จากกรณีดร. เวทิน ชาติกุล นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Wathin Chatkoon โดยระบุเนื้อหาว่า
“เจาะเวลาหาประชาธิปไตย”
(จาก บางส่วนของ คำนำหนังสือ “ปรัชญากับอนาคตของประชาธิปไตย” โดย อุกฤษฏ์ แพทย์น้อย)
(1)
กรีกโบราณที่เป็นถิ่นกำเนิดประชาธิปไตย
น่าจะเป็นว่านักปรัชญากรีกระดับปรมาจารย์อาจให้ความจริงกับเราได้ว่าประชาธิปไตยมีลักษณะที่แท้จริงอย่างไร? และเหตุใดจึงเป็นระบบที่พึงปรารถนา?
แต่นักคิดระดับปรมาจารย์ในสมัยนั้นคือ โสกราตีส เพลโต และอริสโตเติล ล้วนต่อต้านประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน
โสกราตีสและเพลโตมองว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยคนชั้นต่ำ
(ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเพราะกรีกโบราณแบ่งประเภทการปกครองตามชนชั้น และประชาธิปไตยก็คือการปกครองโดยสามัญชน ซึ่งประกอบด้วย พ่อค้า ช่างฝีมือ และแรงงาน)
นั่นไม่นับว่าโสกราตีสนั้นต้องโทษประหาร!!! ด้วยคำสั่งของรัฐบาลประชาธิปไตย (ที่มาจากคนชั้นสูงส่วนหนึ่งในเอเธนส์)
เพลโต อ้างเหตุผลว่า รัฐในอุดมคติควรปกครองด้วย “ปราชญ์-ราชัน” ซึ่งเป็นผู้เข้าถึงความจริงแท้และสิ่งที่ถูกที่ควร ซึ่งเป็นความรู้ที่จะไม่เกิดในกลุ่มคนทั่วๆไป
ส่วนอริสโตเติล เสนอว่า ระบอบในอุดมคติควรเป็น “อภิชนาธิปไตย” ซึ่ง อภิชนสำหรับอริสโตเติลหมายถึงบุคคลที่กอปรด้วยคุณธรรม
สรุปคือ นักคิดกรีกโบราณที่เป็น “พระเอก” ในประวัติปรัชญา ต่างไม่สนับสนุนประชาธิปไตย
(2)
แต่นักคิดที่เป็น “ผู้ร้าย” (อย่างน้อยในสายตาของโสกราตีสและเพลโต) คือ พวกโซฟิสต์ มีบางคนที่สนับสนุนประชาธิปไตย
โพรทากอรัส ซึ่งเป็นโซฟิสต์คนหนึ่งบอกกับโสกราตีสว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องในกิจการทางการเมืองที่จะถามความเห็นของช่างฝีมือและพ่อค้า
พร้อมยกเทพนิยายเป็นเหตุผลว่า เทพเจ้าเห็นว่ามนุษย์เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นเมืองแล้วก็ทะเลาะวิวาทกัน จึงประทานความสำนึกในความเที่ยงธรรมให้แก่มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมเพื่อแก้ปัญหานี้ เมื่อมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันในเรื่องความรู้เกี่ยวกับความยุติธรรม การปกครองในรัฐจึงควรถามความเห็นจากพลเมืองทุกคน (ซึ่งเป็นทัศนะที่เหมือนกับทัศนะของนักประชาธิปไตยในปัจจุบันยิ่ง)
ดังนั้นถ้าเราคิดว่าประชาธิปไตยเป็นสัจธรรมทางการเมือง
ในสมัยกรีกโบราณ “ผู้ร้าย” กลายเป็นผู้บรรลุสัจธรรม
ส่วน “พระเอก” คือ “ผู้หลงผิด”
(3)
หรือ…ความหวังในการตามหาประชาธิปไตยจะอยู่ที่ปรามาจารย์สมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18? อย่าง จอห์น ล็อก หรือ ฌอง ฌาค รุสโซ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปลูกฝังอุดมคติด้านประชาธิปไตยในสังคมสมัยใหม่
แต่ เป้าหมายของ ล็อก นั้นมุ่งหมายที่จะจำกัดอำนาจผู้ปกครองมากกว่าสนับสนุนประชาธิปไตย
ล็อกกล่าวว่ามนุษย์มีสิทธิทางธรรมชาติบางประการที่ผู้ปกครองมีหน้าที่ต้องไม่ละเมิด และเมื่อมาถึงประเด็นเรื่องรูปแบบการปกครองที่ควรจะเป็น ล็อกไม่สนใจว่าจะเป็นรูปแบบใด ตราบเท่าที่เป็นรูปแบบที่บรรดาบุคคลที่ตัดสินใจมารวมกันเป็นสังคมการเมืองตกลงปลงใจเลือกตามกติกาของเสียงส่วนใหญ่
แม้ว่าหนึ่งในรูปแบบการเมืองที่ล็อกกล่าวถึงคือประชาธิปไตย แต่ล็อกคิดว่าถ้าบุคคลทั้งหลายเลือกราชาธิปไตย สังคมก็ควรยึดรูปแบบนี้ตราบเท่าที่กษัตริย์ไม่ละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของประชาชน
กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ ความคิดของล็อกนั้นเป็น “เสรีนิยม” แต่มิใช่เป็นประชาธิปไตย (หรือไม่ได้เสนอว่าประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีที่สุด)
(4)
ตรงกันข้าม….กับรุสโซ ซึ่งเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะเสนอว่า การอกกฏหมายจะต้องเป็นผลมาจากการออกเสียงโดยตรงของประชาชนทุกคน
แต่…ประชาธิปไตยในอุดมคติของรุสโซก็อาจไม่เป็นที่พึงปรารถนาของแทบทุกประเทศ เพราะรุสโซปฏิเสธการมีผู้แทนราษฎร์!!!
แม้จะเชิดชูเสรีภาพเหนือสิ่งใด แต่ทฤษฏีของรุสโซนั้นไม่ใช่เสรีนิยม เพราะเสรีภาพส่วนบุคคลไม่มีน้ำหนักเหนือกว่าเสียงส่วนใหญ่ รุสโซเสนอว่าประชาชนควรมีเสรีภาพส่วนบุคคลที่ไม่กระทบสวัสดิภาพของสังคม แต่เสรีภาพที่ว่านี้มีอะไรบ้างนั้น ที่ประชุมพลเมืองทั้งหมดจะเป็นผู้ตัดสิน
สรุปว่าความคิดของรุสโซนั้นกลับตาลปัตรกับล็อก คือแม้สนับสนุนประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนเสรีนิยม
(5)
ถึงตรงนี้ เราต้องหยุดทำความเข้าใจเรื่อง “เสรีนิยม” กับ “ประชาธิปไตย” สักเล็กน้อย
ในทางตรรกะวิทยานั้น ประเด็นเรื่องใครมีสิทธิอำนาจในการปกครอง?(ประชาธิปไตย) กับ อำนาจในการปกครองควรมีขอบเขตแค่ไหน?(เสรีนิยม) มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนและแยกขาดกันได้ในทางตรรกะ
นั่นคือ เป็นไปได้ที่ระบบเผด็จการจะไม่ละเมิดเสรีภาพบางอย่างของประชาชน (อาจเพราะประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนระบอบนี้ ผู้เผด็จการจึงรู้สึกมั่นคงพอที่จะให้เสรีภาพบางอย่างกับประชาชน)
และเป็นไปได้ที่จะมีระบอบประชาธิปไตยที่ใช้มติของเสียงส่วนใหญ่ในการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล (เช่น มติส่วนใหญ่อาจบังคับให้ทุกคนนับถือศาสนาเดียวกัน)
ตรงนี้ต้องย้อนไปดูพัฒนาการของสถาบันทางการเมืองตะวันตกเพื่อให้เห็นว่า ระบบความคิดคนละสายกันตามที่กล่าวมานั้นเข้ามามีความต่อเนื่องกันได้อย่างไร?
(6)
ในสังคมยุโรปสมัยใหม่นั้น เมื่อสังคมเจริญขึ้นประชาชนเริ่มต้องการเป็นอิสระจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของกษัตริย์
ในขั้นแรก…ขุนนางและชนชั้นสูงซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชน แต่เป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรอง ได้ต่อสู้เพื่อให้พวกตนมีเสรีภาพบางส่วนที่พ้นจากอำนาจกษัตริย์และประสบความสำเร็จ
ต่อมา…การเกิดสงครามศาสนาในยุโรป บังคับให้รัฐต้องให้เสรีภาพในการนับถือศาสนากับประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามศาสนา เนื่องจากเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นเสรีภาพที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเสรีนิยมและให้แก่ประชาชนทั้งหมด นี่จึงเป็นการขยายขอบเขตของเสรีภาพจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของเสรีนิยม
ขั้นต่อมา…จึงมีความพยายามที่จะทำให้ประชาชนปลอดพ้นจากอำนาจของเผด็จการ ก็คือ ทำให้อำนาจอยู่ในมือของประชนเสียเอง นี่เป็นขั้นตอนของการเป็นประชาธิปไตย
โดยผิวเผินจะเห็นว่าเสรีนิยมกับประชาธิปไตยไม่ได้ขาดจากกันในทางตรรกะ และประชาธิปไตยก็เป็นการพัฒนาทางตรรกะต่อมาจากเสรีนิยม
แต่…ภาพลวงตานี้ถูกทำลายเมื่อ ต่อมาประชาชนพบว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้นเสรีภาพส่วนบุคคลถูกคุกคามโดยมติของเสียงส่วนใหญ่ การแก้ปัญหานี้โดยการให้น้ำหนักกับสิทธิเสรีภาพมากกว่าเสียงส่วนใหญ่ คือมติของเสียงส่วนใหญ่จะละเมิดสิทธิบางอย่างไม่ได้
นั่นทำให้เสรีนิยมที่เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ประชาธิปไตยมาลงเอยด้วยการกลายมาเป็นหลักการที่จำกัดอำนาจของประชาธิปไตย(หรืออำนาจของเสียงส่วนใหญ่)เสียเอง
ดังนั้น ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ทฤษฎีการเมืองที่ตะวันตกยึดถืออยู่ในปัจจุบัน นั้นคือ “ทฤษฏีเสรีนิยมประชาธิปไตย” ซึ่งมาจากสองทฤษฏีมาเสริมกันนั่นเอง
ซึ่งทั้ง ล็อก และ รุสโซ ต่างก็มิได้สนับสนุน “เสรีนิยมประชาธิปไตย” โดยตรง ตามที่ได้กล่าวมา
(7)
มาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปรามาจารย์ทางความคิดอย่าง เฮเกล และ มาร์กซ์ จะทำให้เรามีความหวังในการตามหาประชาธิปไตยได้หรือไม่?
เฮเกล ไม่ได้โจมตีประชาธิปไตย แต่มองว่าการปกครองที่สมบูรณ์แบบจะต้องมีกษัตริย์เพื่อให้เกิดเอกภาพในรัฐ
พูดง่ายๆคือ อาจถือได้ว่าเฮเกลคิดว่าการปกครองในอุดมคติคือระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งไม่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย
แต่…เหตุผลของเฮเกลถูกกำหนดโดยอภิปรัชญาและปรัชญาประวัติศาสตร์ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของนักคิดในปัจจุบัน
ส่วน มาร์กซ์ คำถามว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดหรือไม่นั้นไม่ได้มีความสำคัญ เพราะาร์กซ์เชื่อว่าอำนาจรัฐคืออำนาจที่ชนชั้นหนึ่งใช้กดขี่ชนชั้นอื่น อุดมคติของมาร์กซ์คือ สังคมที่ไม่มีรัฐ(ไม่มีรัฐบาล) กิจการในสังคมเป็นสิ่งที่พลเมืองทุกคนต้องร่วมกันบริหารจัดการ
ความคิดของมาร์กซ์นั้นดูขยับไปทางเดียวกับรุสโซ คือเป็นอุดมคติที่ตรงกันข้ามกับความคิดแบบเสรีนิยม
(8)
ปรมาจารย์ทางความคิดเพียงคนเดียวที่สนับสนุนทั้ง เสรีนิยม และ ประชาธิปไตย นั่นคือ จอห์น สจ๊วต มิลล์ จึงน่าจะเป็นเป็นความหวังสุดท้ายของเรา
แม้ มิลล์จะสนับสนุน เสรีนิยม อย่างแข็งขัน และในเรื่องประชาธิปไตย เขาก็ได้อ้างเหตุผลหลายข้อเพื่อชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นระบบที่เป็นอุดมคติ แต่…
ในเรื่องการลงคะแนนเสียง มิลล์ให้ข้อเสนอว่าแต่ละคนไม่ควรมีคะแนนเสียงเท่ากัน คนที่มีการศึกษาดีกว่าหรือสติปัญญาฉลาดกว่าควรมีเสียงโหวตตั้งแต่ สองคะแนน ขึ้นไป ส่วนคนที่มีการศึกษาต่ำหรือฉลาดน้อยควรมีเสียงเดียวเท่านั้น !!!
ดังนั้น ถ้าเรากำลังแสวงหานักคิดระดับปรมาจารย์ที่สนับสนุนประชาธิปไตยแบบที่เรายึดถืออยู่ เราก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง
(9)
กล่าวโดยสรุปก็คือ นักคิดระดับปรมาจารย์ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไม่มีแม้สักคนเดียวที่สนับสนุนอุดมคติประชาธิปไตยที่เรายึดถือ
การเชิดชูประชาธิปไตยทั้งในวงวิชาการนั้นเกิดขึ้นหลังสมัยใหม่ และการที่คนส่วนใหญ่ในตะวันตกเชิดชูระบอบประชาธิปไตยนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 20
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่การถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยยังคงดำเนินต่อไป
รวมถึงการถกเถียงในขั้นพื้นฐานซึ่งยังไม่มีข้อยุติว่า ประชาธิปไตยคืออะไร? และพึงปรารถนาหรือไม่? ด้วยเหตุใด?