สุดเจ๋ง สร้างตู้ป้องกัน โควิด-19 ด้วยงบเพียง 240 บาท!!

0

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลนาเฉลียง ได้มีการจัดสถานที่คัดกรองผู้ป่วยที่มาตรวจวัดไข้เพื่อทำการรักษาพยาบาล และผู้ป่วยที่มารับยาไว้อย่างเป็นระบบ โดยจุดแรกนั้น เป็นจุดคัดกรองผู้ป่วยเพื่อคัดแยกโรค โดยผู้ป่วยที่ผ่านจุดนี้จะต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อกันก่อนทุกราย

จากนั้นผู้เข้ามาใช้บริการหรือผู้ป่วย จะต้องไปตรวจวัดไข้ต่อ ในจุดที่ 2 ซึ่งมีการนำท่อพีวีซี หรือ ท่อประปา มาประกอบกันเป็นโครงสี่เหลี่ยมคล้ายตู้ และคลุมด้วยแผ่นพลาสติกใสที่บริเวณ ด้านหน้า ด้านข้าง และด้านบน ก่อนเจาะรูเป็นช่องวงกลมจำนวน 2 ช่อง ที่บริเวณด้านหน้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่พยาบาลสามารถนำเครื่องเทอร์โมสแกนยื่นออกมาตรวจวัดไข้ผู้ป่วยที่มาใช้บริการได้ โดยมีแผ่นพลาสติกใสเป็นเกราะป้องกัน การติดต่อของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ให้แก่เจ้าหน้าที่พยาบาลและผู้ป่วยที่มาตรวจรักษา

ทั้งยังมีการทำตู้ทรงสี่เหลี่ยมในลักษณะเดียวกัน แต่ได้เพิ่มตะกร้าเข้าไปด้วย เพื่อใช้เป็นราง สำหรับรับส่งยาให้ผู้ป่วยที่ด้านล่าง โดยไม่ต้องสัมผัสมือกัน ในขณะเดียวกันที่บริเวณพื้นก็ได้มีการทำรูปรอยเท้า ระยะห่างกันประมาณ 1 เมตร เพื่อให้ผู้ป่วยที่มาใช้บริการยืนต่อแถวรอตรวจ

..กมลชนก คลินไทย พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ได้เผยว่า ที่ได้ผลิตอุปกรณ์นี้ขึ้นมา เพราะต้องการคิดหาวิธีป้องกันทั้งตนเอง เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วย  เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคเพราะว่าเวลาสนทนากันละอองฝอยต่างๆมันจะกระจายติดตัวได้และยังติดเสื้อผ้า

จึงได้คิดหาวิธีป้องกัน ในช่วงแรกได้ไอเดียมาจาก นายมานพ เงินโฉม หัวหน้าสาธารณสุขอำเภอหนองไผ่ ได้ส่งคลิปมาให้ดู เป็นคลิปคุณหมอคุยกับคนไข้โดยทำเป็นกล่องจากอะคริลิค มีรูตรวจ จึงระดมความคิดคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้แบบนี้ แต่ต้องประหยัดเงิน จึงวาดออกแบบและส่งให้หัวหน้า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลนาเฉลียง ดูก่อน และบอกว่าจะทำนวัตกรรมแบบนี้ ก็นำแบบมาปรึกษากับ นายสมชาย ตาแล พนักงานช่วยการพยาบาล จากนั้นก็ออกมาหาซื้ออุปกรณ์แล้วช่วยกันทำ ก็ออกมาเป็นแบบนี้ หมดค่าใช้จ่ายไป 240 บาท

ส่วนอุปกรณ์ที่เหลือก็เอามาทำเป็น รางที่รับยา เพื่อให้ผู้ป่วยที่มารับยายืนห่างกับเจ้าหน้าที่ประมาณ 1 เมตร เพื่อไม่ต้องสัมผัสกับคนไข้ อันนี้เป็นไอเดียที่เราไปเห็นจากอินเทอร์เน็ต ที่เขาเอาตะกร้อสอยมะม่วงยื่นมารับใบเสร็จ ก็เลยประยุกต์มาเป็นตะแกรงรับยา โดยมือไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยและสามารถอธิบายยาคนไข้ในระยะหนึ่งเมตรได้กมลชนก กล่าว