มติชนจ่อฟ้องป้องเกียรติภูมิ! หลังปปช.ชี้มูลร่วมยิ่งลักษณ์คดีอีเวนต์240ล้าน

0

จากที่ป.ป.ช.ได้แถลงกรณี “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมพวก อนุมัติโครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020 โดยมิชอบ รวมทั้งในการแถลงยังได้ชี้มูลความผิดในส่วนของสื่อมวลชนด้วยนั้น

ล่าสุดวันนี้(22 ก.ค.63) ทางเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ได้รายงานข่าวกรณีดังกล่าวด้วย ซึ่งมีเนื้อหาทั้งหมดว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงานป.ป.ช. แถลงข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อนุมัติและดำเนินการจัดนิทรรศการ การสัมมนา และการโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ “โครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020” โดยมิชอบ

ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งมีการกล่าวถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองและหัวเมือง ศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูง จากนั้นรัฐบาลได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีดำริให้จัดนิทรรศการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนภายใต้ชื่อ “โครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020” ซึ่งปรากฏว่าในการดำเนินการโครงการดังกล่าวมีการอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 40 ล้านบาท เพื่อจัดโครงการในจังหวัดหนองคาย และนครราชสีมา

ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทยังไม่ผ่านสภา อีกทั้งการจัดโครงการประชาสัมพันธ์ไม่ใช่ความเร่งด่วนที่จะต้องใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น โดยบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างจัดโครงการดังกล่าว โดยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนการลงนามในหนังสือสั่งจ้างใช้เวลาดำเนินการเพียง 2 วันเท่านั้น

ต่อมานายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันอนุมัติหลักการจัดโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัดที่เหลือ วงเงิน 200 ล้านบาท โดยตกลงแบ่งงานให้บริษัท มติชนฯ และบริษัท สยามสปอร์ตฯ บริษัทละ 5 จังหวัด ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนการลงนามในหนังสือสั่งจ้างใช้เวลาดำเนินการเพียงวันเดียวเท่านั้น

และพบว่าการลงนามในหนังสือสั่งจ้างได้กระทำไปก่อนที่ได้รับเงินประจำงวดจากสำนักงบประมาณ ทั้งที่ส่วนราชการทราบดีว่าการลงนามในหนังสือสั่งจ้างได้ ก็ต่อเมื่อสำนักงบประมาณได้แจ้งจัดสรรเงินงบประมาณ (ใบงวดงาน) มาให้แล้วเท่านั้น ต่อมาภายหลังจึงมีการเสนอครม.ให้ยกเว้นการลงนามในหนังสือสั่งจ้างก่อนใบงวดงาน

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยมิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นอันตกไป ทำให้โครงการต่างๆ ตามที่ได้ออกไป Roadshow มิได้เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด การใช้งบประมาณในโครงการ Roadshow จำนวน 240 ล้านบาท จึงเกิดความสูญเปล่า เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายนิวัฒน์ธำรง และนายสุรนันทน์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 192

และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ 2542 มาตรา 12 และ 13 ส่วนการกระทำของของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายฐากูร บุนปาน บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคจ จำกัด(มหาชน) และนายระวิ โหลทอง มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนันสนุนเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบมาตรา 86

ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 192 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ 2542 มาตรา 4 ฐานเป็นผู้สนับสนุน

ทั้งนี้ ป.ป.ช.จึงให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นพร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป

อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายเว็บไซต์ข่าวสด ยังระบุอีกว่า นายฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินการตามโครงการดังกล่าวเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบราชการ เช่นเดียวกับการดำเนินการอื่นๆ ตามหลักการที่ยึดถือของบริษัทมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของรัฐบาลใด

 

นอกจากนั้นแล้ว โครงการดังกล่าวยังได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งมีตัวแทนของ ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมอยู่ด้วย ตั้งแต่หลังมีการรัฐประหาร 2557 และใช้เวลาไต่สวนกว่า 18 เดือน และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อนุมัติให้จ่ายค่าเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ในปี 2559

ทั้งนี้ ในชั้นไต่สวน บริษัทได้ขอชี้แจงในประเด็นดังกล่าวข้างต้น แต่ไม่ได้รับโอกาสจากป.ป.ช. อย่างไรก็ดี บริษัทน้อมรับการตรวจสอบ และแก้ไขข้อกล่าวหาตามกระบวนการต่อไป รวมทั้งขอสงวนสิทธิ์ในทางกฎหมายที่จะปกป้องชื่อเสียงเกียรติภูมิของตนเองด้วย

ที่มา : ภาพTNEWS