แนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 ในระดับจังหวัด/อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน
ดร.วีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล 26 มีนาคม 2563
ในภาวะปัจจุบัน (26มีค63) ที่กำลังมีผู้ติดเชื้อกระจายออกไปในทุกพื้นที่ของประเทศ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (ระดับจังหวัด/อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน) จึงมีบทบาทที่สำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 จึงจำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่ถูกต้องตามหลักวิชา มีความสมเหตุสมผลพอประมาณตามระดับความรุนแรงของการระบาดในพื้นที่นั้น ๆ มีความน่าศรัทธาเชื่อถือ จึงจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างเป็นเอกภาพกัน
ลักษณะสำคัญทางระบาดวิทยา
ผู้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย (ในที่นี้จะใช้สัญลักษณ์ X) สามารถแพร่เชื้อต่อได้ตั้งแต่วันที่ 3 หลังจากได้รับเชื้อ (รอเชื้อฟักตัวขยายจำนวนในร่างกาย 1~2 วัน) ขณะที่อาการป่วย เช่น มีไข้ เจ็บ คอ จะเริ่มปรากฏเล็กน้อยตั้งแต่วันที่ 5 และ เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ จนนานที่สุดคือวันที่ 14 ขณะที่การตรวจหาเชื้อในตัวผู้ป่วยในระยะ 1~5 วันแรก จะไม่พบเชื้อ
แสดงว่า ผู้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายสามารถแพร่เชื้อให้ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดได้เป็นเวลา 11 วัน (ตั้งแต่วันที่ 3~13) โดยที่ตนเองไม่รู้ตัว เนื่องจากอาการป่วยยังไม่แสดงตัวออกมาอย่างเด่นชัด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้โควิด 19 มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็วดังที่ปรากฎ
คนกลุ่ม X นี้ เปรียบเสมือนส่วนที่อยู่ใต้น้ำของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งมองไม่เห็น มีปริมาณมาก และอันตราย ส่วนผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการป่วยแล้วมาตรวจพบเชื้อซึ่งเราเรียกว่าเป็นเคสที่ได้รับการยืนยันและรายงานโดยทางราชการ (ในที่นี้จะใช้สัญลักษณ์ Y) เปรียบเสมือนส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ เห็นได้ชัด และไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพราะถูกนำมากักบริเวณเพื่อรับการรักษา
รูปข้างล่าง แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว (Y) ในประเทศไทย พึงตระหนักว่า ยังมีผู้ติดเชื้อที่สามารถแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว (X) อยู่เป็นจำนวน 5~20 เท่าของตัวเลขที่รายงานนี้ และคนกลุ่มผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการและยังไม่ถูกตรวจพบนำมากักบริเวณนี้ต่างหาก ที่เป็นผู้แพร่เชื้อและจะทำให้เกิด Y อีกใน 5~14 วันข้างหน้า
สมดุลของประชากรที่ติดเชื้อในพื้นที่หนึ่งๆ
สมมติว่าในตำบลหนึ่งมีประชากรอยู่ N คนมีจำนวนผู้ติดเชื้อและสามารถแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว X คน ในแต่ละวันมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น dX/dt คนต่อวัน ซึ่งเกิดจากการได้รับเชื้อมาจาก X โดยตรงเป็นจำนวน A*X คนต่อวัน ลบด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ยืนยันและแยกตัวออกมารักษา จำนวน a*Y คนต่อวัน บวก ด้วยผลต่างของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าและออกจากพื้นที่
จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาจากผลคูณของ A*X เป็นสำคัญ ในภาวะที่มีจำนวนผู้สามารถแพร่เชื้อได้ไม่มากนัก จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันก็มีน้อย การควบคุมการระบาดก็จะทำได้ง่าย แต่ถ้ามีจำนวน X มาก ก็จะยิ่งเร่งอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
ดังนั้น เข็มมุ่งในการควบคุมการระบาดในพื้นที่จึงต้องมุ่งไปที่การลดค่าสัมประสิทธิ์การติดเชื้อ A โดยมีเป้าหมายให้เหลือน้อยกว่า 10% หรือให้น้อยกว่า a หรือให้เข้าใกล้ 0%
ตารางข้างบน แสดงให้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนับจากวันที่มีผู้ติดเชื้อ 100 คน ที่ค่าต่าง ๆ ของ A เช่น หากค่าสัมประสิทธิ์การติดเชื้อ = 0.3 (30%ต่อวัน) เมื่อเวลาผ่านไป 10 วัน จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,379 คน
แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนในพื้นที่ควบคุมการระบาด (N)
เนื่องจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายของเราได้โดยการสูดดมละอองฝอย (droplet) และละอองลอย (aerosol) ของผู้ติดเชื้อ เข้าสู่จมูก ตา ปาก โดยตรง หรือ นำมือที่เปื้อนสารคัดหลังนั้นไปสัมผัสกับตา รูจมูก ปาก ซึ่ง ละอองฝอยเกิดจากการพูด-ไอ-จาม และมีขนาดใหญ่กว่า จึงกระจายได้ในรัศมีไม่เกิน 1 เมตรจากผู้มีเชื้อ ขณะที่ละอองลอยเกิดจากการไอ-จามอย่างแรง ซึ่งเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนักและแม้จะล่องลอยไปได้ไกลในอากาศ แต่ก็จะมีความเจือจางซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำให้ติดเชื้อได้เว้นแต่อยู่ในที่อับอากาศเป็นเวลานาน ๆ
ดังนั้น หากเราไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ก็จะไม่ได้รับการแพร่เชื้ออย่างแน่นอน แต่อุปสรรคสำคัญก็คือ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็ไม่แสดงอาการและไม่รู้ตัว (ในระยะที่เป็น X ยังไม่เป็น Y ดังกล่าวข้างต้น) และ เราก็ไม่รู้ว่ามี X อยู่ใกล้ตัวหรือไม่ ความหนาแน่นของผู้ติดเชื้อ (X/N) ในบริเวณรอบ ๆ ที่เราพักอาศัยหรือในที่ทำงานมีมากน้อยแค่ไหน
ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนแต่ละคนที่อยู่ในพื้นที่มีการแพร่ระบาด (จะหนาแน่นหรือเบาบางก็ตาม) คือ อยู่ห่างจากผู้อื่นในระยะ 1 เมตรเสมอ กับ ระมัดระวังไม่นำมือไปจับสิ่งของใช้ร่วมกันนำมาเข้าตา-จมูก-ปากของตนเอง
แนวทางการบริหารสำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน )
เป้าหมายของการควบคุมการระบาด มิใช่อยู่ที่การลด Y ซึ่งเป็นตัวเลขที่ล้าหลังความจริง หากแต่เป็นการมุ่งลดค่าสัมประสิทธิ์ A และ จำนวนผู้ที่แพร่เชื้อได้โดยที่ไม่รู้ตัว X โดยมีแนวทางดังนี้
1) ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อและวิธีปฏิบัติตนในการป้องกันการติดเชื้อ ดังกล่าวมาในย่อหน้าข้างต้น
2) พยายามค้นให้พบผู้ติดเชื้อและแสดงอาการป่วย (Y) แล้ว นำมากักตัว 14 วัน ให้ได้ครบถ้วนมากที่สุด ซึ่งวิธีการจัดการที่ดีด้วยความจริงใจและการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ดังจะกล่าวข้างล่างนี้จะช่วยให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น
3) สอบสวนคนกลุ่ม Y ว่าได้ใกล้ชิดคลุกคลีกับใครบ้างใน 14 วันที่ผ่านมา แล้วระบุผู้ที่จะเป็น X (มีโอกาสสัมผัสกับสารคัดหลั่งของ Y) นำมากักตัวดูอาการ 14 วัน
4) ให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน (Y) ให้มีอัตราการหายป่วยมากที่สุด และ ให้การดูแลผู้ต้องสงสัยจะติดเชื้อ (X) ให้ลดความลำบากในชีวิตประจำวันให้เหลือน้อยที่สุด เช่น มีอาสาสมัครคอยช่วยส่งอาหาร-สิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเนื่องจากการขาดรายได้จากการหยุดงาน (กรณีไม่มีประกันสังคม) เป็นต้น
5) ออกมาตรการจํากัดการรวมกลุ่มกันของประชาชนในพื้นที่ ให้มีความเข้มข้นขึ้นตามระดับความหนาแน่นของผู้แพร่เชื้อได้ (X/N) ขั้นสูงสุดคือห้ามมิให้ประชาชนทุกคนออกนอกบ้าน หากมีประชากรต้องสงสัยจะติดเชื้อมากถึง 5% ของประชากรในเขตที่รับผิดชอบ ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้ไปถึงจุดนั้น
6) ให้ข้อมูลสถานการณ์การระบาดในพื้นที่แก่ประชาชนอย่างเปิดเผยและจริงใจ รวมทั้งประกาศให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติในข้อ 1) ถึง 5) ข้างต้นด้วย เพื่อจะได้รับความไว้วางใจและได้รับร่วมมือจากทุกคนอย่างเป็นเอกภาพ
แนวทางการบริหารของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนให้ อปท.ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่างในการต่อสู้กับภัยพิบัติโควิด19 มาอย่างต่อเนื่องแล้ว ในที่นี้จะไม่กล่าวซ้ำ แต่จะขอให้ทวนสอบว่าได้ดำเนินมาตรการต่อไปนี้แล้วหรือยัง เพื่อสนับสนุนให้ อปท.ทั่วประเทศสามารถทำหน้าที่ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๑) กำหนดมาตรฐานระดับความรุนแรงของการระบาดตามความหนาแน่นของผู้ติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ (X/N) และ ความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการระบาดที่สมเหตุสมผลกับระดับความรุนแรงและความพร้อมรับมือของระบบสาธารณะสุขของพื้นที่ เพื่อให้ อปท. ทั่วประเทศนำไปปฏิบัติได้อย่างมีมาตรฐานเดียวกัน (มาตรฐานคือข้อตกลงร่วมที่เห็นชอบร่วมกันโดยผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปปฏิบัติอย่างเป็นเอกภาพ ใช้ประโยชน์ในทางการบริหารคือเป็นเครื่องมือสำหรับแปรความรู้ทางวิชาการให้เป็นวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นรูปธรรมและช่วยให้สามารถกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเอาไว้ล่วงหน้าโดยมีการกลั่นกรองอย่างรอบคอบจากผู้มีความรู้หลากหลายสาขา)
2) จัดทำแอพพลิเคชั่นมือถือที่แสดงข้อมูลว่า Y และ X (ระบุเพียงเป็น Case1,2,3,…,934) ณ เวลาปัจจุบันอยู่ที่ไหนบ้าง (จำเป็นต้องออกกฎหมายให้บุคคลเหล่านั้นให้ความร่วมมือแสดงตำแหน่ง GPS ของตนตลอดเวลาหรือไม่ผู้เขียนไม่ทราบ) โดยกระทรวงสาธารณะสุขมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกพื้นที่มานำเข้าระบบ เพื่อให้ผู้บริหารของ อปท.ทั่วประเทศใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งให้ประชาชนสามารถรู้ ได้ว่าในบริเวณใกล้เคียงมีผู้สงสัยจะติดเชื้ออยู่ห่างไกลแค่ไหน หนาแน่นมากน้อยเพียงไร
3) การจํากัดคนมิให้เดินทางข้ามจังหวัด มิได้ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวม แต่ช่วยให้ข้อมูลของผู้ติดเชื้อในแต่ละพื้นที่มีความนิ่ง จัดการง่ายขึ้น และ กระตุ้นความรับผิดชอบของผู้บริหาร อปท.ในแต่ละพื้นที่ได้ดี
4) รัฐบาลสามารถขายพันธบัตรให้ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง (ย้ำว่าโดยตรงไม่ผ่านธพ.) เพื่อให้พิมพ์ธนบัตรรุ่นสู้ภัยโควิด19 ออกมาได้มากถึง 2 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 10% ของเงินบาทหมุนเวียนซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 21 ล้านล้านบาท) เพื่อนำมาใช้แก้ไขวิกฤติที่รุนแรงรวดเร็วและหนักหน่วงเช่นในขณะนี้ได้ หลังจากวิกฤติผ่านพ้นไปแล้วก็ทยอยเรียกเก็บคืนเพื่อรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป (2.5% ต่อ ปี)
5) เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการ SME ล้มละลาย รัฐบาลต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉินประกาศให้ระงับหรือพักการชำระหนี้ (ทั้งต้นและดอก) เป็นการชั่วคราวโดยที่ลูกหนี้ไม่จำเป็นต้องร้องขอความยินยอมต่อเจ้าหนี้ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้รวมถึงคดีความแพ่งที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลด้วย [ข้อ 4) และ 5) นี้ขอแถมครับ ไม่เกี่ยวกับเรื่อง อปท., พอดีกำลังจะเขียนมานำเสนอในวาระต่อไปครับ]