บทความอันทรงคุณค่า พระมหากษัตริย์ คือจอมทัพผู้พร้อมพลีพระชนม์ชีพเพื่อความสุขของประชาชน
กระแสการร้อน พลันที่การเคลื่อนไหวกลุ่มทางการเมืองในนามของ เยาวชนปลดแอก และ กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) จัดม็อบไล่รัฐบาลประยุทธ์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามมาด้วยอีกหลายๆจังหวัด
แต่ที่ต้องตั้งคำถามและข้อกังขาในม็อบกลับมีปรากฏการณ์ “ป้ายข้อความหมิ่นเหม่”สถาบันเบื้องสูงที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม
ขณะเดียวกัน ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง ที่ได้โพสต์บทความอันทรงคุณค่าผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า…วิชาประวัติศาสตร์ไทยวันนี้….คัดลอกมาให้อ่านกัน
กษัตริย์แปลว่านักรบ การรบของพระมหากษัตริย์มีเป้าหมายสูงสุดก็คือเพื่อความสุข ความสงบ และความมั่นคง ของราษฎรในขอบขัณฑสีมาของพระองค์
พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นจอมทัพ ผู้พร้อมพลีพระชนม์ชีพเพื่อแลกกับความสุขของประชาชนในสนามรบ เพื่อให้ผู้อยู่เบื้องหลังในราชสีมาอาณาจักรได้มีความผาสุกร่มเย็น สนามรบของพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาลย่อมแตกต่างกันไป ยุทธวิธียุทธศาสตร์และวิธีการวางพระองค์ของแต่ละรัชสมัย ก็ย่อมแตกต่างกันไปตามสมรภูมิ
แม้ยุคสมัยต่อมาพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงออกรบด้วยพระแสงราชศัสตรา แต่ก็ทรงใช้พระปัญญาอันคมกล้า ในการออกรบเพื่อข้าแผ่นดินตลอดมาทุกรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักการทหารและนักยุทธศาสตร์ ทรงพระราชวิสัยทัศน์หยั่งเห็นความเป็นไปในโลก เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในทวีปยุโรปในปี ๒๔๕๗
เวลานั้นเครื่องเนิ่นช้ากีดขวางความเจริญของสยามได้แก่การที่นานาประเทศยังไม่ยอมรับความเป็นอารยะ ตัวตนของสยามบนเวทีโลกยังคงเล็กน้อยกะจิริด ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง พอที่จะแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่มัดมือคนไทยไม่ให้เติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ โดยเหตุแห่งลัทธิจักรวรรดินิยม
เราต้องสูญเสียเอกราชทางการศาลที่เรียกว่าเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เราต้องสูญเสียสิทธิในการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร เพื่อผ่อนปรนให้สยามยังคงอยู่รอดเป็นเอกราชอยู่ได้ในภาพรวม ตามนโยบายผ่อนสั้นผ่อนยาวที่รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ทรงดำเนินยุทธวิธีทางการรบด้วยการทูตมาโดยตลอด
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชวีรกรรมอันกล้าหาญ ด้วยการตัดสินพระราชหฤทัยส่งกองทัพสยามร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสงครามโลก ที่เกิดขึ้นบนดินแดนแสนไกลในอีกซีกโลก
ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพระราชวงศ์ ขุนนางและประชาชนจำนวนไม่น้อยที่พอใจแต่จะวางตัวเป็นกลางอยู่เสมอ พระมหากษัตริย์กลับทรงวางพระบรมราโชบายในทางลับ ในทางยุทธวิธีอันแยบยล ในทางการสื่อสารมวลชน ในทางการทูต ในทางการทหาร สารพัดที่จะต้องทรงอดทน พากเพียร และแกล้วกล้าด้วยพระสติปัญญา จนสามารถนำไทยเข้าร่วมรบ ไปคลี่ผืนธงไตรรงค์ให้ปรากฏท่ามกลางสายตานานาอารยประเทศในทวีปยุโรปได้สำเร็จ
๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ คือวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จอมทัพไทย ส่งประกาศพระราชสงครามร่วมในการสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเคียงบ่าเคียงไหล่กับอารยประเทศเพื่ออารยธรรม
๑๐๓ ปีมาแล้ว จะมีใครยังจำวันนี้ได้หรือไม่ แล้วจะมีใครสักกี่คนในยุคนี้ที่ตระหนักรู้ได้ว่าพระราชวีรกรรมในครั้งนั้นของพระมหากษัตริย์ ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ชนะในสงครามโลก
ไทยสามารถเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมทั้งหมดได้สำเร็จ ไทยสามารถเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ ไทยสามารถกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรได้ด้วยตนเอง ไทยได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกลับคืนมา ถ่ายได้ชื่อว่าเป็นอารยประเทศ เพราะชัยชนะจากการตัดสินพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ในครั้งนั้น
เราจะลืมเลือนพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไปได้อย่างไร ในเมื่อเหตุที่คนไทยได้เชิดหน้าชูตาอยู่ทุกวันนี้อย่างสมสง่าสมภาคภูมิ เป็นเพราะพระมหากษัตริย์ทรงนำไทยออกรบกับความทุกข์ความลำบากความกดขี่ข่มเหง จนได้ประสบความผาสุกมั่นคงเช่นทุกวันนี้
การรบกับปัญหาและอุปสรรคหลากหลายรูปแบบเพื่อความสุขของประชาชน เป็นเสมือนการส่งไม้ต่อของพระบรมราชปณิธานแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระมหากษัตริย์ยังทรงมุ่งมั่นดำเนินพระบรมราโชบายเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรเสมอ ทั้งทางตรง ทางอ้อม ทางเปิดเผย และทางลับ
ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่สามารถที่จะส่งบอกเล่าความในพระราชหฤทัยออกมาได้ทุกอย่าง ต้องทรงอดทนอดกลั้นด้วยพระขันติธรรมอยู่ท่ามกลางเสียงติฉินนินทาว่าร้าย และความไม่เข้าใจของคนที่ไม่รู้เท่าทันพระราชยุทธศาสตร์ แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงย่อท้อ
ขอให้คนไทยลองมองย้อนกลับมาสู่ปัจจุบันเถิด “เราสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงดำรงมั่นอยู่ในอุดมการณ์ “เพื่อประโยชน์สุข” แห่ง “อาณาราษฎร”
แล้วพวกเราล่ะ? ยังมั่นคงอยู่ในความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พร้อมที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด อุดมการณ์ของบรรพบุรุษไทย เพื่อเทิดทูนรักษาสถาบันหลักของชาติ อันเป็นรากแก้วแก่นแท้ของคนไทยทุกคนหรือไม่? หรือเราลืมเลือนความเป็นตัวตนของเรา รากเหง้าของเราหมดสิ้นแล้ว?
ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือประเทศไทย? ใครคือคนไทย? ถ้าเราสูญเสียรากเหง้าแก่นแท้ของความเป็นคนไทยไป ใครในโลกจะนิยมนับถือเรา? พวกเราคงมีคำตอบในใจกันแล้วทุกคน
Cr.ไม่ทราบผู้เขียนแต่ส่งต่อมาทาง line
วิชาประวัติศาสตร์ไทยวันนี้….คัดลอกมาให้อ่านกัน………………กษัตริย์แปลว่านักรบการรบของพระมหากษัตริย์มีเป้า…
Posted by Nitipong Honark on Wednesday, July 22, 2020