“อดีตผู้พิพากษา-ชูชาติ ศรีแสง “เปิดกฎหมายคดีบอสกระทิงแดงชนตำรวจดับ อัยการ ส่งฟ้องไปแล้ว คำสั่งอัยการสูงสุดไม่มีผล!!
สืบเนื่องจากกระแสร้อนทางสังคมคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส อยู่วิทยา” ทายาทตระกูล เครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ชนรถจักรยานยนต์ ทำให้ ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจสน.ทองหล่อ เสียชีวิต บนถนนสุขุมวิท เมื่อคืนวันที่ 3 ก.ย. 2555 ต้องยุติลง
เมื่อ นายเนตร นาคสุข อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ขณะรักษาการรองอัยการสูงสุด (รองอสส.) มีคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา บอส อยู่วิทยา ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291
และคดีนี้ เมื่อไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทาง พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ลงนามไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการแต่อย่างใด หลังพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างกว้างขวาง
ขณะเดียวกันมีความเคลื่อนจากทางด้าน นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพตส์ข้อความผ่านทางเฟสบุ๊คส่วนตัวถึงกรณีดังกล่าวระบุว่า…..ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินคดีอาญา
- …..มาตรา ๑๔๑ ถ้ารู้ตัวผู้กระทําความผิด แต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้ เมื่อได้ความตามทางสอบสอนอย่างใด ให้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนสอบสวนยังพนักงานอัยการ
…..ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ผู้ต้องหามา ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศให้พนักงานอัยการจัดการเพื่อขอให้ส่งตัวข้ามแดนมา
…..คดีนายวรยุทธหรือบอส อยู่วิทยา ได้ความว่าพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องและพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ก็สั่งฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวน แต่นายวรยุทธหลบหนีจึงยังไม่ได้ฟ้องต่อศาล
- …..รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๘ วรรคสอง บัญญัติว่า พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง
…..ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการท่านอื่นมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งของพนักงานอัยการที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาแล้ว และมีคำสั่งใหม่เป็นสั่งไม่ฟ้อง
…..กรณีนายวรยุทธเมื่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้องก็ต้องถือว่ายุติคือต้องนำตัวฟ้องต่อศาลเท่านั้น พนักงานอัยการท่านอื่นย่อมไม่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งฟ้องและมีคำสั่งใหม่เป็นสั่งไม่ฟ้อง
…..การกระทำเช่นนั้นเป็นการก้าวล่วงความเป็นอิสระของพนักงานอัยการท่านที่สั่งฟ้องนายวรยุทธ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
…..ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินคดีอาญา …..มาตรา ๑๔๑…
Posted by Chuchart Srisaeng on Thursday, July 30, 2020