พระครูปลัดกวีวัฒน์ธีรวิทย์ รีบแจงด่วน ม็อบปลดแอก ชูป้ายลามพุทธศาสนาไม่เหมาะสม แท้จริง “บัณเฑาะก์” บวชไม่ได้

0

หลังจากสิ้นสุดการชุมนุมของม็อบเยาวชนปลดแอกและนักศึกษาที่มารวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา

โดยหลังจากนี้แกนนำและกลุ่มเยาวชนจะรอการเคลื่อนไหวจากรัฐบาล ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อหรือไม่ โดยมี 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้ 1. หยุดคุกคามประชาชน 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3.ยุบสภา ทั้งนี้ในการชุมนุม ได้มีการชูป้ายที่ไม่เหมาะสม ไปถึงพระสงฆ์และพุทธศาสนาด้วย

 

ล่าสุดทางด้านพระครูปลัดกวีวัฒน์ธีรวิทย์ ฉนฺทวิชโช รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Teerawit Sukontavaranon กรณีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีการชูป้ายข้อความ “พระตุ๊ด เณรแต๋ว คือเสรีภาพทางเพศ ไม่ใช่เรื่องผิดบาป “ว่า เพื่อประชา- ธิปไตย ว่าไปเถิด
อย่าเตลิด ท้วงไป ในทุกสิ่ง บางเรื่องนั้น ควรดูฐาน ตามความจริง หาใช่สิ่ง ร้องเอา ตามต้องการ”

#พระพุทธศาสนา มีกฎหมายแม่บทที่เรียกว่า “#พระวินัย” ซึ่งพระสงฆ์ทุกยุคทุกสมัยไม่เคยฉีก และมีการปฏิบัติเท่าเทียมกัน (#ศีลสามัญญตา) ไม่ได้แบ่งว่าพระบวชก่อน พระบวชหลัง ต้องละเว้นการปฏิบัติ

ในกรณีที่เรียกร้องตามภาพที่ปรากฏนี้ เข้าใจว่าคงเป็นกระแสจากการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ที่เรียกว่าตุ๊ด แต๋ว เมื่อบวชมาสังคมก็ให้ชื่อว่า พระตุ๊ด เณรแต๋ว ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วยังมีให้เห็นคณะสงฆ์หาได้จำกัดสิทธิในการบวช คณะสงฆ์จำกัดสิทธิของการบวขในเพศสภาพตามพระวินัยเท่านั้น

และในส่วนที่มีการตำหนิก็คือกลุ่ม #พระตุ๊ด #เณรแต๋ว ที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับความเป็นสมณะ สร้างความเสื่อมศรัทธาให้พุทธศาสนิกชน แต่ในส่วนที่บวชเข้ามาแล้วมีศีลาจารวัตรที่เรียบร้อย ก็ไม่มีใครจะตำหนิท่าน

ดังนั้นการเป็นตุ๊ด เป็นแต๋ว แล้วเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ได้เป็นความผิดบาปแต่อย่างใด แต่การเข้ามาบวชแล้วประพฤติตนไม่เคารพพระธรรมวินัยต่างหาก ซึ่งจะเป็นความผิดและบาป โดยไม่เกี่ยวว่าจะเป็นพระตุ๊ด เณรแต๋ว หรือไม่ก็ตาม

แต่ก็คงต้องขอทำความเข้าใจในเงื่อนไขของของเพศสภาพตามพระวินัยที่ได้ห้ามไว้ซึ่งเรียกว่า “บัณเฑาะก์” สามารถสืบค้นได้ในพระไตรปิฏก เพื่อเป็นความรู้ของนักสู้เพื่อประชาธิปไตย

#บัณเฑาะก์ ในพระวินัยปิฎกใช้คำนี้หมายถึงบุรุษที่พอใจมีเพศสัมพันธ์กับบุรุษโดยมีความรู้สึกตนเหมือนเป็นสตรี ในสมัยพุทธกาลได้มีกะเทยบวชเป็นภิกษุ แล้วไปชวนภิกษุสามเณรมีเพศสัมพันธ์ แต่ถูกภิกษุสามเณรเหล่านั้นขับไล่

ภิกษุกะเทยจึงไปชวนพวกคนเลี้ยงช้างและคนเลี้ยงม้ามีเพศสัมพันธ์ด้วย เมื่อคนเลี้ยงช้างคนเลี้ยงม้าเหล่านั้นมีเพศสัมพันธ์กับภิกษุกะเทยแล้วก็ไปโพนทะนาว่า ภิกษุในพระพุทธศาสนานี้ถ้าไม่ใช่กะเทย ก็เคยมีเพศสัมพันธ์กับกะเทย

ภิกษุได้ยินจึงนำเรื่องกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงรับสั่งมิให้อุปสมบทกะเทยอีก กะเทยที่อุปสมบทแล้วก็ให้สึกเสีย กะเทยจึงเป็นบุคคลจำพวกแรกในบุคคล 11 จำพวกที่ไม่ทรงอนุญาตให้อุปสมบท

 

ต่อมามีคัมภีร์สมันตปาสาทิกาซึ่งแต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 10 ได้ตีความกะเทยใหม่ โดยจำแนกกะเทยไว้ 5 ประเภท ได้แก่

#อาสิตตบัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทยที่ใช้ปากอมองคชาตของผู้ชายเพื่อสำเร็จความใคร่

#อุสุยยบัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทยที่ดูการมีเพศสัมพันธ์ของบุคคลอื่นเพื่อสำเร็จความใคร่

#โอปักกมิยบัณเฑาะก์ หมายถึง ขันที

#ปักขบัณเฑาะก์ หมายถึง คนที่เป็นกะเทยเฉพาะข้างแรม

#นปุงสกบัณเฑาะก์ หมายถึง คนที่ไม่มีเพศ

สมันตปาสาทิการะบุว่าเฉพาะกะเทยสองประเภทแรกที่บวชได้ 3 ประเภทหลังห้ามบวช

 

ดังนั้นสิทธิแห่งการบวชที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย หาได้ห้ามผู้ที่มีสิทธิ ไม่จำเป็นต้องเรียกร้อง แต่การเรียกร้องใดที่ขัดต่อพุทธานุญาตตามพระวินัยก็ไม่สามารถจะโอนอ่อนผ่อนไปได้

 

#สรุปว่า ในโลกแห่งสังคมปัจจุบันทุกคนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกได้อย่างชัดเจนโดยไม่จำกัดความหลากหลายทางเพศ แต่ในด้านศาสนานั้นค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนบ้างอยู่พอสมควร ดังนั้นควรจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความหลากหลายให้เป็นไปด้วยกันได้

ในขณะเดียวกันเมื่อพุทธศาสนาเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาประพฤติปฏิบัติตามความศรัทธาของตนแล้ว ตัวพระภิกษุสามเณรนั้นควรจะต้องยกระดับประคับประคองจิตใจให้ไม่ก้าวล่วงพระธรรมวินัยด้วยเช่นกัน จีวรคือสิ่งที่ย้ำเตือนให้ระมัดระวังในการประพฤติ เป็นเครื่องแบบ (uniform) ที่กระตุ้นความรู้สึกความเป็นพระที่ต้องข่มกลั้นจิตใจ ต้านทานต่อกระแสโลก กระแสความต้องการของตน

ป.ล. ในที่สุดแล้วคุณค่าของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่เพศ ไม่ได้อยู่ที่เชื้อชาติ ศาสนา หรือชนชั้นใด ๆ แต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติตนนั้นสามารถมองเห็นคุณค่าของตน ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่

 

ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Teerawit Sukontavaranon