พงศกรสอนเด็กๆร้องยุบสภาไม่ได้ช่วยอะไร? หนุ่มโผล่เมนต์เด็กมองข้ามประเด็นนี้ไปแล้ว

0

จากที่พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีม็อบเยาวชนถึง3ข้อเรียกร้องในการชุมนุม ซึ่งมีความน่าสนใจเมื่อมีเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

เด็ก ๆ ผู้ชุมนุม ควรศึกษาและตกผลึกเป็นข้อเรียกร้องที่ชัดเจนตามลิ้งค์ที่แนบมา ส่วนตัวการยุบสภาไม่ได้ช่วยอะไรเพราะรัฐธรรมนูญเดิมยังอยู่ การแก้มาตรา ๒๕๖ เป็นหนทางที่ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นไปได้มากที่สุดมาพักใหญ่แล้ว ที่มาของนายกรัฐมนตรีควรมาจาก ส.ส. เพื่อกลับไปสู่ระบบปกติ

ส.ว.โดยหลักทั่วไปมีขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนกลุ่มที่มีพลังจริงในสังคมแต่ไม่มีโอกาสผ่านทาง ส.ส. เช่นในประเทศที่มีหลายชาติพันธุ์ที่มีดินแดนของตัวเองก็จะมี ส.ว.เป็นทางออก หลายประเทศใช้อำนาจร่วมกับ ส.ส.เพื่อป้องกันมลรัฐที่มี ส.ส.มากเอาเปรียบ กรณีสหรัฐฯ ให้มี ส.ว.ทุกรัฐ ๆ ละเท่า ๆ กัน ต้องออกกฎหมายร่วมกับ ส.ส.โดยอำนาจเท่ากันก็เหตุนี้

ส่วนไทยช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองบอกว่าคนไทยไม่มีความรู้ต้องให้ ส.ว. แต่งตั้งที่มักเป็นข้าราชการมาเป็นพี่เลี้ยง แบบนี้หมดความจำเป็นนานแล้วควรเลิกไปเลย สิ่งที่อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดคือ องค์กรอิสะที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน คนเลือกและคนถูกเลือกมีจำกัดจึงถูกชี้เป้าได้ง่าย แถมกำหนดหน้าที่ไม่ตรงกับของฝรั่งที่ไปเอาชื่อเขามา เช่นศาลรัฐธรรมนูญ ฝรั่งเขาให้ดูว่าการร่าง พรบ.ใหม่ขัดกับรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่ ของไทยเราดันห้ามรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญเสียอีก และวัน ๆ มีแต่ยุบพรรคการเมืองที่มีที่มาจากประชาชนที่ฐานใหญ่กว่าองค์กรอิสระทั้งหลายอีกด้วย

เรื่องยุติการซื้อเสียง ยิ่งให้อำนาจองค์กรอิสระในการลงโทษหรือจัดการเลือกตั้งแบบที่ชี้เป้าได้ การซื้อเสียงจะยิ่งหนักกว่าเดิม ควรต้องจัดการที่ปลายทางกล่าวคือทุกโครงการต้องสร้างระบบให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการทุกขั้นตอน จนไม่สามารถปั้นราคาได้ เมื่อไม่มีส่วนต่างมาก ก็ไม่มีเงินมาซื้อเสียง หรือถ้าซื้อมาก็ต้องขาดทุนจนเลิกไปเอง การซื้อเสียงและการทุจริตถอนทุนจึงจะยุติได้จริง

ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม สมควรให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษา อัยการแบบสหรัฐฯหรือไม่ จะมีระบบลูกขุนทั้งหมด หรือแบบผสม หรือจะใช้วิธีแบบญี่ปุ่นให้ประชาชนกาตัดชื่อผู้พิพากษาที่ตัดสินไม่เที่ยงธรรมออกได้ทุกการเลือกตั้งใหญ่ และควรยกเลิกระบบบังคับบัญชาตามสายเหมือนข้าราชการเปลี่ยนไปเป็นระบบผู้เชี่ยวชาญเมื่อได้เป็นแล้วมีหลักประกันอาชีพและความเป็นอิสระ ๑๐ ปี แต่ถูกถอดถอนได้ทุกการเลือกตั้งใหญ่ เพราะความยุติธรรมไม่ใช่เพียงการทำตามกฎหมาย

แต่ต้องสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนมองเห็นและเชื่อถือ มิฉะนั้นต้องถูกปลดได้ ส่วนการแต่งตั้งจะเอาแบบยุโรปคือ คณะกรรมการตุลาการ ต้องมาจากรัฐบาล รัฐสภาและตุลาการ อย่างละ ๔ คน แทนที่จะมาจากฝ่ายศาลเท่านั้นอย่างปัจจุบัน และเพื่อรับประกันเรื่องการจ่ายคดี ต้องทำโดยสุ่มเรียงลำดับ ไม่ต้องให้ผู้บังคับบัญชาเป็นคนจ่ายคดีจะดีกว่าเดิมไหม เรื่องเงินทอง งบประมาณ ควรย้ายสำนักงบประมาณจากฝั่งบริหารมาฝ่ายนิติบัญญัติจะดีกว่าไหม ให้รัฐบาลเป็นเพียงผู้เสนอขอใช้ ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะประชาชนเป็นผู้ให้เงินใช้ ภาษีจึงจะเหมือนประชาชนเป็นผู้จ่ายให้ข้าราชการ ส่วนการจัดเก็บยังคงเดิมได้ เพราะหากไม่มีเงินรัฐบาลก็บริหารไม่ได้อยู่ดี

สิ่งจิปาถะเหล่านี้ ควรอยู่ในการกลั่นกรองและนำเสนอของผู้ชุมนุมด้วย ที่ยกมาเป็นเพียงบางประเด็นเท่านั้นครับ

ต่อมาเมื่อข้อความดงักล่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้มีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่ง และมีบางข้อความที่น่าสนระบุว่า

ไพศาล จันปาน : เด็กๆเขามองข้ามประเด็นดังกล่าว ยุบสภา รธน.เขียนวันเดียวก็เสร็จครับ

พงศกร รอดชมภู : ฝันครับ

พงศกร รอดชมภู : ผมเคยยกร่างทั้งฉบับมาแล้ว ไม่ง่ายครับ

ไพศาล จันปาน : การต่อสู้ เราเหนือกว่าแต่ยังไปข่มพวกเดียวกันว่าพวกเขาเหนือกว่า ไม่ต้องต่อสู้หรอกครับปล่อยให้เป็นเกาหลีเหนือก็ดีครับท่าน

ที่มา : เฟซบุ๊ก พงศกร รอดชมภู