จากกรณีที่มีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนในหลาย ๆ จังหวัดที่ผ่านมา ล่าสุดผุดอีกกลุ่มคือ “ราชบุรีขอตีกับเผด็จการ” ซึ่งได้รวมตัวกันชุมนุมที่บริเวณ ลานกิจกรรมริมแม่น้ำแม่กลอง
ในการชุมนุมครั้งนี้หลาย ๆ คนอาจมองว่าเป็นความบริสุทธิ์ของเด็ก ๆ ที่อยากออกมาเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ โดยที่ไม่ทราบเลยว่าถูกใครยุยงหรือปลุกปั่น ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้เหมือนเป็นการสนองความสะใจ เอาสนุกกันเป็นส่วนใหญ่เสียมากกว่าที่จะออกมาเรียกร้องเพื่อประเทศชาติ
โดยในโลกโซเชียลมีการแชร์ข้อความข้อเรียกร้องที่ไม่ค่อยจะเหมาะสม และผู้ใหญ่หลาย ๆ คนอาจจะไม่เห็นสมควรมากนัก เมื่อกลุ่มเด็กเหล่านั้น เขียนบนแผ่นป้ายเพื่อเรียกร้องการชุมนุมว่า “ทำแท้Xถูกกฎหมาย” รวมถึง “เXยได้ไม่สลิ่ม”
อย่างไรก็ตาม จากกรณีนี้นี่เองเมื่อย้อนไปดูสถิติการทำแท้งในประเทศไทยพบว่าจำนวนการทำแท้งในวัยรุ่นในประเทศไทย จากสถิติงานวิจัยตัวเลขสถิติการทำแท้งมีประมาณ 300,000 ราย ต่อปี (ที่มามูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) ซึ่งสถิติเหล่านี้เป็นข้อมูลจากการคาดการณ์ สถิติที่ได้จากงานวิจัยน่าจะต่ำกว่าความจริงเนื่องจากการทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 (1) (2) และมาตรา 276, 277, 282, 283 และ 284 และข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ได้กำหนดให้แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้ยุติการตั้งครรภ์แก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ใน 6 กรณี
1) การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายของผู้หญิง
2) การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางใจของผู้หญิง
3) ทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรง
4) การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา
5) การตั้งครรภ์ในเด็กหญิงที่อายุไม่เกิน 15 ปี
6) การตั้งครรภ์มาจากเหตุล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่ เพื่อทำอนาจาร สนองความใคร่
แต่ปัญหาก็คือ การให้ความรู้และการสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอ่อนด้อยและไม่แพร่หลายเท่าที่ควร เป็นเหตุให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ไม่พร้อมจะมีบุตรหรือตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์หาทางออกด้วยการ “ทำแท้งเถื่อน” ซึ่งจากสถิติพบว่าแต่ละปีมีผู้หญิงเดินเข้าหาคลินิกเถื่อนหรือวิธีการอื่น เพื่อให้แท้งถึง 1.2 แสนราย
นอกจากนี้ทางด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 24 จังหวัดในปี 2558 พบข้อมูลการแท้ง โดยเป็นการแท้งเอง ร้อยละ 56.9 ขอทำแท้ง ร้อยละ 43.1 สาเหตุการทำแท้งมาจากเหตุผลด้านสุขภาพ ร้อยละ 37.4 และเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ร้อยละ 62.6
นอกจากนี้ผู้ที่ทำแท้งด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ร้อยละ 28.6 มีสถานภาพเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 26.3 อายุต่ำกว่า 20 ปี และร้อยละ 53.1 อายุต่ำกว่า 25 ปี นอกจากนี้ ในกลุ่มของเด็กอายุ 15-19 ปี ใน 1,000 คน จะมีคนที่ตั้งครรภ์อยู่ถึง 44 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ต่อการตั้งครรภ์ต่อปี ในจำนวนนี้ยังมีผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี รวมอยู่ด้วย