“หมอพรทิพย์” ออกโรงชี้คดี “จารุชาติ” พยานปากเอก วิเคราะห์ชัด ๆ ถึงแม้ผ่านการชันสูตรใหม่ ก็อาจต้องตายฟรี

0

จากกรณีที่นายจารุชาติ มาดทอง หนึ่งในพยานในคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ประสบอุบัติเหตุรถชนเสียชีวิต ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเวลาประมาณ 01.40 น. ของวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น

ต่อมามีรายงานระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการอายัดศพของนายจารุชาติ เพื่อนำกลับมาชันสูตรพลิกศพหาการเสียชีวิตใหม่อีกครั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : อย่าเพิ่งเผา!! “นายกฯ” สั่งอายัดศพ “จารุชาติ มาดทอง” ชันสูตรหาสาเหตุเสียชีวิตใหม่ สังคมแคลงใจอุบัติเหตุดับ

ล่าสุดทางด้านพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุของ จารุชาติ มาดทอง พยานในคดีของวรยุทธ อยู่วิทยา โดยอ้างอิงกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 148 กำหนดว่า การระบุเรื่องการตายผิดธรรมชาติต้องชันสูตรพลิกศพ แต่ไม่ได้บอกวิธีว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งในกรณีของจารุชาติ ไม่แน่ใจว่ามีการผ่าศพหรือไม่

ขณะเดียวกัน มาตรา 150 มีการกำหนดว่า ทุกครั้งที่มีการตายให้ตามแพทย์นิติเวชมาตรวจสอบ ส่วนตัวได้ประมวลติดตามคดีดังกล่าว เป็นการด่วนสรุปโดยอ้างอิงจากหลักฐานกล้องวงจรปิด ถือเป็นการสรุปเร็วเกินไป ซึ่งมาถึงตอนนี้ยอมรับว่า การตรวจของหมอนิติเวชเป็นไปได้ยาก เนื่องจากศพเริ่มเน่าเปื่อยและเห็นว่าในคดีนี้ต้องทำให้ครบทุกขั้นตอน เพื่อตอบโจทย์ข้อสงสัยทุกอย่าง

สำหรับการชันสูตรศพทั่วไปว่า ได้พยายามผลักดันมาตรฐานกลางตามสากลว่า การตายหมอนิติเวชจะต้องไปจุดเกิดเหตุ และกำหนดให้มีการผ่าชันสูตรศพต้องมีขั้นตอนให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มี โดยตนเองเชื่อมั่นในการชันสูตรของคณะแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ส่วนการมองภาพใหญ่คดีบอส อยู่วิทยา ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ซึ่งสะท้อนถึงภาพรวมกระบวนการยุติธรรมในภาพใหญ่ทั้งหมด ทั้งสะท้อนเรื่องของกระบวนการสืบสวนสอบสวน

รวมถึงการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และการชันสูตรศพ ซึ่งตามกฎหมายเดิมกำหนดให้ใช้ดุลพินิจของตำรวจในการเก็บพยานหลักฐาน และการดำเนินการ โดยชี้ว่าเป็นความไม่สมบูรณ์ที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมตั้งแต่แรกเริ่ม

ส่วนการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งตามปกติต้องมีแต่ในอดีตที่ผ่านมากรรมาธิการฯ หลายคนผลักดันว่าไม่ควรมีการตรวจสอบซ้ำ แต่ครั้งนี้หลายคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะมีการตรวจสอบซ้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจที่เห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติ

อย่างไรก็ตามประชาชนยังไม่มีความรู้ของสิทธิประชาชนและสิทธิของเหยื่อโดยเฉพาะเหยื่อไม่รู้ว่านำหลักฐานใดใส่ไปในสำนวนคดีบ้าง ทำให้สุดท้ายอาจตายฟรี ซึ่งมักอ้างว่าเป็นความลับในคดี แต่ตามหลักสากล เป็นสิทธิของเหยื่อที่จะเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด