่จะยุติการแพร่โรคกลับส่งเสริมการแพร่โรค) ในขณะเดียวกัน ตัวเลขที่ปั่นมาก็ไม่สามารถจะนำไปใช้ประกอบการวางแผนอะไรได้เลย
- การนำเสนอข้อมูลใดๆ พึงนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริง ดังคำสอนของ อ.สุชาติ เจตนเสน ที่กล่าวไว้ว่า “การบิดเบือนความจริง เพื่อได้ผลทางอื่น จะมีผลกระทบต่อการเฝ้าระวัง และควบคุมโรคอย่างมาก”
- การสร้างความกลัวในช่วงที่มีการระบาดของโรคไม่ใช่ทางเลือกในการป้องกันโรคที่ดี เรื่องนี้นักระบาดวิทยาและนักควบคุมโรครู้กันมานานแล้ว ความกังวลและความกลัว นำมาซึ่งปัญหาการตีตรา การตั้งแง่รังเกียจกัน นำมาซึ่งปัญหาการปกปิดความจริง ทำให้โรคแพร่ระบาดต่อไปได้ง่ายขึ้น และสุดท้ายคือความแตกแยกในสังคม ดังที่เราเองก็เคยเห็นภาพความแตกแยกเหล่านี้เสมอๆ ในยามที่เรามีปัญหาโรคระบาดสำคัญๆ ในอดีตที่ผ่านมา
- ศึกนี้เป็นศึกที่เราทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันจริงๆ ซึ่งเรื่องนึงที่ต้องร่วมมือกันด้วยคือ การร่วมมือกันให้ “ความจริง” แก่สังคม การร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้เกิด สติ และปัญญา จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ และในระยะยาวครับ
.
อย่างไรก็ตามทีมข่าวปอกเปลือกนิวส์จึงได้ตรวจสอบในเบื้องต้นถึงข้อมูลตัวเลขที่เป็นที่มาของคำถามและคำชี้แจงของหมอแก้ว ก็พบว่าก่อนหน้านี้คือวันที่ 23 มีนาคม ศาสตราจารย์ ดร.นายเเพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะ คาดการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านช่อง IPTV Mahidol University
ทั้งนี้ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวตอนหนึ่งถึง ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีคนไข้เข้ามาตรวจไวรัสโควิด-19 จากที่นิ่งๆ พบไม่มาก มากระโดดเมื่อเจอติดเชื้อที่ผับและที่สนามมวย ขณะที่โลกแบ่งประเทศการระบาดโควิด-19 เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่คุมไม่อยู่ จะอยู่ทางประเทศยุโรป กับกลุ่มที่คุมอยู่ คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
ส่วนประเทศไทยจัดอยู่กลุ่มใด ศ. ดร.นายเเพทย์ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยกราฟไปคล้ายกับประเทศเยอรมนี หมายความว่า ถ้าเราไม่ทำอะไร คาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้น จะเหมือนกับประเทศที่คุมไม่อยู่ แต่ละวันจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 33%
“วันนี้โอกาสที่ไทยจะสามารถคุมได้แบบญี่ปุ่นยากแล้ว เราเริ่มต้นช้า 3-4 วันมานี้ เราได้ตัวเลขนี้จริงๆ มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่ช่วยกันตัวเลขภายใน 15 เมษายน เราจะพบผู้ป่วยติดเชื้อ 351,948 ราย หากช่วยกันและทำได้สำเร็จ ดึงตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาเหลือ 20% ได้ ไทยจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตัวเลขอยู่ที่ 24,269 ราย”
นอกจากนี้ ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า หากคนไทย ยังปฏิบัติแบบเดิม ยังอออกจากบ้าน ยังใช้ชีวิตพูดคุย เจอกัน ทำงานแบบที่ทำในเวลานี้ 15 เมษายน คาดว่า คนไทยเป็นโควิด 351,948 ราย นอนโรงพยาบาล 52,792 ราย นอนไอซียู 17,597 ราย และเสียชีวิต 7,039 คน แต่หากทุกคนอยู่บ้าน คาดว่า 15 เมษายน คนไทยเป็นโควิด 24,269 ราย นอนโรงพยาบาล 3,640 ราย นอนไอซียู 1,213 ราย และเสียชีวิต 485 คน