จากกรณีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านชุมชนวัดเพลินเพชร ที่มีบ้านเรือนและกิจการในพื้นที่ติดต่อกับวัดแนวชายคลอง โดยวัดเพลินเพชร นำสิ่งปฎิกูลมาถมทิ้งลงใน ” คลองยายปุย ” ที่มีมาช้านานกว่าร้อยปี ก่อนที่วัดเพลินเพชรจะถูกสร้างขึ้นในปี2512
ทั้งนี้ “คลองยายปุย” ได้ขุดโดย แม่แก่ปุย และก๋งเพลิน สุยพงษ์พันธ์ สองสามีภรรยาผู้เป็น ต้นตระกูล ” สุยพงษ์พันธ์ ” ภายในที่ดินของตน ด้วยความประสงค์จะให้ คลองดังกล่าว ใช้เป็นประโยชน์สาธารณะร่วมกันของชาวบ้านในชุมชน และลูกหลานได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางเรือ ขนข้าวไปขายนอกพื้นที่ ใช้เป็นแหล่งน้ำทางการเกษตร เป็นเส้นทางค้าขายทางเรือ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคในชีวิตประจำวัน เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด ต่อมาที่ดินผืนนี้รวมถึงคลองแห่งนี้ได้ตกเป็นมรดกของบุตรชายทั้งสองคน คือ นายเพชรและนายบุตร สุยพงษ์พันธ์
โดยทั้งสองพี่น้องมีความประสงค์ตกลงใจร่วมกันว่าจะได้ถวายที่ดินแปลงนี้แด่ หลวงพ่อพิณ ลิปตสีโล เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเพลินเพชร ปัจจุบันมรณะภาพไปแล้ว ให้มาร่วมกันก่อสร้างวัดให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยที่ดินที่เป็นผืนนาแปลงนี้ที่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ด้วยแรงกำลังของนายบุตร นายเพชร และชาวบ้านดั้งเดิม รวมกับแรงกำลังศรัทธาของเจ้าอาวาสรูปแรก คือหลวงพ่อพิณ จนวัดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ทำให้ชาวบ้านในละแวกนี้ไม่ต้องลำบากเดินทางไกลไปทำบุญกันถึง วัดนครชื่นชุ่ม ซึ่งไกลออกไปอีกหมู่บ้าน ชื่อของวัดเพลินเพชร ถูกตั้งขึ้นจาก ชื่อของพ่อ คือ เพลิน และลูกชาย คือ เพชร อันเป็นพ่อและพี่ชาย ของนายบุตร สุยพงษ์พันธ์ ผู้ร่วมก่อสร้างวัดมาแต่ไม่ประสงค์ที่จะมีชื่อมีนามในการนี้จึงมี ” วัดเพลินเพชร ” กำเนิดเกิดขึ้น ในชุมชุนหมู่บ้านแห่งนี้ ภายหลังการเกิดขึ้นของ ” คลองยายปุย ”
สำหรับเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2563 ได้มีรถบรรทุกพร้อมแม็คโครภายใต้การนำของไวยาวัจกร บรรทุกขนสิ่งปฏิกูล อันประกอบด้วย ถุงพลาสติค ขวดแก้ว ขวดพลาสติก เศษซากพืชเน่าเปื่อย และทั้งที่ยังไม่เน่าเปื่อย ถมลงไปในลำคลองทางทิศเหนือของวัดอันเป็นเขตติดต่อกับบ้านเรือนประชาชน และกิจการของประชาชนโดยไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า และมีแผนการดำเนินการแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งใด
ต่อมามีการพบปะพูดคุยเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ถูกกำหนดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุม วัดบางช้างเหนือ โดยมีท่านเจ้าอาวาสวัดบางช้างเหนือ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอสามพรานเป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมเจรจาทั้งสองฝ่าย รวมทั้งตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา จังหวัดนครปฐม ทำหน้าที่ผู้ดำเนินการประชุม ร่วมด้วยผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมจากทั้งสองฝ่ายรวม 26 ท่าน
“การประชุมมีข้อตกลงร่วมกัน 6 ข้อ ดังปรากฏตามเอกสาร ที่เรียกว่า ” บันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างวัดเพลินเพชรกับชุมชนวัดเพลินเพชร ” ลงวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม 2563 ณ วัดบางช้างเหนือ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม อันมีข้อความสรุปเป็นแนวทางให้นำไปปฏิบัติร่วมกันของสองฝ่าย เป็นที่ชัดเจน เป็นที่เข้าใจตรงกัน จึงลงนามร่วมกัน ด้วยความรับรู้และปราศจากข้อโต้แย้ง ด้วยความสมัครใจต่อหน้าองค์ประธานสำคัญและพยานอันมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง เรื่องร้องเรียนจึงเป็นอันยุติลงด้วยดี รอเพียงการนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม
ด้วยความเดือดร้อนที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ลำคลองยังถูกกลบฝังด้วยความยาวกว่า 20 เมตร ทางระบายน้ำจึงอุดตัน น้ำไม่สามารถผ่านได้ตามที่ควรเป็น จึงเกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ดันออกตามท่อน้ำทิ้งในบ้านเรือนใกล้เคียงกว่าสองร้อยครัวเรือน ประกอบกับการเปิดแนวทางน้ำที่วัดทำให้หลังเจรจาก็ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติของการไหลเวียนของน้ำ
ล่าสุดวันนี้(21ก.ค.63) มีรายงานความคืบหน้าจากกรณีวัดเพลินเพชร นำสิ่งปฏิกูลถมคลอง จนเกิดการอุดตันของลำคลอง และเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างบ้านเรือนประชาชนตลอดแนวชายคลองที่มีเขตติดต่อกับวัดดังที่ปรากฏในข่าวไปแล้วนั้น
โดยมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว คือ ท่านเจ้าอาวาสวัดเพลินเพชร ได้เรียกประชุม มีคณะสงฆ์ของวัด ไวยาวัจกร พร้อมด้วยผู้ที่มีที่ดินติดกับแนวชายคลองฝั่งตรงข้ามกับวัด มาร่วมพูดคุยหาทาง ผ่อนปรน แก้ไขปัญหาร่วมกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม 2563 ณ. ศาลาการเปรียญของวัด
อย่างไรก็ตามในที่สุดท่านเจ้าอาวาสวัดเพลินเพชรได้ใช้อำนาจ พรบ.สงฆ์ ม.38 สั่งให้เปิดทางน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานานกว่า 5 เดือน โดยนำรถแม็คโครมาตักและเปิดทางน้ำ เมื่อวันจันทร์ ที่ 20 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
ด้านชาวบ้านผู้ร้องได้ขอขอบคุณทางเจ้าอาวาสวัดเพลินเพชร และตระกูลพงษ์นิยธรรม ผู้ร่วมก่อสร้างวัดเพลินเพชรโดยจะร่วมกันดูแลและพัฒนาวัดเพลินเพชร เพื่อชาวตำบลกระทุ่มล้มสืบต่อไป