โรงพยาบาลกรุงเทพ ตอบ 10 คำถาม เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19

0

ขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คงไม่มีใครไม่กังวลใจกับเชื้อไวรัสนี้ เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 จะช่วยให้เราสามารถดูแลสุขภาพของตนเองและป้องกันได้อย่างถูกวิธี

ตอบ 10 คำถาม เรื่องไวรัสโควิด-19

1. รู้ได้อย่างไรว่าสัมผัสกับเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะดูไม่ออกว่าใครกำลังป่วย?

ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ในจำนวนไม่มาก ทำให้โอกาสที่จะสัมผัสผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศปลายทาง รวมถึงมีระบบคัดกรองผู้ป่วยตั้งแต่การเดินทางเข้าประเทศ อาการของผู้ติดเชื้อสามารถมีได้หลายระดับความรุนแรง ตั้งแต่อาการหวัดธรรมดาจนถึงปอดอักเสบติดเชื้อและเสียชีวิตได้ ในปัจจุบันมีการคัดแยกผู้ป่วยที่มีเกณฑ์เข้าข่ายสงสัย คือมีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือสัมผัสผู้ติดเชื้อและมีอาการเพื่อเข้าห้องแยกความดันลบ หรือ Negative Pressure Room โดยมีแพทย์ซึ่งสวมชุดป้องกันเป็นผู้ทำการตรวจ

2. อาการป่วยแบบใดที่บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นโควิด-19?

โดยปกติแพทย์จะแยกเคสที่เข้าข่ายสงสัย ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ข้อคือ มีประวัติการเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น (และเมืองอื่น ๆ ที่กรมควบคุมโรคกำหนด) ภายใน 14 วัน หรือมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และมีอาการโดยจะมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ หรืออาการหวัด น้ำมูก ไอ จาม หอบเหนื่อย โดยเมื่อมาถึงโรงพยาบาลจะถูกแยกไปตรวจเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไม่ ถ้าไม่มีประวัติทั้งสองอย่างนี้จะไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่สงสัยและจะไม่ถูกแยกไปตรวจ

3. ใส่หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ 100% หรือไม่?

ไวรัสโควิด-19 เป็นกลุ่มเชื้อหวัดสายพันธุ์ใหม่ที่ยากจะคาดเดาอาการที่ปรากฏจึงส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่การติดต่อนั้นเหมือนกับไข้หวัด คือ ติดต่อผ่านละอองที่ออกกับลมหายใจ หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง สำหรับหน้ากากอนามัยแนะนำให้ผู้ป่วยใส่ วัตถุประสงค์ในการใช้หน้ากากอนามัยในผู้ป่วยคือ ป้องกันเชื้อโรคออกจากตัวผู้ป่วย หากผู้ป่วยไอหรือจามจะติดอยู่ในหน้ากาก ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรค สำหรับการใช้หน้ากากอนามัยในบุคคลปกติป้องกันได้เพียงส่วนหนึ่งควรใช้ร่วมกันกับวิธีอื่น ๆ ด้วย สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างจิตสำนึกให้คนป่วยใส่หน้ากาก

4. ไวรัสโควิด-19 รักษาหายได้จริงหรือไม่?

การติดเชื้อโควิด-19 สามารถหายได้เอง ยาที่ใช้ในตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน การรักษาเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ โดยอาการที่มีแตกต่างกัน บางคนรุนแรงไม่มากลักษณะเหมือนไข้หวัดทั่วไป บางคนรุนแรงมากทำให้เกิดปอดอักเสบได้ ต้องสังเกตอาการใกล้ชิดร่วมกับการรักษาด้วยการประคับประคองอาการจนกว่าจะพ้นอาการช่วงนั้น ยาที่มีใช้ในตอนนี้ยังไม่มียาตัวใดที่มีหลักฐานชัดเจนว่ารักษาไวรัสโคโรนาได้โดยตรง ยังอยู่ในช่วงทดลองการรักษา โดยเป็นยาที่ใช้รักษาไวรัสอื่น ๆ เช่น เอดส์ ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่?

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ได้  วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทำเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยแนะนำให้ฉีดอ้างอิงตามแนวทางการให้วัคซีนของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

6. ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบมาก่อน หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เกิดโรคปอดอักเสบได้หรือไม่ และเฉพาะผู้สูงอายุหรือไม่ที่จำเป็นต้องฉีด?

วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบคือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Pneumococcus ซึ่งไม่ใช่เชื้อไวรัส จึงไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ โดยทั่วไปแพทย์แนะนำให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำฉีดเพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบ แต่คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องฉีด

7. วิธีการรักษาไวรัสโควิด-19 เหมือนกับวิธีการรักษาโรคไข้หวัดหรือไม่?

แม้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 จะเป็นเชื้อในกลุ่มไข้หวัด แต่ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ และสามารถทำให้เกิดอาการที่มากกว่าไข้หวัด เช่น ปอดอักเสบ ฯลฯ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจมีอาการรุนแรงหรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งต่างจากไข้หวัดธรรมดา จึงต้องมีการคัดแยกตรวจไวรัสโคโรนาเพื่อไม่ให้สัมผัสกับผู้อื่น ป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม และทำการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

8. วิธีการป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ถูกต้องทำอย่างไร?

ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณใบหน้าเพราะอาจติดเชื้อเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย

9. การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ถูกต้องควรทำอย่างไร?

การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ถูกวิธีทำได้โดยหลังจากถอดหน้ากากอนามัยแล้วให้ม้วนหน้ากากอนามัยโดยม้วนด้านในเข้า จากนั้นจึงทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อ

10.  การใช้เจลล้างมือมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการล้างมือด้วยสบู่หรือไม่?

มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากัน โดยแอลกอฮอล์ที่แนะนำคือมีปริมาณแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 60 – 70% ขึ้นไป โดยสามารถสังเกตปริมาณแอลกอฮอล์ได้จากฉลากข้างผลิตภัณฑ์

หากมีอาการผิดปกติและสงสัยว่าเป็นผู้เข้าข่ายติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ควรรีบมาตรวจที่โรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานโดยเร็วที่สุด ถ้าพบเร็ว รักษาเร็ว ย่อมเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคและลดโอกาสในการแพร่เชื้อ หลายคนอาจกลัวการมาโรงพยาบาลเพราะกลัวติดเชื้อกลับไป ที่โรงพยาบาลกรุงเทพมีการคัดแยกตรวจในพื้นที่ที่จัดไว้ให้โดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เกิดการปะปนกับคนทั่วไปและพร้อมให้บริการตรวจรักษาโดยเร็วเพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดี

ข้อมูล : นพ.นรชัย ชาญฐิติเวช อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ