จากกรณีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดเวทีปราศรัย ฉายภาพโปรเจคเตอร์รูป “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” และ “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” 2 ผู้ต้องหาลี้ภัย และยังมีข้อความและสัญลักษณ์ที่ส่อดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะมีลักษณะจาบจ้วงล่วงละเมิดเมื่อวันที่ 10 ส.ค.นั้น
ล่าสุด วันนี้ ( 13 ส.ค.) นายธนุ สุขบำเพิง ทนายความจากสำนักงานกฎหมายมหาชนและธุรกิจ ได้เดินทางไปยังสำนักราชเลขาธิการ ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อขอกราบบังคมทูลเกล้าฯถวายฏีกา การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อผู้ปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว โดยเนื้อหาฏีกา ระบุว่า “ ข้าพระพุทธเจ้า นายธนุ สุขบำเพิง ทนายความ ใบอนุญาต เลขที่ 4674/2529 ขอกราบบังคมทูลถวายฎีกา ตามที่สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ ทางวิทยุ โทรทัศน์ และนิวมีเดียได้เสนอข่าวคำสัมภาษณ์ ของฯพณฯนายกรัฐมนตรีว่า
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามมินทราธิเบศราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตารับสั่งไม่อยากให้ใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ที่ได้กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”
แต่ พระเมตตาที่พระองค์ท่านได้ทรงโปรดนั้น ผู้ที่ได้กระทำผิดหาได้สำนึกไม่ บุคคลเหล่านี้กลับกระทำผิดกันอย่างต่อเนื่องและเหิมเกริมมากขึ้น และเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ได้กระทำผิดตามมาตรา 112 อย่างโจงแจ้งเป็นที่ปรากฏชัดแก่สาธารณะชน ทั้ง ๆที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดทุกฉบับได้บัญญัติรับรองว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้”
แต่การกระทำของบุคคลดังกล่าวโดยเฉพาะ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการหมิ่นประมาทใส่ร้ายองค์-พระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง อันเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งความผิดทั้งกล่าวเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวน ผู้มีอำนาจทำการสอบสวน สามารถดำเนินการสอบสวนผู้กระทำผิด ตามกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ
เมื่อพนักงานสอบสวนทราบเรื่องที่เกิดขึ้นก็สามารถดำเนินการได้ทันที แต่เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับทราบเรื่องพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับบุคคลผู้กระทำความผิด เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย และอาจทำให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด มีความผิดกฎหมายอาญาได้ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต”
ข้าพระพุทธเจ้าในฐานะคนไทยที่มีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ขอกราบบังคมทูลฯถวายฎีกา ขอพระบรมราชานุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายตามมาตรา 112 ไปตามขั้นตอนของกฎหมายได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการปกครองของประเทศตามหลักนิติรัฐ คือการปกครองโดยใช้กฎหมายเป็นหลัก เมื่อบุคคลใดได้กระทำผิดกฎหมายต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน “
จากนั้น นายธนุ ได้เดินทางไปศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชั้น 1 อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) ถนนพิษณุโลก เพื่อยื่นสำเนาหนังสือการกราบบังคมทูลเกล้าฯถวายฏีกา ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบหนังสือดังกล่าว