หลังจากที่นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ผู้บริหารของ บมจ.สายการบินนกแอร์ ได้เข้าอวยพรวันเกิดนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ
นอกจากนี้ได้มีการหารือถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.ตรัง เนื่องจากสายการบินนกแอร์บินตรง จ.ตรังแล้ว ยังได้หารือถึงสถานะการเงินของสายการบิน ซึ่งขณะนี้ทางสายการบินได้ยื่นศาลล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ
โดยทางสายบินนกแอร์ได้ทำหนังสือมาถึงสภา ลงวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามยอดค้างชำระของ ส.ส.และอดีต ส.ส.กรณีจองตั๋วเครื่องบินแล้วไม่เดินทางช่วงระหว่างปี 55-56 จำนวน 113 ราย ยอดหนี้รวม 3,522,419.53 บาท โดย ส.ส.บางรายเป็นหนี้สูงถึง 2-3 แสนบาท ซึ่งเมื่อดูรายชื่อแล้วเป็นบุคคลที่น่าจะมีฐานะดี
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท วาระพิเศษ ครั้งที่ 8/2563 มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและให้เสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ (ผู้ทำแผนฯ) ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
โดยบริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ต่อศาลล้มละลายกลางในวันเดียวกันที่คณะกรรมการได้มีมติดังกล่าว และเมื่อวานนี้ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 27 ตุลาคม 2563
ต่อมาได้มีการเปิดเผยข้อมูลของนกแอร์ ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ตามรอยการบินไทย ระบุว่า การที่กลุ่ม “จุฬางกูร” ตัดสินใจนำ “นกแอร์” ตามรอย “การบินไทย” เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลล้มละลายกลาง ได้รับคำร้องขอไว้พิจารณาแล้ว และจะนัดไต่สวน ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ เป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้นกแอร์ ยังคงมีสภาพคล่อง จากการหยุดพักชำระหนี้ สามารถสยายปีกบินต่อ ระหว่างเดินแผนพลิกฟื้นธุรกิจ หลังจากที่ผ่านมา กลุ่มจุฬางกูร ควักจ่ายเงินหมดไปกับ นกแอร์ แล้วร่วม 1.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับการขาดทุนที่ผ่านมาของนกแอร์ ดูเหมือนจะมีทิศทางดีขึ้น เมื่อ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” มานั่งซีอีโอ นกแอร์ เมื่อช่วงเดือนมิ.ย.62 เพราะจากการเข้าไปกำกับดูแลเต็มตัว ก็ทำให้ผลประกอบการของนกแอร์ในปี 2562 เริ่มขาดทุนลดลงจากปี 2561 แต่ในปี 2563 จากวิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้แน่นอนว่าการขาดทุนปีนี้แย่แน่นอน
ถึงแม้ว่านกแอร์จะมีเงินเหลือจากการเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ซึ่งนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ลดภาระหนี้สิน ปรับปรุงฝูงบิน รวมถึงการขยายเส้นทางและเครือข่ายบิน จากจำนวนเงินที่ได้รับ มีการใช้ไประหว่างวันที่ 11 ก.พ-30 มิ.ย.63 จำนวน 798.80 ล้านบาท คงเหลือ ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 จำนวน 749.4 ล้านบาท ทั้งยังมีวงเงินกู้จากหทัยรัตน์ จุฬางกูร วงเงิน 3 พันล้าน ที่ยังใช้ไม่หมด
แต่เงินก้อนนี้ ก็อาจจะช่วงประคองสายการบินได้ไม่มาก เนื่องจากมาเจอมรสุมหนักจากโควิด-19 มาร่วม 5 เดือน และเมื่อรายได้ ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
โดยเฉพาะการต้องชำระหนี้ไปพร้อม ๆ กัน การนำนกแอร์ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นสิ่งที่กลุ่มจุฬางกูร มองว่าเหมาะสมที่สุด หากยังต้องการประคองธุรกิจของนกแอร์ให้อยู่ต่อ ไม่ปล่อยมือทิ้งเหมือนสายการบิน “นกสกู๊ต”
อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูลยืนยันด้วยว่ากลุ่มจุฬางกูร ยังคงเลือกที่จะสนับสนุนนกแอร์ ให้ยังคงดำเนินธุรกิจการบินต่อไป เพื่อรักษานกแอร์ ที่เป็นสายการบินของไทย ให้อยู่คู่กับคนไทยต่อไป และยังมองเห็นอนาคตของนกแอร์อยู่ เพราะหลังจากเกิดโควิด-19 จะเห็นว่าสายการบินคู่แข่งมีการทยอยคืนเครื่องบินออกไปเป็นจำนวนมาก
ขอบคุณข้อมูล : ฐานเศรษฐกิจ